สังคม ทองมี : ประเทศนี้ยังมีครู





ในอดีตที่ผ่านมา ครูสังคม ทองมี ครูดี... ครูไทยระดับโลก ได้เคยรับเลือกให้เข้าไปเป็นตัวแทนครูใน ก.ค.ศ. มาแล้ว และได้ทำประโยชน์ให้กับเพื่อนพ้องน้องพี่ในวงการครูอย่างมากมาย เช่น

ร่วมคิดร่วมสร้างหลักเกณฑ์ และวิธีบริหารงานบุคคลที่เป็นประโยชน์ให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามากว่า 30 ฉบับ แก้ไขระเบียบหลักเกณฑ์ธำรงความก้าวหน้าของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความก้าวหน้าในสายงานตนเองถึงระดับ 10 ต่อสู้ให้ครูจำนวน 95% มีวิทยฐานะชำนาญการ ได้รับเงินวิทยฐานะจำนวน 3,500 บาท พิทักษ์สิทธิและแก้ปัญหาการปรับปรุง การกำหนดตำแหน่งอาจารย์ 3 เชิงประจักษ์ทั่วประเทศ ให้ผ่านการพัฒนาและได้รับเงินวิทยฐานะชำนาญการพิเศษจำนวน 5,600 บาททุกคน อีกทั้งยังส่งเสริมให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับเงินเดือนตามบัญชีเงินเดือนของข้าราชการเงินเดือนใหม่และเพิ่มสูงขึ้นถึง 8%

ตลอดระยะเวลาที่ ครูสังคม ได้ทำหน้าที่ต่อสู้เพื่อสิทธิประโยชน์และพัฒนาการบุคลากรครูใน ก.ค.ศ. แม้จะได้ทำงานบางอย่างให้สัมฤทธิผลอยู่บ้างแล้ว แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่อยากจะรวมพลังสร้างสรรค์วิชาชีพครูสู่คุณภาพด้วยความมีเกียรติและมีศักดิ์ศรี ต้องการที่จะประสานและพิทักษ์สิทธิประโยชน์เพื่อให้พี่น้องข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีความก้าวหน้าทางวิชาชีพอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง ครูสังคม ทองมี จึงตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อเป็นผู้แทนของครูใน ก.ค.ศ. อีกวาระหนึ่ง เพื่อจะได้มีโอกาสได้เข้าไปทำงานต่อสู้และผลักดันให้บรรดาครูทั่วประเทศได้รับประโยชน์ ได้รับการพัฒนาทั้งในด้านการทำงานและคุณภาพชีวิตอื่นๆ เราจึงน่าจะมาทำความรู้จักกับชีวิตที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นเสียสละทุ่มเทเพื่อการศึกษาและอาชีพของครู เพื่อประโยชน์โดยส่วนรวมของ ครูสังคม ทองมี ครูดีของสังคมไทยคนนี้ดู

ครูสังคม ทองมี เป็นคนอีสาน เกิดที่ จ.อุบลราชธานี เมื่อปี 2495 ในครอบครัวพนักงานขับรถของแขวงการทางคำเขื่อนแก้ว บุญจันทร์ และ พัฒน์ ทองมี แต่เมื่อสังคมมีอายุได้ 3 ขวบเศษ บิดาก็ได้รับคำสั่งให้ย้ายไปประจำการที่แขวงการทางจังหวัดเลย แม้ฐานะทางครอบครัวจะไม่เอื้อให้มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างสบายนัก แต่ด้วยเป็นคนที่เรียนหนังสือเก่ง ทำให้สังคมได้ทุนการศึกษาจนเรียนสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 แผนกวิทยาศาสตร์ โรงเรียนสโมสรวิทยาลัย จ.เลย แล้วสามารถสอบเข้าศึกษาต่อปริญญาตรีที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะสอบได้ทุนแลกเปลี่ยน เอเอฟเอส ไปศึกษาที่ Laguna Blanca School Santa Barbara, California สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 1 ปี แล้วกลับมาเรียนต่อปริญญาตรีและปริญญาโททางด้านการศึกษา ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลังจากจบการศึกษา สังคม ทองมี ก็ตัดสินใจกลับบ้านไปสมัครสอบบรรจุเป็นครูที่โรงเรียนศรีสังคมวิทยา อ.วังสะพุง จ.เลย ภูมิลำเนาของตัวเอง เริ่มต้นชีวิตครูบ้านนอกด้วยอัตราเงินเดือนเพียง 1,750 บาท เมื่อปี 2521 ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ระบบการเรียนการสอนวิชาศิลปะ ด้วยการจัดระเบียบในห้องใหม่ เพื่อเน้นความสนุกสนานผ่อนคลาย ปล่อยเด็กให้มีอิสระในการเคลื่อนไหวขณะปฏิบัติงาน โดยไม่ต้องนั่งจมกับโต๊ะเรียนอย่างเดียวเหมือนวิชาอื่น ซึ่งมักเน้นการท่องจำและการเขียนตามคำบอกเป็นหลัก มีการสอนพิเศษในช่วงเย็นและวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ แม้เงินเดือนที่ได้จะหมดไปกับค่าอุปกรณ์ทางการสอนศิลปะสำหรับเด็กยากจน ที่บางคนอยู่บ้านนอกไกลๆ เวลามาเรียนพิเศษกลับไม่ได้ เพราะไม่มีรถ ครูสังคมก็จะฝากให้พักตามบ้านเพื่อนครูที่สนิทกัน หรือบางครั้งก็นอนค้างแรมในโรงเรียนเลย เพื่อทำกิจกรรมวาดภาพร่วมกัน

ครูสังคมลงทุนสอนภาษาอังกฤษและวิชาสามัญอื่นๆ เพื่อให้เด็กมีฐานความรู้แน่นหนายิ่งขึ้น ทำให้นักเรียนกลุ่มที่ชอบวิชาศิลปะบางคนสามารถทำคะแนนได้ยอดเยี่ยมได้เกรด 4 ทุกวิชา และสอบได้ที่ 1 หรือลำดับต้นๆ ของโรงเรียนเลยทีเดียว

เมื่อคลุกคลีกับเด็กๆ มากขึ้น ครูสังคมก็มีความเชื่อว่า เด็กทุกคนล้วนมีพลังแห่งจินตนาการ และมีความคิดสร้างสรรค์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ปัญหาคือต้องพยายามดึงพลังส่วนนั้นมาสร้างสรรค์งานศิลปะให้ได้ ครูสังคมจึงทุ่มเททั้งด้านทักษะ รวมไปถึงการใช้หลักจิตวิทยา โดยทำตัวเป็นทั้งครู ทั้งพี่ และเป็นพ่อด้วยในบางโอกาส พยายามเอาใจใส่ดูแลเด็กทั้งเรื่องการเรียนและเรื่องส่วนตัว ให้ความอบอุ่นเท่าที่จะทำได้ ส่วนใดขาดก็พยายามเติมให้เต็ม ถึงขนาดที่เด็กคนไหนขัดสนทางด้านเงินทองก็จะหาทุนเรียนให้ด้วยการพาไปสอบชิงทุนตามหน่วยงานต่างๆ เรียกว่าสนับสนุนส่งเสริมกันถึงที่สุด

หลังจากทำกิจกรรมด้วยความสนุกสนานอยู่ระยะหนึ่ง ในปี 2523 ครูสังคมได้หอบผลงานศิลปะของเด็กๆ โรงเรียนศรีสงครามวิทยา เข้าประกวดในงานแสดงศิลปะเด็กแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 ปรากฏว่าลูกศิษย์ของครูสังคมกวาดทั้งรางวัลยอดเยี่ยม รางวัลดีเด่น และรางวัลสร้างสรรค์ รวมแล้วหลายสิบรางวัล ท่ามกลางความตื่นตะลึงของบรรดาครูผู้สอนศิลปะทั่วประเทศ และคำถามที่ถูกถามมากที่สุดก็คือ โรงเรียนเล็กๆ ในบ้านนอกนี้อยู่ตรงซีกไหนของประเทศไทย

จากการประกวดผลงานของเด็กผู้รังสรรค์ศิลปะภายใต้การเรียนการสอนของครูสังคมทองมี ในระดับประเทศก็พัฒนาไปสู่การส่งผลงานเข้าประกวดในระดับนานาชาติ แทบไม่น่าเชื่อว่าในระยะเวลาไม่กี่ปี ผลงานศิลปะของนักเรียนที่ครูสังคมได้ฝึกสอนสามารถคว้ารางวัลในระดับนานาชาติและระดับโลกแล้วกว่า 1 หมื่นรางวัล ทำให้ครูสังคมได้การยอมรับอย่างกว้างขวางในฐานะครูผู้สอนศิลปะระดับคุณภาพคนหนึ่งของไทย

แม้ด้วยเกียรติประวัติชีวิตอันยาวนาน จะสามารถผลักดันตนเองให้ขึ้นสู่ตำแหน่งที่ก้าวหน้าทางราชการในระดับสูงได้โดยไม่ยาก แต่ครูสังคมก็มีความพอใจกับตำแหน่งครูเล็กๆ ที่ทำหน้าที่ฟูมฟักเด็กๆ ให้มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตด้วยวิชาศิลปะมากกว่า การทำงานของครูสังคมไม่เพียงก่อให้เกิดผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ให้แก่โรงเรียนและวงการศึกษาไทยเท่านั้น หากได้กลายเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้แก่ครูศิลปะทั่วประเทศ

จากการทุ่มเททำงานอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ทำให้ครูสังคมได้รับการยกย่องจากวงการต่างๆ ได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ศึกษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ศิลปศึกษา) มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย รางวัลครุศาสตร์ดีเด่นฉลอง 25 ปี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รางวัลศิษย์เก่าเกียรติยศฉลอง 50 ปี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รางวัลครูสอนศิลปะยอดเยี่ยมระดับประเทศ รางวัลครูศิลปะยอดเยี่ยมนานาชาติ กรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและโปแลนด์ รางวัลครูดีเด่นระดับชาติคุรุสภา รางวัลผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ ปี 2551 ของคุรุสภา รางวัลคนไทยตัวอย่างของมูลนิธิธารน้ำใจ รางวัลคนดีศรีสังคมของมูลนิธิ ศ.ประภาสน์ อวยชัย รางวัลกิตติคุณสัมพันธ์สังข์เงิน สาขาส่งเสริมและเผยแพร่กิจกรรมเยาวชน รางวัล Ashoka Fellow Award จาก Ashoka Innovator for the Public จากรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ในฐานะผู้สร้างสรรค์แนวคิดใหม่และงานต่อสาธารณชน รางวัลผู้มีผลงานดีเด่นเพื่อผู้ยากไร้ในชนบทของ ESCAP องค์การสหประชาชาติ รางวัลบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาเผยแพร่เกียรติภูมิของไทย จากคณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติ นิตยสารไทม์และนิตยสารฟาร์อีสเทิร์นอีคอโนมิกรีวิว และสถานีโทรทัศน์ ซีเอ็นเอ็น เผยแพร่ประวัติและผลงานออกไปทั่วโลก

ครูสังคม ทองมี ยังกล้าคิดที่จะสร้างศูนย์ศิลป์ในโรงเรียนมัธยมศึกษา เพื่อเสนอผลงานและเป็นขุมทรัพย์ให้นักเรียนและประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้และมีวัตถุดิบที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ สร้างความตระหนักในคุณค่าของการนำ “สุนทรียภาพมาสอดแทรกในการเรียนการสอนและวิถีชีวิตในโรงเรียน ครูสังคม ทองมี ได้ยกระดับการสอนศิลปศึกษาของครูในชนบทไทยให้เข้ามาตรฐานระดับประเทศและระดับสากล และได้เป็นสะพานที่จะเชื่อมโรงเรียนของไทยให้เข้าสู่สังคมโลกอย่างมีศักดิ์ศรี

วันนี้ ครูสังคม ประสบความสำเร็จในการสร้างศูนย์สิรินธร เพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์ศิลปะเด็กให้ชาวโลกได้เห็นและชื่นชม และก่อตั้งมูลนิธิศิลป์ศรีสงคราม 2531 เพื่อหาทุนการศึกษาจากมูลนิธิต่างๆ จากภาคเอกชนและบุคคลเพื่อช่วยเหลือนักเรียนยากจนให้ได้มีโอกาสทางการศึกษา และพร้อมที่จะเป็นตัวแทนของครูทั่วประเทศ เพื่อต่อสู้และสร้างสรรค์วิชาชีพครูให้มีเกียรติและมีศักดิ์ศรีมีความภาคภูมิในความเป็นครู จึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าเราจะรู้จัก ครูสังคม ทองมี ในฐานะครูดีศรีสังคมที่แท้จริง

ที่มา : PostToday
รายงานโดย :วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย
วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
บันเทิง - ไลฟ์สไตล์

Views: 2705

Reply to This

Replies to This Discussion

เป็นอาจารย์ที่เหนือกว่าอาจารย์ทั่วไปจริง

(ผมยังจำวันที่อ.สังคมเอากระดาษ 100ปอนด์ 1 ม้วนใหญ่ๆ มาให้เพื่อนผมตอนกลับจาก กทม.ไปขอนแก่นได้เลย)

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service