มิใช่ วิเวียน เวสต์วู้ด แต่เป็น วอร์ฮอล เอฟเฟคท์


 
งานลายๆ สไตล์ Andy warhol 
-------------- 

เทรนด์ดีไซน์โลกฮิตย้อนยุค ยึดงานป็อปอาร์ตสไตล์ Andy Warhol ชี้เหตุศิลปะสมัยใหม่ไม่เจ๋งพอ 

ถ้าบอกว่าแฟชั่นย้อนยุคหรือศิลปะอาร์ตๆ กำลังจะกำลังมาฮิตอีกรอบหนึ่ง คุณกำลังจะคิดถึงใครหรือ ? 


วิเวียน เวสต์วู้ด เหรอ.. out แล้ว ผ้าบาติกแบบอินโดฯ ก็ out อีกเช่นกัน แต่ที่กำลังจะ in trend เพราะกลายเป็นแฟชั่นมาแรงตอนนี้ของ “นิวยอร์ก” และ “ยุโรป” ก็คือ “อะไรๆ” ที่เป็น “แอนดี้ วอร์ฮอล” 

อย่าแปลกใจถ้าคุณเดินไปตามตลาดนัดศิลปะในนิวยอร์ก แล้วพบว่าทำไมตอนนี้มีภาพแบบแอนดี้ วอร์ฮอล วางอยู่เต็มไปหมด เพราะถ้าคุณลองเดินไปตามช็อปแฟชั่นเก๋ๆ ดูตามถิ่นแฟชั่น คุณจะพบสิ่งของเหล่านี้อยู่กระจัดกระจายตามที่ต่างๆ 

“ถาดที่มีลายภาพวาดของแอนดี้ กระป๋องซุปแคมพ์เบลล์ที่อยู่ตามซูเปอร์มาร์เก็ต หนังสือเกี่ยวกับศิลปะในสไตล์ของแอนดี้ วอร์ฮอล หรือกระทั่งเสื้อสเว็ตเตอร์ที่มีลวดลายแบบงานของเขา” โจดี้ เฮย์ฟอร์ด นักเขียนของนิตยสาร NYLON ให้ความเห็น 

“กระทั่งถาดที่ใส่อาหารตามร้าน ยังมีการสั่งซื้อภาชนะที่เอาลายของศิลปะแบบ pop art ไปบริการตามร้านอาหาร ทุกอย่างกลายเป็นการสวิงกลับของศิลปะของเขา” คนที่เรียนมาทางด้านเศรษฐศาสตร์ คงจะรู้จักผ่านตางานวิจัยระดับคลาสสิกชิ้นหนึ่งของ เคิร์ท ซิงเกอร์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมัน ที่ชื่อ Mirror, Sword, and Jewel ซึ่งมีเนื้อหาส่วนหนึ่งแสดงทัศนะว่า 

ในทศวรรษที่ 30 นั้น แม้อเมริกันและยุโรปหลายประเทศ จะมีลักษณะบางประการคล้ายกับญี่ปุ่นที่ “ไม่ประสบความสำเร็จ” ใน "การส่งออกวัฒนธรรม" ไปสู่ชาติต่างๆ แม้ว่าคนในประเทศตัวเองนั้น จะเต็มไปด้วยศิลปินที่มีพรสวรรค์และมุมมองก็ตาม 

แต่เมื่อล่วงเข้าสู่ทศวรรษที่ 50-60s เป็นต้นมา กลายเป็นว่าศิลปะแบบ pop art ของ แอนดี้ วอร์ฮอล นั้น ได้รับการยอมรับและถูกจัดให้เป็น “กระแสแฟชั่น” มาจนถึงปัจจุบัน 

“คุณต้องยอมรับว่า งานศิลปะของ แอนดี้ ที่เราเรียกกันว่า pop art นั้น ได้กลายสภาพและยกระดับตัวเองไปเป็นเหมือน pop culture แบบญี่ปุ่น 

กล่าวคือ มันก้าวพ้นจากการเป็นแค่ศิลปะของตัวเอง แต่ทำหน้าที่ไปที่ถึงการเป็นลวดลายบนภาชนะและสิ่งของเครื่องใช้ตามบ้าน” เคิร์ท ซิงเกอร์ ให้ความเห็น 

“แอนดี้น่ะเหนือมนุษย์ เขาทำให้งานของเขา ไม่ติดอยู่กับการเป็นศิลปะ แค่แม่บ้านสักคนไปจ่ายตลาดตามซูเปอร์มาร์เก็ต เขาก็จะสามารถมีประสบการณ์ร่วมไปกับแอนดี้ เพราะพวกแม่บ้านต้องเห็นกระป๋องซุปแคมพ์เบลล์ที่วางอยู่” 

เทรนด์ของอะไรๆ ที่เป็น แอนดี้ วอร์ฮอล นั้น มีมาตั้งแต่ปี 2000 แล้ว เมื่อบริษัทผู้ถือสิทธิของงาน แอนดี้ วอร์ฮอล จัดทำสินค้าหลายอย่างที่มีลวดลายของเขา และหลังจากเงียบหายไป 5-6 ปี ตอนนี้ งานของ แอนดี้ กลับมาอยู่ในความนิยมของคนหนุ่มสาวอีกครั้งหนึ่ง 

“ทุกอย่างมีแต่แฟชั่นศิลปะของเขา” โจดี้ บอก 

มีการตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ศิลปะแบบใหม่กลับไม่สามารถยึดพื้นที่ของตัวเองได้เท่ากับงานย้อนยุค 

ปีที่แล้ว งานของเจ้าแม่พังค์แบบ วิเวียน เวสต์วู้ด ครองพื้นที่อยู่ช่วงหนึ่ง ถึงปีนี้ ก็เป็นเวลาของ แอนดี้ วอร์ฮอล 

อย่างไรก็ดี คัตสิโอะ ชิมิรุ ของ นสพ. Asahi Shimbun ตั้งข้อสังเกตที่ควรจะฟังว่า งาน pop art ของ แอนดี้ วอร์ฮอล นั้น มีบุคลิกและด้านที่อ่อนไหวคล้ายวัฒนธรรมป๊อปของญี่ปุ่นเหมือนกัน 

คัตสึโอะ เสนอความคิดว่า เคิร์ท ซิงเกอร์ นั้น เคยบอกไว้ว่า วัฒนธรรมป๊อปของชาติใดจะเติบโตได้นั้น จะต้องมีสภาพที่ ‘สอดคล้อง’ กับผลผลิตทางเศรษฐกิจ ซึ่งหมายความว่า ถ้าวัฒนธรรมป๊อปต่างๆ (แฟชั่นเสื้อผ้า, ภาพยนตร์, ดนตรี, สตรีทแฟชั่น ฯลฯ) จะเฟื่องฟูได้ เศรษฐกิจของชาตินั้น จะต้องแข็งแรงก่อน 

“แต่ในความเป็นจริง แฟชั่นศิลปะแบบ แอนดี้ วอร์ฮอล กับวัฒนธรรมป๊อปของญี่ปุ่นมีสภาพที่เหมือนกัน 

"กล่าวคือขณะที่ gross domestic product ของญี่ปุ่นและอเมริกาตกต่ำลง วัฒนธรรมต่างๆ ของสองชาตินี้ กลับรุ่งเรืองและเฟื่องฟูขึ้น สวนทางกับทิศทางเศรษฐกิจของชาติ” 

 
Andy warhol เจ้าพ่อป็อปอาร์ต 
---------------------------


ปรากฏการณ์ของ pop art ของ แอนดี้ วอร์ฮอล นั้น นักวิชาการสายตะวันตกหลายคนชี้ว่า มาจากการที่คนยุคใหม่ขาดความมั่นคงทางจิตใจ จนต้องหาอะไรที่มีความรู้สึกว่าทันสมัยและมีคุณค่ามายึดไว้ 

“การออกไปจับจ่าย ซื้อสินค้าที่ของ แอนดี้ วอร์ฮอล มาครอบครอง ถือเป็นหลักทางจิตวิทยาอย่างหนึ่ง” ฟรังซัวร์ เลอมองค์ คอลัมนิสต์จากฝรั่งเศสตั้งข้อสังเกต 

แต่ โจดี้ เสนอความคิดที่น่าสนใจกว่าใครว่า การที่แฟชั่นศิลปะของ วอร์ฮอล สามารถที่จะยืนหยัดฟันฝ่ายุคสมัยมาได้นานนับครึ่งร้อยปีนั้น มันน่าจะมีอะไรที่พิเศษไปกว่าการที่จู่ๆ ก็มีคนมาสนใจ ฟรังซัวส์ เลอมองค์ มองว่า มีความเป็นได้มากที่แฟชั่นของ แอนดี้ วอร์ฮอล นั้น มีลักษณะที่เหมือนวัฒนธรรมป๊อปของแดนปลาดิบ กล่าวคือมันมีลักษณะที่เรียกว่า มีความเป็น plasticity และ endurance ในวัฒนธรรมตัวเองสูง 

“สูงขนาดที่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนๆ ก็สามารถปรับตัวเองให้กลมกลืนและอยู่ได้กับวัฒนธรรมอื่น แฟชั่นอื่นๆ จนยุคสมัยหรืออะไรก็ยากที่จะมาชนะหรือครอบงำตัวมันเอง” 

-------------
เรื่อง : กังสดาล สุขสมสถาน 
2 มกราคม พ.ศ. 2552 

Views: 106

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service