ไขความลับจากภาพวาดของเด็ก



เด็กโดนทำร้าย เด็กโดนข่มขืน จะแสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างไรเพื่อให้ผู้ใหญ่ได้เข้าใจโดยไม่ต้องเอ่ยถึงเหตุการณ์สะเทือนใจ แค่คิดก็ถอนใจแล้ว

เมื่อลอร่าได้พูดคุยกับนักจิตวิทยาคลินิกจากประเทศอิตาลีชื่อคุณมานูเอล่า แบร์น่า (Manuela Sberna) ซึ่งเป็นอาสาสมัครดูแลด้านจิตวิทยาให้กับเด็กๆ ของ “บ้านพักฉุกเฉิน” ภายใต้การดูแลของ “สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี” ก็ได้รับทราบถึงความช่วยเหลือผ่านกิจกรรมการวาดภาพเพื่อให้เด็กๆ ที่ได้รับความรุนแรงเหล่านั้นได้แสดงออกถึงความรู้สึก หรือบางครั้งคือการบอกความลับที่อยากจะลืม

เมื่อสอบถามต่อไปก็ได้ความเข้าใจกระจ่างแจ้งมากขึ้นว่า การวาดภาพเพื่อไขความลับในความคิดและจิตใจของเด็กนั้นควรเป็นการวาดภาพแบบตามใจเด็ก (Free drawing)

หมายความว่า เป็นการวาดภาพที่ไม่มีหัวข้อ ไม่มีกฎเกณฑ์ มีเพียงกระดาษเปล่า ดินสอ หรือสี เท่านั้น ปล่อยให้เด็กวาดภาพอะไรก็ได้ที่ต้องการตามใจของเขา วาดอะไรก็ได้ที่อยู่ในใจของเขา โดยในขณะที่เด็กกำลังวาดนั้นก็ปล่อยให้เขาวาดรูปไปโดยยังไม่ต้องเข้าไปรบกวนอะไร แต่ให้หมั่นสังเกตการณ์ลงเส้นสายของลายเส้นและการลงสีของเขา

หลังจากที่ลูกวาดภาพเสร็จแล้วก็มาถึงเคล็ดลับสำคัญคือ การเปิดโอกาสให้เขาเล่าถึงเรื่องราวของเขาจากภาพวาดนั้น ไม่มีการวิจารณ์วาดภาพแต่เป็นการรับฟังเรื่องราวซึ่งจะบ่งบอกให้ผู้ใหญ่ได้เข้าใจความคิดและความรู้สึก ณ ขณะนั้นของเด็กน้อย หรืออาจเป็นอดีตอันแสนหวานของเขา อาจเป็นอนาคตที่ใฝ่ฝัน

หรือในทางตรงกันข้ามอาจเป็นความข่มขืนใจความคับข้องหมองใจที่ซุกซ่อนอยู่ก็เป็นได้ค่ะ นักจิตวิทยาต้องอาศัยประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญและเวลาในการสร้างความสัมพันธ์เป็นการส่วนตัวในการสังเกตเด็กแต่ละคนเพื่อที่จะตีความภาพวาดของเด็กแต่ละคนได้ถูกต้อง

คุณมานูเอล่าอธิบายต่อไปว่า การวาดภาพคือ การสื่อสารอย่างหนึ่งที่สำคัญที่สุดของเด็กน้อย กระดาษเปล่า หมายถึงพื้นที่ของเรื่องราวในชีวิต เมื่อเด็กลงมือวาดภาพ นั่นหมายถึงเขาแสดงออกถึงความคิด ทัศนคติ ความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ประสบการณ์ชีวิต ความรู้สึก เป็นโอกาสทางการแสดงออกถึงตัวตนของเขา

บางครั้งเด็กที่ขี้อายก็จะสามารถถ่ายทอดสิ่งที่ต้องการบอกได้ด้วยการวาดภาพนี่เอง แม้แต่เด็กที่มีความลับซุกซ่อนอยู่ชนิดที่ไม่อยากพูดถึงมันอีกเลยก็สามารถเปิดเผยเรื่องราวบางอย่างผ่านทางการวาดภาพได้ เด็กเหล่านั้นอาจวาดภาพ “สัญลักษณ์” เช่น จระเข้ ดอกไม้ บ้าน

ซึ่งมองเผินๆ ก็จะเหมือนว่าไม่มีอะไรในกอไผ่ แต่เรื่องราวที่พวกเขาเล่าประกอบทำให้ผู้ใหญ่รับรู้ได้ว่าเขาต้องการจะสื่อสารอะไร เช่น กรณีหนักเข้าขั้นของโศกนาฏกรรมที่เด็กหญิงตัวน้อยโดนข่มขืนโดยพ่อของตัวเอง

ภาพของเธอที่บ่งบอกได้ชัดเจนในสายตาของนักจิตวิทยาคลินิกท่านนี้คือ “ภาพช้างอยากเล่นกับดอกไม้” นักจิตวิทยาท่านนี้อธิบายว่า “ช้าง” คือสัญลักษณ์แทนผู้ใหญ่ “ดอกไม้” คือสัญลักษณ์แทนตัวเด็ก “สีแดง” ที่เด็กน้อยใช้ระบายบนตัวช้างหมายถึงความโกรธเกรี้ยว ความรุนแรง ภาพนี้จึงบอกเหตุการณ์ในอดีตอันน่าเศร้าของเธอได้อย่างชัดเจน

เด็กที่ไม่ชอบวาดรูปอาจหมายถึงเด็กที่ไม่กล้าแสดงออกทางอารมณ์ก็ได้ เราจึงควรช่วยส่งเสริมความมั่นใจในการแสดงอารมณ์ของเขาได้ด้วยวิธีการอื่นๆ เช่น เด็กอายุตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไปเราก็สามารถชวนให้ดูรูปภาพหน้าคนที่แสดงอารมณ์ต่างๆ กันเพื่อให้เด็กได้เข้าใจถึงอารมณ์ต่างๆ เช่น ดีใจ เสียใจ กลัว

เมื่อให้ดูแล้วก็ถามว่า หนูรู้ไหมว่าคนนี้เขารู้สึกอย่างไร แล้วหนูเคยรู้สึกแบบนี้ไหม เมื่อไหร่ที่หนูรู้สึกแบบนี้ แล้วหนูทำอย่างไรเมื่อหนูรู้สึกแบบนั้นเป็นต้น เมื่อเด็กได้รู้จักอารมณ์ต่างมากขึ้นเขาก็จะเข้าใจตัวเองและคนอื่นๆ มากขึ้นด้วยเช่นกัน

พัฒนาการทางการวาดภาพของเด็กจะพัฒนาขึ้นตามวัยของเด็กเช่นกัน เริ่มจากตอนเป็นเด็กก็จะวาดภาพแบบ “ขีดเขี่ย” เป็นเส้นตรงขีดเขี่ยไปมา ต่อมาเมื่อเด็กอายุ 2-3 ปี ก็จะเริ่มวาดเป็นวงกลมได้

เด็กเล็กในวัยก่อน 3 ปี นี้จะวาดภาพและสีแบบไม่บ่งบอกอะไรเท่าไหร่นัก เมื่อเด็กอายุ 3-4 ปีขึ้นไปจึงจะสามารถนำภาพวาดของเด็กมาวิเคราะห์ได้อย่างชัดเจน แต่อาจสังเกตได้จากลายเส้น สีที่ใช้และความสามารถในการวาด

กล่าวคือ ถ้าเขาเคยวาดวงกลมได้แล้วอยู่ๆ ก็ไม่วาดวงกลมอีกเลยแต่กลับมาวาดเส้นตรงๆ อีกก็อาจหมายความได้ว่าเด็กคนนี้พบกับปัญหาอะไรบางอย่างมารบกวนจิตใจ เป็นต้น

นักจิตวิทยาท่านนี้บอกว่าบาดแผลที่ร้าวลึกของเด็กเหล่านี้แม้ยากที่จะเยียวยาแต่นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ได้รับรู้ความคิดและความรู้สึกของเด็กเหล่านั้นเพื่อทำการช่วยเหลือเขาต่อไป และเป็นการดีที่เด็กๆ จะได้แสดงออกถึงอารมณ์ในก้นบึ้งของหัวใจ ถ้าคุณสนใจเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเหลือพวกเขาสามารถติดต่อได้ที่บ้านพักฉุกเฉิน 02-929 2222

ที่มา : กรุงเทพฯธุรกิจ
โดย : ลอร่า-ศศิธร
Life Style : สุขภาพ
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2552

Views: 37

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service