รื่นรมย์ชมศิลปะคนเมือง


 

วันนี้ขอตั้งตนเป็น “เวอร์ชวลคูเรเตอร์” (Virtual Curator) หรือ “ภัณฑารักษ์ตัวปลอม” จัดแสดงงานศิลปะแบบคนเมืองให้เยี่ยมชมกัน 


ภาพแนว “ซิตีสเคป” (Cityscape) ก็เหมือนภาพแลนด์สเคป (Landscape) เพียงแต่ฉากที่ปรากฏบนภาพเป็นรูปของเมืองซึ่งเต็มไปด้วยตึกรามบ้านเรือน หรือบางครั้งก็เรียกอีกอย่างว่า ภาพทาวน์สเคป (Townscape) หากว่า “เมือง” มีขนาดเล็กลง 

ศิลปินดังๆ ที่วาดภาพแนวซิตีสเคป มีตั้งแต่ กานาเลตโต แยน ฟาน เมียร์ อัลเฟรด ซิสเลย์ กามิลล์ ปิสซาโร โปล ซีญัค เอดูอาร์ด เลออน กอร์เตส อิสซาค อิสราเอล ฯลฯ 

ภาพศิลปะแนว “ซิตีสเคป” เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของเมือง ไม่ว่าจะเป็นภาพดรออิง จิตรกรรม ภาพพิมพ์ หรือภาพถ่าย ซิตีสเคปไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือเป็นเรื่องเฉพาะของสังคมเมืองสมัยใหม่เท่านั้น นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 เป็นต้นมา ก็เริ่มมีภาพเฟรสโกฉากกรุงโรมสมัยนั้นชื่อ The Baths of Trajan ขณะที่ยุคกลางมีภาพพอร์เทรตและภาพทางศาสนาจำนวนมากที่มีฉากหลังเป็นเมืองใหญ่ และนับจากศตวรรษที่ 16–18 ก็มีภาพพิมพ์แผ่นทองแดงและภาพพิมพ์หินมากมายที่วาดเมืองในมุมสูง (Bird’s Eye View) คล้ายวิธีคิดของการเขียนแผนที่ 

กลางศตวรรษที่ 17 ภาพแนวซิตีสเคปเริ่มปรากฏเด่นชัด กลายเป็น “รูปแบบ” ของการเขียนภาพอย่างหนึ่งในเนเธอร์แลนด์ โดยเฉพาะภาพ View of Delft (1660-1661) ของแยน ฟาน เมียร์ ที่สามารถสร้างชื่อเสียงของเมืองอัมสเตอร์ดัม ฮาร์เล็ม และเฮก ให้โด่งดังไปทั่วยุโรป ขณะที่เมืองอื่นๆ ในยุโรปก็โด่งดังตามมาติดๆ ทั้งในอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ขณะที่เมืองเวนิส ในอิตาลีนั้นเป็น “ซิตีสเคป” ที่พีกสุดๆ ในศตวรรษที่ 18 ไม่เพียงศิลปินท้องถิ่น อย่าง กานาเลตโต หรือโจวานนี อันโตโน กานาล และฟรันเชสโก กูอาร์ดี เท่านั้น แต่ภายหลังยังมีศิลปินจากนานาชาติไปสร้างชื่อสถานที่แห่งนี้ให้โด่งดังในงานศิลปะ โดยเฉพาะยอดจิตรกรอังกฤษ โจเซฟ มัลลอร์ด เทอร์เนอร์ 

ล่วงมาถึงศตวรรษที่ 19 ในยุคสมัยแห่งอิมเพรสชันม์ ภาพซิตีสเคปเริ่มเน้นให้เห็นอารมณ์ความรู้สึก บรรยากาศ และความเคลื่อนไหวของชีวิตในเมือง เลยไปถึงเมืองที่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เขตอุตสาหกรรม ตึกรามบ้านเรือน ทางรถไฟ ฯลฯ ล้วนกลายเป็นประเด็นที่บอกเล่าเอาไว้ในภาพซิตีสเคป ต่างจากศตวรรษที่ 20 ที่อิทธิพลแบบแอบสแทรกต์และคอนเซปชวลเข้ามามีอิทธิพล 



ศิลปะในยุคศตวรรษที่ 21 ได้รับอิทธิพลจากหลากหลายยุคสมัยของศิลปะที่ผ่านมา ศิลปินแต่ละคนมีความเป็นปัจเจกที่จะเลือกถ่ายทอดมุมมองของตัวเองในเทคนิคและสไตล์หลากหลาย บ้างก็ผสมผสานแรงบันดาลอันมากมายเข้าด้วยกัน 

วันนี้ขอนำเสนอศิลปินซีตีสเคปร่วมสมัย 2 ราย – พอล บัลเมอร์ ศิลปินชาวแอฟริกาใต้ที่ไปเติบโตยังประเทศออสเตรเลีย เขาจบโรงเรียนศิลปะในซิดนีย์ ก่อนที่จะไปต่อด้านกราฟฟิก ดีไซน์ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งซิดนีย์ หลังจากทำงานด้านการวาดภาพประกอบและโฆษณาทั้งในแอฟริกา ออสเตรเลีย และอเมริกาอยู่หลายปี ในที่สุดก็ตัดสินใจหันมาสร้างสรรค์งานศิลปะอย่างเต็มตัว 

ความสนใจในศิลปะนำพาให้ชีพจรลงเท้าเขายังยุโรป เขาตระเวนศึกษางานศิลปะทั่วยุโรป ตั้งแต่ศิลปะประเพณี ศิลปะแนวเรียลิสม์ ไปจนถึงแอบสแทรกต์ หลังศึกษาจนหนำใจ เขาย้ายไปปักหลักยังกรุงนิวยอร์กซึ่งชีพจรศิลปะแห่งยุคอยู่ที่นั่น 

ในที่สุดซีรีส์ New York Cityscapes ก็คลอดออกมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสีสันที่จัดจ้าน รูปทรงของตึกที่แสดงความเป็นเมือง ล้วนโดดเด่นเตะตา นอกจากนี้ยังมีกลิ่นอายของความดิบแทรกอยู่ในภาพ ซึ่งแสดงเห็นถึงแรงบันดาลใจจากแอฟริกาและออสเตรเลียอันเป็นพื้นฐานวัยเด็กของเขา 

ศิลปะที่ดูสวยงาม ไม่ได้มีความลึกซึ้งอะไรมากมาย ผลงานเล่นกับรูปทรง และดูโมเดิร์นมากๆ แสดงให้เห็นถึงการวางแผนของศิลปินที่มองถึงภาพรวมที่จะออกมาก่อนที่จะลงมือสร้างสรรค์ผลงาน 



จากผลงานซิตีสเคปที่ดูล้ำสไตล์กราฟฟิกสุดขีด ข้ามมาชมฝีแปรงหนาๆ ที่ให้อารมณ์ผสมผสานแบบอิมเพรสชันนิสม์นิดหน่อย ในผลงานของ ดิออน อาร์คิบัลด์ 


ดิออนสนใจศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ขณะที่เด็กคนอื่นไปวิ่งเล่นสนุกสนาน เขากลับมาหาความหฤหรรษ์กับการหัดวาดรูป แน่นอนว่า ต้องเริ่มจากการดรออิง แต่เมื่อเขาได้จับสีน้ำมันเป็นครั้งแรกตอนอายุ 15 เขาเฝ้าแต่บอกตัวเองว่า นี่ไง... ใช่เลย! 

จากความรักกลายเป็นความหลงใหล และสุดท้ายกลายเป็นปรารถนาแห่งชีวิต เขาทดลองนั่น ทดลองนี่ นอกจากจะตื่นเต้นกับเอฟเฟกต์ต่างๆ ที่ทำให้อารมณ์ของสีเปลี่ยนไปแล้ว เขายังมักจะตื่นตาตื่นใจกับการทดลองเทคนิคใหม่ๆ เสมอ 

หลังจากเห็นผลงานของศิลปินร่วมสมัยชาวออสเตรเลีย เบรตต์ ไวต์ลีย์ ทำให้โลกทัศน์ของของเขาได้เปลี่ยนไป จากเดิมที่คิดแต่จะวาดภาพวิว ภาพชนบทไปเรื่อยๆ เบรตต์ทำให้เขาเห็นว่า ศิลปะมีอะไรมากกว่านั้น 

ปาโบล ปิกัสโซ เป็นแรงบันดาลใจอย่างสูงให้เขาอีกคน เช่นเดียวกับวินเซนต์ ฟาน โกห์ “ปิกัสโซทำงานหลากหลายมาก เขามีพลังงานเหลือเฟือจริงๆ ผมจะเอาตาม ส่วนฟาน โกห์ผมก็ทึ่งในความทุ่มเทของเขา” เขาให้สัมภาษณ์เอาไว้ 

หลังจากการศึกษาด้านศิลปะจากเทฟ (TAFE) ในออสเตรเลียบ้านเกิด ก็เป็นเวลาที่จะต้องค้นหาตัวเอง ดิออนเห็นว่าคนที่ไม่ชอบงานของเขา ก็เหมือนกับอาจารย์ในวิทยาลัยที่มักจะมีแต่คำติมากกว่าคำชม ระหว่างสร้างสรรค์งานศิลปะไปด้วย เขาก็เข้ามหาวิทยาลัยไปเรียนต่อทางด้านประวัติศาสตร์และทฤษฎีทางศิลปะ ซึ่งเขาเชื่อว่ามีความสำคัญต่องานที่เขาจะสร้างสรรค์ 

ดิออนทำงานทั้งภาพสติลไลฟ์ ภาพพอร์เทรต แต่ที่โดดเด่นมากๆ ก็คือ ภาพแนวซิตีสเคป โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุด Istanbul (Cityscape) 2002 หลังจากประทับใจในเสน่ห์แห่งเมืองอิสตันบูลของตุรกี เขาก็สร้างสรรค์งานชุดนี้อย่างไม่ลังเล โดยโทนสีของเมืองนี้ถ่ายทอดตามความประทับใจของเขาในโทนสีฟ้า-เทา ครีม และเหลืองคาราเมล 

ขณะที่ซีตีสเคปเมืองแห่งความประทับใจอีกเมืองคือ นิวคาสเซิล ในอังกฤษ (The Bench (Newcastle) 2002) โดยเมืองนี้ใช้สีที่โดดเด่นเป็นสีแดงกับสีน้ำเงิน 



นอกจากสีสันที่โดดเด่นแล้ว เทกซ์เจอร์ในผลงานภาพซิตีสเคปสีน้ำมันของดิออน อาร์คิบัลด์ ก็เป็นเรื่องที่ต้องพูดถึง ฝีแปรงหนาๆ ที่ปาดลงในภาพ สร้างเป็นเลเยอร์และเทกซ์เจอร์ ซึ่งนับเป็นสไตล์ที่เป็นซิกเนเจอร์ของเขาด้วย 

“ผมไม่กังวลที่ภาพวาดจะแสดงให้เห็นอารมณ์ ณ ขณะนั้น ผมว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องมีในงานศิลปะ” ดิออนทิ้งท้าย 

ที่เหลือขอให้ทัศนาความงามของศิลปะซิตีสเคปตามอัธยาศัย... 

ที่มา : Post Today
รายงานโดย :ปณิฏา สุวรรณปาล 
วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552 
บันเทิง - ไลฟ์สไตล์ 

Views: 91

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service