วงการการ์ตูนไทย เมื่อไรจะถึงฝั่งฝัน..!? (2)


 

ทิ้งท้ายไว้ใน “ชีวิตการ์ตูน” ตอนที่แล้วว่าจะขอพูด (เขียน) ถึง “วงจรลูกโซ่ที่ทำให้การ์ตูนไทยและนักเขียนการ์ตูนไทยไปถึงฝั่งฝันได้ยาก” กัน... 

ขึ้นชื่อว่าเป็น “วงจร” แล้วก็หมายความว่าคำตอบของเรื่องหรือขั้นตอนต่างๆ ในวงจรนั้นมีผลต่อเนื่องกันเป็นทอดๆ 
และสุดท้ายก็วนกลับมาที่ต้นเรื่องเหมือนงูกินหาง จะหาทางแก้ที่ขั้นตอนใดคำตอบหรือสาเหตุก็อยู่ที่ขั้นตอนก่อนหน้านั้น จะแก้ที่ขั้นตอนก่อนหน้านั้นก็จะพบว่าสาเหตุมาจากขั้นตอนก่อนหน้านั้นไปอีกทอดหนึ่ง ต่อกันเป็นทอดๆ จนสุดท้ายก็กินหางเป็นวงกลมวนกลับมาที่ขั้นตอนเริ่มแรก ยากที่จะหาคำตอบได้ว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงและอะไรคือทางแก้ 

วงการการ์ตูนไทยยังไปไม่ถึงฝั่งฝันก็เพราะวงจรลูกโซ่วงจรหนึ่งครับ วงจรลูกโซ่นี้ประกอบไปด้วยปัจจัยอะไรบ้างเรามาดูกัน... 


0 ผู้อ่านกลุ่มใหญ่ไม่ซื้ออ่าน 

จริงอยู่ที่จำนวนคนอ่านการ์ตูนในบ้านเรายังไม่สามารถเทียบเท่าในญี่ปุ่นได้เลย แต่ก็เพียงพอและมากพอที่จะทำให้ตลาดของวงการหนังสือการ์ตูนมีส่วนแบ่งมากมายให้บริษัทต่างๆ กระโดดเข้ามาทำธุรกิจลิขสิทธิ์การ์ตูนญี่ปุ่นกันไม่น้อย... ยอดพิมพ์หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นฉบับภาษาไทยที่จัดอยู่ในขั้น “ขายดี” นั้นสูงถึงราว 100,000 เล่ม (บางเรื่องอาจจะเกือบถึง บางเรื่องอาจเกิน) เลยทีเดียว ในขณะที่ยอดขายการ์ตูนที่เขียนโดยนักเขียนไทยนั้นน้อยเรื่องนักที่จะถูกตีพิมพ์ด้วยจำนวนเล่มถึงหลัก 10,000 เล่ม เรียกว่าระดับแตกต่างกันมากเลยใช่ไหมครับ 

และแน่นอนว่าเมื่อจำนวนผู้อ่านน้อยก็จะยิ่งทำให้การกระจายวงหรือการบอกต่อกันก็พลอยส่งผลให้เป็นกระแสได้ช้าหรือน้อยตามไปด้วย การ์ตูนไทยที่สนุกน่าติดตามต้องใช้เวลานานกว่าการ์ตูนญี่ปุ่นโขเลยทีเดียวจึงจะทำให้ผู้อ่านหันมาสัมผัสและยอมรับมันได้ ทั้งนี้ผู้อ่านส่วนใหญ่ที่ยังไม่ได้ให้การสนับสนุนติดตามการ์ตูนไทยมักจะมีเหตุผลประมาณว่า เนื้อเรื่องไม่ดี, ลายเส้นไม่สวย, ลอกญี่ปุ่น, ไม่มีความเป็นไทย, ยัดเยียดความเป็นไทยมากเกินไป (2-3 อย่างหลังนั้นเล่นเอาคนทำงานทำงานกันไม่ถูกกันไปเลย) ฯลฯ แต่ถ้าหากได้ลองสอบถามว่าล่าสุดที่ได้สัมผัสการ์ตูนไทยนั้นคือเมื่อไหร่ ส่วนใหญ่คำตอบที่ได้คือนานมาแล้ว และถ้าหากถามว่าต้องการให้การ์ตูนไทยเป็นอย่างไร คำตอบที่ได้เกือบทั้งหมดมีอยู่แล้วในการ์ตูนไทยบางเรื่องที่กำลังตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้ 

สรุปว่าปัญหาของฝั่งผู้อ่านคือ... การ์ตูนไทยเนื้อเรื่องไม่ดี, ลายเส้นไม่สวย, ไม่น่าติดตามเท่าการ์ตูนต่างประเทศ... 

0 รายได้ตอบแทนนักเขียนน้อย 


รายได้ของนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นระดับพระกาฬจริงๆ นั้นหากรวมหมดทั้งค่าต้นฉบับ (รับทันที คิดเป็นจำนวนหน้า), ค่าลิขสิทธิ์ (รับเป็นเปอร์เซ็นต์อีกที โดยคำนวณจากรายได้การขายฉบับรวมเล่ม พิมพ์ทุกครั้งได้ทุกครั้งตลอดไป รวมไปจนถึงค่าลิขสิทธิ์ทำแอนิเมชัน, ค่าลิขสิทธิ์ทำโมเดล ฯลฯ) หรืออื่นๆ (เช่นรายได้จากจำนวนจดหมายจากผู้อ่านที่ส่งมายังสำนักพิมพ์ ฯลฯ) แล้วบางคนมีรายได้สูงถึงราวๆ 300 ล้านบาทต่อเดือน... 

ในขณะที่นักเขียนการ์ตูนไทยส่วนใหญ่ได้รายได้กันอยู่ที่ราว 200-400 บาทต่อ 1 หน้า หากเขียนต้นฉบับส่งด้วยจำนวนหน้ามาตรฐาน 16 หน้าก็จะมีรายได้ประมาณ 3,200-6,400 บาทต่อ 1 ตอน ซึ่งถ้าหากสามารถส่งต้นฉบับได้ทุกสัปดาห์และได้ลงตีพิมพ์รายสัปดาห์ (มีไม่กี่เรื่องที่สามารถทำได้ เพราะต้องได้รับการตอบรับที่ดีจริงๆ เท่านั้น) ก็จะมีรายได้ประมาณ 12,800-25,600 บาท แต่โอกาสที่นักเขียนคนใดคนหนึ่งจะสามารถเขียนต้นฉบับสัปดาห์ละ 16 หน้านั้นแทบจะเป็นศูนย์ หรือถ้าจะทำได้จริงก็แทบไม่มีเวลาพักหรือใช้ชีวิตด้านอื่นๆ กันเลย ทำให้บางคนสามารถส่งต้นฉบับได้เพียงเดือนละ 1-2 ตอนเท่านั้น (6,400-12,800 บาท) 

แต่ถ้ามีการจ้างทีมมาช่วยในการทำต้นฉบับ (คนเขียนฉาก, คนตัดเส้น, คนลงสกรีน ฯลฯ) ก็จะทำให้สร้างผลงานได้เร็วยิ่งขึ้น ได้รับรายได้ถี่ขึ้น แต่ก็ต้องแบ่งรายได้ให้กับทีมงานไปกว่าครึ่ง ซึ่งนี่หมายถึงนักเขียนประจำที่พอจะเรียกได้ว่ามีรายได้ที่แน่นอนระดับหนึ่งแล้วนะครับ ถ้ายังไม่ได้ประจำจะขนาดไหน และนี่ยังไม่พูดถึงความประณีตที่ต้องใส่ลงไปในผลงานซึ่งยิ่งประณีตและสวยงามมากยิ่งทำให้ได้จำนวนหน้าน้อยลงด้วย 

สรุปว่าปัญหาของฝั่งผู้เขียนคือ... รายได้น้อยและขึ้นอยู่กับปริมาณงาน คุณภาพงานอาจไม่ได้ในระดับที่สามารถทำได้จริง... 

0 นายทุนไม่มั่นใจ ไม่กล้าลงทุน 

ขึ้นชื่อว่านายทุนหรือผู้ลงทุนก็แทบจะบอกชัดอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องของธุรกิจ... การที่ใครสักคนจะลงทุนทำอะไรสักอย่างก็ต้องมีความมั่นใจและเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองลงเงินลงไปด้วย ซึ่งหากมามองที่ตลาดการ์ตูนไทยซึ่งมีผู้อ่านให้การยอมรับและติดตามอยู่น้อยมากอย่างนี้ก็เป็นเรื่องปกติครับที่จะมีนายทุนน้อยรายให้การสนับสนุน แถมที่ผ่านมาก็มีหลายรายที่ลงทุนไปแล้วมีอันต้องพับเสื่อกลับบ้านไป สาเหตุก็เพราะขาดผู้อ่านสนับสนุน ทำให้ขาดทุนและไม่สามารถดำเนินกิจการต่อได้นั่นเอง 

สรุปว่าปัญหาของฝั่งนายทุนคือ... ตลาดไม่ใหญ่ ไม่หอมหวนพอที่จะกระโดดลงมาลงเงินและเสี่ยงไปกับมัน... 
คุณผู้อ่านพอมองเห็นวงจรลูกโซ่ของมันหรือยังครับ..!? ตลาดเล็กเพราะผู้อ่านให้การสนับสนุนน้อย คนลงทุนไม่สามารถมอบรายได้ที่มากพอให้นักเขียนได้ นักเขียนมีรายได้ไม่พอที่จะประณีตหรือใส่จินตนาการลงไปได้ สุดท้ายพอผลงานไม่ดีพอก็ทำให้ผู้อ่านเห็นว่าการ์ตูนไทยไม่มีคุณภาพ 

ครั้นวันดีคืนดีมีการ์ตูนไทยสักเรื่องที่แหกกฎหรือวงจรเหล่านี้ออกมามีคุณภาพดีอ่านสนุกและน่าติดตามได้ก็เป็นที่ยอมรับกันภายในวงแคบเท่านั้น พอตลาดมันเล็กก็ทำให้รายได้ที่กลับคืนสู่นายทุนมันน้อยและไม่เพียงพอให้ดำเนินกิจการต่อ หรือถึงจะดำเนินการต่อก็ขาดทุน มีผลต่อรายได้นักเขียนต่อไป วนกันเป็นวงจรลูกโซ่อย่างนี้... ในตอนหน้าเราจะมาพูดถึงแสงตะเกียงความหวังอันแสนริบหรี่ที่ยังพอจะมีอยู่บ้างสำหรับวงการการ์ตูนไทยกัน..!! 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
โดย : ประสพโชค จันทรมงคล
Life Style : Read & Write
วันที่ 18 กันยายน 2552

Views: 79

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service