เตรียมประมูลครั้งใหญ่ ที่คริสตีส์

สถาบันคริสตีส์ออกประกาศแสดงผลงานศิลปะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และศิลปะร่วมสมัยที่จะนำออกประมูลในเดือนต.ค. นี้ 

 
Paris Bar (สีน้ำมันบนผ้าฝ้าย ปี 1991 โดยมาร์ติน คิพเพนแบร์เกอร์) 
--------------------------


โดยมีไฮไลต์เป็นผลงานของ มาร์ติน คิพเพนแบร์เกอร์ จิตรกรชาวเยอรมัน ปีเตอร์ ดอยจ์ จิตรกรสกอตติช ลูซิโอ ฟอนตานา ประติมากรชาวอาร์เจนไตน์ ดาเมียน ฮิร์สต์ ศิลปินสื่อผสมชาวอังกฤษ เกร์ฮาร์ด ริกซ์เตอร์ จิตรกรชาวเยอรมัน ปิโน ปาสกาลิ ประติมากรชาวอิตาเลียน ราจิบ ชอว์ จิตรกรชาวอินเดีย และศิลปินหาตัวจับยากอีกมากมาย รวมทั้งผลงานดรออิงในยุคบุกเบิกของลูเซียน ฟรอยด์ จิตรกรชาวอังกฤษด้วย 
สถาบันคริสตีส์กรุงลอนดอนคาดว่า ในครั้งนี้จะสามารถสร้างรายได้จากการประมูลราว 16.21–22.98 ล้านปอนด์ 

ฟรานซิส เอาต์เรด ผู้อำนวยการนานาชาติแผนกศิลปะหลังสงครามและศิลปะร่วมสมัย สถาบันคริสตีส์ยุโรป กล่าวว่า ตลอด 1 สัปดาห์ในลอนดอน ลอนดอนจะเปลี่ยนเป็นศูนย์กลางของตลาดค้าศิลปะร่วมสมัย “เพื่อให้สอดคล้องกับนิทรรศการที่จะจัดขึ้นเป็นเวลา 10 วัน รวมทั้งงานที่จะนำออกประมูลก็ล้วนเป็นศิลปะร่วมสมัยทั้งสิ้น และศิลปินแต่ละคนก็เป็นไฮไลต์กันทั้งนั้น” 

นอกจากศิลปินที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีผลงานภาพถ่ายของแอนเดรส กูร์สกี และวีดิทัศน์ของบิล วิโอลา ฯลฯ ซึ่งจะจัดขึ้นห้องนิทรรศการของสถาบันฯ ในกรุงลอนดอน ระหว่าง 8–17 ต.ค.นี้ โดยค่ำของวันจันทร์ที่ 12 ต.ค. จะมีการประมูลการกุศล รายได้มอบให้องค์กรฟาเซต (F.A.C.E.T. - For Africa’s Children Every Time) องค์กรเพื่อช่วยเหลือด้านการศึกษาของเด็กในทวีปแอฟริกา 

ไฮไลต์ในงานประมูลมีตั้งแต่ The Mild-Eyed Melancholy of the Lotus Eaters 1 ผลงานใหม่ล่าสุดของราจิบ ชอว์ ซึ่งยังไม่เคยแสดงที่ไหนมาก่อน นอกจากนี้ก็มีผลงานของ เอด รัสชา มาร์ก ควินน์ ดาเมียน ฮิร์สต์ แอนเซลม์ ลีย์เล จอร์จ คอนโด เจฟฟ์ คูนส์ มาร์ก นิวสัน ทอม ฟรีดแมน เทรซีย์ เอมิน โด โฮ ซูห์ ริชาร์ด เพตติโบนี และแบงก์ซี ขณะที่ลอเรนซ์ กราฟฟ์ ประธานบริษัทกราฟฟ์ไดมอนด์ บริจาคต่างหูเพชร คอตซา นาลา (ภาษาเลโซโธแปลว่า สันติภาพ) มาร่วมประมูลในงานนี้ด้วย 

ส่วน 25 ชิ้นงานที่คาดว่าจะสร้างสถิติในงานประมูลครั้งนี้ ได้แก่ ผลงาน 2 ชิ้นของมาร์ติน คิพเพนแบร์เกอร์ คือ Paris Bar (มูลค่า 6.7–9.4 ล้านปอนด์) และ Kellner Des (Waiter Of) (มูลค่า 5–7 แสนปอนด์) ทั้งคู่เป็นผลงานปี 1991 นอกจากนี้ยังมี Pine House (Rooms for Rent) ผลงานปี 1994 ของ ปีเตอร์ ดอยจ์ ซึ่งคาดว่าราคาจะอยู่ระหว่าง 1.5–2 ล้านปอนด์ ขณะที่ผลงาน Dark Coat II ปี 1948 ของลูเซียน ฟรอยด์ ก็คาดว่าราคาจะอยู่ที่ราว 1–1.5 แสนปอนด์ 

 
Pine House (Rooms for Rent) (สีน้ำมันบนผ้าใบ ปี 1994 โดย ปีเตอร์ ดอยจ์) 
-----------------------------


แม้ว่ามาร์ติน คิพเพนแบร์เกอร์ จะด่วนจากโลกไปด้วยวัยเพียง 44 ปี แต่ยังได้รับการยกย่องจนถึงวันนี้ว่าเป็นศิลปินยุคหลังสงครามที่เป็นแรงบันดาลใจให้แวดวงศิลปะร่วมสมัยมากที่สุด ภาพ Paris Bar เคยสร้างความประทับใจนับแต่ครั้งที่แสดงในเทต แกลเลอรี กรุงลอนดอน ตามด้วยพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยแห่งแคลิฟอร์เนีย (MOCA) กรุงลอสแองเจลิส รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย (MoMA) กรุงนิวยอร์ก อย่างน้อยๆ ก็ด้วยขนาดของผลงานที่ใหญ่ถึง 2x3.8 เมตร 
ภาพบาร์ขนาดเกือบเท่าของจริงวาดจากปารีสบาร์ของมิเชล วูตเติล ในกรุงเบอร์ลิน อันเป็นสถานที่ที่เปรียบดังบ้านที่ 2 ของเขา และกลายเป็นฉายาต่อท้ายชื่อ มาร์ตินแห่งปารีสบาร์ สถานที่ดังกล่าวคือแห่งรวมศิลปวัฒนธรรมที่ศิลปินและหนุ่มสาวแถวหน้าต้องไปรวมตัวกันเมื่อมายังกรุงเบอร์ลิน ไม่ว่าจะเป็น เดวิด โบวี อิกกี ป๊อป หรือแอนดี วอร์ฮอล 

ภาพ Paris Bar แขวนอยู่บนฝาผนังของร้านสุดฮิปในฐานะของขวัญจากศิลปิน ก่อนที่จะมาผ่านเวทีประมูลครั้งแรกในกรุงลอนดอนเมื่อปี 2006 ตอนนั้นมีมูลค่า 8 แสน–1.2 ล้านปอนด์ 

ขณะที่ผลงานของ ปีเตอร์ ดอยจ์ เพิ่งจะสร้างสถิติของสถาบันคริสตีส์ กรุงนิวยอร์ก ไปด้วยราคา 4.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปเมื่อเดือนพ.ค. (Night Fishing, 1991) และถัดมาที่กรุงลอนดอน เดือนมิ.ย. ที่ 3 ล้านปอนด์ (Night Playground, 1997-1998) และหวังจะสร้างสถิติอีกในเดือนนี้ กับ Pine House (Rooms for Rent), 1994 ผลงานที่ทำให้เขาได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลเทอร์เนอร์ไพรซ์ และรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย 

Pine House (Rooms for Rent) เองก็เป็นภาพขนาดใหญ่ (1.8x2.3 เมตร) วาดเพื่อรำลึกถึงวันคืนเก่าๆ ที่ที่เคยเป็นที่พักของเขาขณะใช้ชีวิตในออนแทริโอ แคนาดา ซึ่งพบว่าภายหลังกลายเป็นอพาร์ตเมนต์ให้เช่า 

นับจากการพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน ก็ทำให้มีการแจ้งเกิดศิลปินจากอดีตเยอรมนีตะวันออกมากมาย โดยเฉพาะ เนโอ เราช์ จากไลป์ซิก ที่จะได้ชมผลงานของเขาในนิทรรศการนี้ และบนเวทีประมูล (ภาพ Stellwork (Signal Box) มูลค่า 3.5–4.5 แสนปอนด์) 

ในงานยังรวบรวมสุดยอดศิลปินอิตาเลียนแห่งศตวรรษที่ 20 ในอิตาเลียนเซล ทั้งจอร์โจ โมรันดิ ปิโน ปาสกาลิ ฟรันเชสโก เวซโซลิ แจนนิส คูเนลลิส มิเคลังเจโล ปิสโตเลตโต มาโร เมอร์ซ และอันแบร์โต บูร์รี 

ที่มา : Post Today
รายงานโดย :อฐิณป ลภณวุษ 
วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552 
บันเทิง - ไลฟ์สไตล์ 

Views: 141

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service