เสียงหัวเราะ ใน"ตลกคาเฟ่"


 

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) มีหน้าที่ภารกิจศึกษาวิจัย และรวบรวมความรู้ด้านมานุษย วิทยา วิถีชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนในสังคม เพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจและเรียนรู้ที่จะยอมรับ เคารพชื่นชมในความแตกต่าง 

อีกกิจกรรมบรรยายทางวิชาการน่าสนใจนำมาเผยแพร่ คือ "เสียงหัวเราะ ในตลกคาเฟ่" ที่ นายอาจินต์ ทองอยู่คง นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาวิจัยไว้เมื่อปลายเดือนก.ค.ถึงเดือนต.ค.2551 

โดยนายอาจินต์เข้าไปศึกษาในสถานบันเทิง "พระรามเก้าพลาซ่า" และใช้วิธีการศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณาแห่งการพูด ซึ่งเป็นทฤษฎีของ Dell Hymes มาใช้ในงานชิ้นนี้ โดยใช้มุมมองในการศึกษาแบบการใช้ภาษาที่แยกออกเป็นสภาพสังคมและวัฒนธรรม หรือบริบทของการใช้ภาษานั้นในสถาน การณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชาที่เรียน 

อาจินต์เล่าเหตุผลที่เลือกศึกษาวิจัยเรื่องนี้ว่า จุดเริ่มต้นเกิดจากความสงสัยว่า ตลกที่แสดงในคาเฟ่ทำไมคนถึงตลก และทำอย่างไรถึงจะตลก พอเข้าไปศึกษาพบว่ามีหลายคนมองตลกคาเฟ่ในลักษณะภาพลบ เป็นตลกที่ใช้ความรุนแรง ไร้รสนิยม หรือเป็นตลกชั้นต่ำ หยาบคาย เหยียดเพศ เหยียดชาติพันธุ์ 

แต่จริงๆ แล้วตลกคาเฟ่ก็มีวิธีการรูปแบบวัฒนธรรม และมีรสนิยมในแบบฉบับของตัวเอง ไม่ได้เป็นเพียงตลกที่มีแต่เฉพาะมุขที่หยาบคาย เหยียดเพศ ชาติพันธุ์ แต่เป็นแบบแผนวัฒนธรรมในแบบของตัวมันเอง ผ่านการอ่านเสียงหัวเราะที่เกิดขึ้นจากการแสดง 



ส่วนตลกคาเฟ่ ตลกอย่างไร อาจินต์อธิบายว่า จากการศึกษาวิธีการมองแบบชาติพันธุ์วรรณาแห่งการพูด การเกิดเสียงหัวเราะของตลกคาเฟ่ ประกอบด้วยหลายองค์ประกอบที่สามารถแสดงออกให้เห็นได้หลายๆ ด้าน ทั้งหมดจะทำงานสอดประสานเข้าด้วยกัน อันเป็นที่มาของเสียงหัวเราะที่ตามมาหลัง "เสียงกลองรับมุก" ในการแสดงของตลกทุกครั้ง 

นายอาจินต์ เล่าว่า บรรยากาศแห่งเสียงหัวเราะนั้น จากการลงศึกษาภาคสนาม เห็นว่าบริเวณป้ายด้านหน้าทางเข้า ไม่ว่าจะเป็นปากทางเข้า หรือส่วนบนของตัวอาคารด้านหน้า เต็มไปด้วยรูปเหมือนของนักแสดงตลกชื่อดัง ที่เห็นกันอยู่บ่อยๆ บางครั้งก็ทำให้ตลกแล้ว 

อีกทั้งภายในร้านยังพบแสงไฟตรงบริเวณที่นั่งค่อนข้างน้อยกว่าร้านอาหารทั่วไปอย่างเห็นชัด แม้ว่าภายในจะสามารถสั่งอาหารไปได้ แต่ต้องยอมรับว่าราคาอาจจะสูงกว่าร้านอาหารปกติ ทำให้รู้ทันว่าการมาคาเฟ่เหมือนกับมาโรงแสดงละครเวที 

นอกจากนี้ นักแสดงตลกคาเฟ่ยังได้รับการยอมรับ พร้อมกับเสียงหัวเราะ แม้ว่าเขาจะแสดงเต็มไปด้วยการเหยียดเพศ ชาติพันธุ์ หรือเหยียดหยาม ดูถูก ก็ตาม แต่คนที่เข้าไปก็สามารถยอมรับได้ทุกคน ทำให้พื้นที่นั้นเป็นพื้นที่พิเศษ และยังเป็นพื้นที่โดยเฉพาะตลกที่แสดงบนเวที หรือพื้นที่ที่ความชั่วร้ายต่างๆ สามารถปรากฏออกมาได้อย่างไม่ขัดเขิน 



อีกแง่มุมหนึ่ง ไม่เพียงแค่เป็นการหัวเราะให้กับคนอื่น แต่เป็นการหัวเราะให้กับตนเองเสียด้วยซ้ำที่ไม่สามารถทำในสิ่งที่ตนเองต้องการได้จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเหยียดหยามคนที่ด้อยกว่า หรือการต่อต้านอำนาจที่แท้จริง เช่น การพูดหยอกล้อเจ้าของร้าน ซึ่งได้รับการอนุญาตให้ทำได้ 

"ผมยังเห็นอีกว่า ตลกคาเฟ่สามารถเล่นคำ หรือสร้างปริศนาคำทาย ในการใช้หลักตรรกะแหวกขนบ คือ ขณะเล่นคำนั้นไม่ได้เป็นไปตามบรรทัดฐานสังคมที่คาดหวังไว้ แต่เขาอาศัยความเข้าใจในบรรทัดฐานสังคมที่มีในบริบทของสถานการณ์นั้นๆ ของทั้งผู้แสดงและผู้ชมไปพร้อมๆ กัน ซึ่งตลกคาเฟ่จะต้องมีปฏิภาณไหวพริบ หรือบางครั้งก็หยิบเอาสถานการณ์ขณะนั้นๆ มาเล่นแบบฉับพลันทันที จนบางครั้งผู้ชมไม่รู้ตัว หรือตั้งตัวไม่ทัน" นายอาจินต์กล่าว 

นายอาจินต์ อธิบายต่อว่า อีกอย่างที่พบคือ จากการสัมภาษณ์นักแสดงตลกคาเฟ่คนหนึ่ง เขาบอกว่าสิ่งสำคัญของตลกต้องมีมุข "เกร็ด" เป็นการเล่นไปตามสถานการณ์คือ จากไม่มีอะไร แต่ก็คว้าให้ผู้ชมหัวเราะได้ มันเป็นเกร็ดของตลกทุกคนต้องมีเป็นอันดับหนึ่ง 

ส่วนเกร็ดอันดับ 2 คือ การแต่งตัว อันดับ 3 ต้องเล่นแบบไม่เป็นเรื่องเป็นราว แต่ไม่ใช่ลิเก ทำให้ได้ข้อสรุปว่า การเล่นตลกเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่ต้องอาศัยไหวพริบ ที่ไม่สามารถอธิบายได้ว่าต้องทำอย่างไร ต้องเรียนรู้เอง แบบไม่รู้ตัวด้วย 

รวมทั้งยังเป็นการแสดงที่สะท้อนสภาพความเป็นจริงของผู้ชมออกมา จนบางครั้งรู้สึกว่า เมื่อใครคนหนึ่งเข้าไปในคาเฟ่ เขาไม่ได้เพียงเข้าไปรับชมการแสดงเท่านั้น แต่ในทางกลับกัน เขาเข้าไปร่วมแสดงเป็นหนึ่งในตลกฉากใหญ่นั้นแล้วต่างหากแบบไม่รู้ตัว และเป็นสิ่งที่สดๆ อยู่ติดกับสถานการณ์นั้นๆ ถือเป็นอัตลักษณ์ความเป็นตลกคาเฟ่ 

สำหรับเรื่องของอารมณ์ขัน หรือเสียงหัวเราะในตลกคาเฟ่นั้น จากการศึกษาพบว่า มีวิธีการมองได้ง่ายๆ อยู่ 3 แบบ คือ 1.เกิดจากการคิดที่ไม่คาดฝันมาก่อน 2.ความรู้สึกด้านอารมณ์ อาทิ เห็นคนเดินตกท่อน้ำก็หัวเราะ แสดงให้เห็นว่า อารมณ์ขันบางครั้งเกิดจากการดูถูก เหยียดหยาม หรือความผิดพลาดของคนอื่น และ 3.เกิดจากการปลดปล่อยความรู้สึกลึกๆ ในใจออกมา 

อาจินต์รวบยอดว่า สรุปแล้วตลกคาเฟ่เป็นการใช้ภาษา การแสดง และการสื่อสารอย่างหนึ่ง ที่เอาสิ่งแวดล้อมทุกอย่างของการพูดมาใช้ 

ที่มา ข่าวสด
โดย นงนวล รัตนประทีป
วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 19 ฉบับที่ 6877 

Views: 684

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service