ผ้าไทยโบราณ สง่างามในบาร์เซโลนา




ก้าวตามแฟชั่นสมัยใหม่มาก็มาก ฉบับนี้ขอนำเสนอความภูมิใจในมุมของผ้าไทยโบราณบ้างค่ะ

เพราะขณะบ้านเรากำลังเดือดดาลเรื่องความเป็นไทยในหัวใจของใครบางคนที่จางหายจนแทบไม่เหลือเยื่อใย พ่นพิษเสียจนชาติสั่นคลอน

คนไทยกลุ่มหนึ่งกลับสร้างชื่อให้ประเทศ

เป็นการสร้างชื่อด้วยการจัดแสดงผืนผ้าไทยที่ในอดีตเคยเป็นเครื่องนุ่งห่มของชาวไทยในท้องถิ่นต่าง ๆ ซึ่งมีอายุอานามกว่า 200 ปี ในงานนิทรรศการผ้าไทยโบราณ "Through Woven Heritage : The Textiles of Thailand" ณ สำนักงานใหญ่ของสถาบันคาซ่า เอเชีย (Casa Asia) นครบาร์เซโลนา ราชอาณาจักรสเปน

งานนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะ H.E.Juan Mannual Lopez Nadal อดีตเอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทย ที่ให้ความสนใจและหลงใหลในผ้าไทยโบราณของกลุ่มนักสะสมเมื่อครั้งจัดแสดงผ้าที่สยามสมาคม จึงได้ออกปากชักชวนไปจัดนิทรรศการที่สเปน ซึ่งการไปครั้งนี้ไปในนามของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสถาบันคาซ่า เอเชีย โดยมีกระทรวงการต่างประเทศและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้การสนับสนุน

ผลงานผ้าจำนวน 102 ชิ้นที่นำไปจัดแสดงระหว่างวันที่ 18 ตุลาคม-18 ธันวาคมนี้ นอกจากจะมีผ้าโบราณสมบัติส่วนพระองค์ที่ทรงสะสมของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ที่พระราชทานพระวโรกาสให้นำไปจัดนิทรรศการแล้ว

ยังมีผ้าโบราณในคอลเล็กชั่นส่วนตัวที่ได้สะสมมากว่า 10 ปี ของ ทนง คุปตัษเฐียร และ จักรพงษ์ วรรณชนะ สองดีไซเนอร์คู่หู จากห้องเสื้อริโค่-อาโมน่า (Rico-A Mona) และผ้าไทยโบราณของพิไลพรรณ สมบัติศิริด้วย

ผ้าทุกชิ้นที่นำไปจัดแสดงล้วนเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมอันมีค่าของไทยที่หาดูได้ยากยิ่ง แต่ละผืนผ้าบ่งบอกถึงลวดลาย สีสันและการทักทอที่งดงาม แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของช่างทอ พื้นบ้านในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย บางชิ้นนั้นมีอายุมากกว่า 200 ปี อาทิ ผ้าไหมยกทอง ผ้าที่ทรงสะสมของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

หรือแม้แต่ "ผ้าซิ่นตีนจกไทยยวน จ.ราชบุรี" อายุกว่า 150 ปี ที่แสดงให้เห็นถึงวิธีการจกที่ละเอียดมากของช่างทอฝีมือระดับพระกาฬชาวไทยยวน ราชบุรี และ "ผ้าลายอย่าง" อายุ 200 ปีในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งเขียนเป็นลายไทยอันงดงามวิจิตร ของทนง-จักรพงษ์ ก็ถือเป็นไฮไลต์

DLife ได้มีโอกาสพูดคุยกับสองดีไซเนอร์ ทนง-จักรพงษ์ หลังจากพวกเขากลับมาจากการเปิดงานนิทรรศการ ทั้งคู่บอกว่า "งานนี้ทำเพื่อชาติ เราสองคนตั้งใจเชิญผ้าเก่าแก่ไปจัดแสดงให้โลกได้เห็นถึงความงดงามของวัฒนธรรมไทย"

เป็นคุณค่าที่คนไทยอย่างเราเห็นแล้วต้องขอบคุณนักสะสมเหล่านี้ที่มองเห็น

จักรพงษ์บอกว่า "ไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าที่จะได้ผ้าแต่ละผืน

มาสะสมไว้..."

จุดเริ่มของความคิดที่ทำให้สองดีไซเนอร์หันมาสะสมก็เพราะ ชอบในความสวยงาม ชอบในเทคนิคการทอและชอบสีสันที่คลาสสิกของผ้า

อีกทั้งพวกเขาเสียดายที่เห็นลูกค้าบางคน นำผ้าเก่าที่สวยมาก ๆ มาให้ตัดเป็นชุด ตัดเป็นกระโปรงบ้าง

ที่สำคัญ ยิ่งเมื่อได้ออกไปตามหาผ้าเก่ายังแหล่งทอผ้าต่าง ๆ เพื่อนำมาเก็บสะสม ไม่ว่าจะเป็นที่ ราชบุรี สุพรรณบุรี หรือสุโขทัย ก็พบว่ามีชาวต่างชาติเข้าไปเลือกซื้อและอยากครอบครองผ้าไทยกันมาก

"พอเห็นเช่นนั้น เราสองคนจึงเกิดความคิดที่จะสะสมผ้ามากขึ้น เพราะเราไม่ต้องการให้สมบัติที่สวยงามและมีคุณค่าของไทยตกไปเป็นของชาวต่างชาติ และไม่อยากเห็นคนไทยต้องตีตั๋วเสียค่าชมผ้าไทยในพิพิธภัณฑ์ต่างชาติบางแห่ง ซึ่งขนผ้าไทยเอาไปจัดแสดงโชว์ไว้ !"

นั่นทำให้สองคู่หูดีไซเนอร์ยอมทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ และกำลังทรัพย์ เพื่อให้ได้มาซึ่งผ้าโบราณอันมีค่ามาดูแลรักษา

"บางผืนแม้ต้องจ่ายมาด้วยราคาที่สูงลิบลิ่วก็ต้องยอม ส่วนบางผืนชาวบ้านเห็นว่าเราไปเยี่ยม ไปหาบ่อย ๆ เราก็เหมือนลูกเหมือนหลาน และเขาก็เบื่อที่ถูกคนอื่น ๆ มาตามตื้อเพื่อขอซื้อ จึงมอบให้เรามาเก็บเอาไว้เลย" ทนงเล่า

การเก็บผ้าโบราณนี้ต้องมีเทคนิคที่ไม่ใช้สักแต่เก็บ จักรพงษ์บอกว่า เขาจะมีห้องเก็บผ้าเล็ก ๆ แล้วเวลาเก็บก็ต้องห่อ หรือม้วนผ้าเก็บด้วยกระดาษสาธรรมชาติ ใส่เม็ดพริกดำไว้ภายในตู้ผ้า เพื่อป้องกันแมลง ซึ่งเป็นวิธีพื้น ๆ แต่ได้ผลดีที่สุด

สำหรับความรู้สึกของคอลเล็กเตอร์ทั้งสอง ที่มีโอกาสได้นำผ้าไทยโบราณสุดหวงแหนไปอวดสายตาชาวโลกนั้น พวกเขากล่าวอย่างตื้นตันว่า

"เรารู้สึกภูมิใจแทนชาวไทยที่ได้นำของที่มีคุณค่ามากที่สุดออกไปให้ชาวโลกได้ชื่นชม ในครั้งนี้สถานที่จัด คือเมืองบาร์เซโลนา ซึ่งเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกต้องเดินทางมาชม ส่วนสถานที่จัดงานคือ The Palan del Boro de Quadras ซึ่งเคยเป็นวังที่งดงามและสวยที่สุดของสเปนมาก่อน การที่ได้นำผ้าโบราณที่แสดงถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไปจัดแสดงให้ชาวสเปน และนักท่องเที่ยวชาติอื่น ๆ ได้เห็นความงามของผ้าไทย ก็เป็นการบ่งบอก ถึงวัฒนธรรมการทอผ้าอันเก่าแก่และเป็นศิลปะที่มีคุณค่าที่ไม่อาจหาชมที่ไหนได้ งานนี้จึงถือเป็นสิ่งที่มีค่า สูงสุดสำหรับเรา 2 คน" จักรพงษ์กล่าว

ไม่น่าแปลกใจหากภายในงานนิทรรศการ ผู้คนจะพากันชื่นชมและตื่นเต้นในลวดลายผ้าโบราณของไทย และในจำนวนแขกเหรื่อนั้นมีสาวสวยคนดัง "เทลม่า ออริต" (Telma Oritz) น้องสาวของเจ้าหญิงเลติเซีย (Latizia) พระชายาเจ้าชายฟิลิปป์มกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรสเปน ที่ให้เกียรติมาร่วมงานพร้อมออกปากชื่นชมผ้าโบราณของสองดีไซเนอร์ด้วย

ถือเป็นความภาคภูมิใจไม่เฉพาะแค่ ทนง-จักรพงษ์ ที่เฝ้าอุตส่าห์เก็บสะสมผ้าโบราณเอาไว้

แต่ยังเป็นความภาคภูมิใจของเรา ๆ ท่าน ๆ ที่อย่างน้อยชาวโลกได้เห็นอีกด้านหนึ่งแห่งคุณค่าความเป็นไทย มิได้เห็นเพียงแต่ด้านแห่งความขัดแย้งทางการเมือง !

(สำหรับนิทรรศการผ้าไทยโบราณ "Through Woven Heritage : The Textiles of Thailand" จะจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 18 ธันวาคม 2552 ใครแวะไปบาร์เซโลนาในช่วงนั้นอย่าลืมแวะไปชื่นชม) (หน้าพิเศษ D-Life)

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
โดย ต.ตือ
วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4160

Views: 211

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service