ศาสตรเมธี ปัญญา เพ็ชรชู ตำนาน "ครูผู้ให้" แห่งเพาะช่าง


ห้องจิตรกรรม ปี 1 ที่วิทยาลัยเพาะช่างในวันนั้น เต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะครื้นเครง อบอวลด้วยไออุ่นแห่งมิตรภาพความรัก ความหลัง

จากลูกศิษย์ลูกหาคนแล้วคนเล่าที่ทยอยมารดน้ำแสดงความเคารพในงานมุทิตาจิตเกษียณอายุ และอวยพรวันเกิดในคราวเดียวกันแด่อาจารย์ "ปัญญา เพ็ชรชู" ศาสตรเมธี สาขาจิตรกรรม อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาลัยเพาะช่าง

เสียงโขมงโฉงเฉงดังลั่นห้องระหว่างครูและลูกศิษย์ แสดงถึงความสนิทสนม ความผูกพัน ที่มากมายจนไม่อาจบรรยายได้หมดด้วยคำพูด แม้เวลาจะผ่านมานานถึง 38 ปีแล้วก็ตาม

สำหรับ "ปัญญา เพ็ชรชู" แล้ว 5 ปีของการเป็นนักเรียนในรั้วเพาะช่าง และ 38 ปีของชีวิตการเป็นอาจารย์ ได้ทุ่มเทและอุทิศให้นักเรียนเต็มที่ เงินเดือนแต่ละเดือนที่ได้มาหมดไปกับการเลี้ยงข้าวกลางวันแก่เด็กๆ ลูกศิษย์ที่ไม่มีข้าวกิน ใครเดือดร้อนไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม อาจารย์ปัญญาเป็นผู้ที่เด็กๆ พึ่งพาอาศัยได้ทุกเมื่อ

ความผูกพันนี้ไม่อาจลืมเลือนกระทั่งถึงวันที่อาจารย์เกษียณอายุราชการ และทางมหาวิทยาลัยได้ต่ออายุราชการให้อีกหนึ่งปี

ศาสตรเมธีผู้นี้ มีใจรักศิลปะตั้งแต่เด็ก ส่วนหนึ่งซึมซับมาจาก "พ่อ-สมชาย เพ็ชรชู" หัวหน้าหน่วยสหกรณ์เครื่องบินผู้มีฝีมือในการวาดลายเส้นที่สวยงามแม่นยำ กับ "แม่-ปราณี เพ็ชรชู" ช่างตัดเสื้อที่เก่งมากขนาดเปิดร้านสอนตัดเสื้อเองและมีคนมาเรียนด้วยมากมาย

วัยเด็ก-เด็กชายปัญญาชอบเรียนวิชาศิลปะมาก แต่ไม่ได้เจอครูที่สอนเก่งจึงไม่มีแรงบันดาลใจอะไรมากนัก กระทั่งเข้าเรียนชั้น ม.ศ.1-3 ที่โรงเรียนวัดธรรมจริยาภิรมย์ จ.สมุทรสาคร จึงได้พบครูจากเพาะช่างชื่อ "ครูดำรง เล็กสวาท" สอนวาดรูปเก่งมากและได้เขียนรูปให้ดูจึงทำให้ ด.ช.ปัญญา ทึ่งและเกิดแรงบันดาลใจในการเรียนศิลปะมากขึ้น แทบจะทิ้งวิชาอื่นไปเลย อีกทั้งยังไปขลุกที่บ้านครูนานเป็นสัปดาห์ถึงกลับบ้านก็มี

หลังจบชั้น ม.ศ.3 ครูดำรงพา ด.ช.ปัญญา สมัครเรียนที่เพาะช่างร่ำเรียนจนจบชั้นสูงสุดแล้วไปศึกษาต่อปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร จบแล้วบรรจุเป็นครูที่เพาะช่างตั้งแต่นั้นมา

ระหว่างเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่เพาะช่าง อาจารย์ปัญญาได้สร้างผลงานมากมาย ไปพร้อมๆ กับการสอน ผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ของอาจารย์คือ ภาพคนเหมือน (portrait)

ฝีมือร้ายกาจ ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในแถวหน้าศิลปินนักวาดเมืองไทย จนได้รับพระราชทาน "ศาสตรเมธี" นำหน้าชื่อจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจารย์ปัญญาภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต

"พวกศิลปินถ้าไม่ขาดไปเยอะ มันก็ต้องเกินไปเยอะ ถ้าพอดีๆ มันไม่ดังหรอก" เสียงกระเซ้าเย้าแหย่จากอาจารย์ปัญญาท่ามกลางลูกศิษย์

38 ปีแห่งการเป็นครูผู้ให้ อาจารย์ปัญญาเพิ่งจะมีนิทรรศการของตัวเองเป็นครั้งแรกในชีวิต ชื่อ "60 ปี ศาสตรเมธี ปัญญา เพ็ชรชู" จัดแสดงที่ หอศิลป์เพาะช่าง มีไปจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม

อยากเห็นฝีมืออาจารย์ผู้นี้ว่าแจ่มขนาดไหนต้องแวะไปดู

"ส่วนอาจารย์ปัญญาเองนั้น เส้นทางชีวิตสายนี้ อาจารย์บอกเสียงนิ่มๆ "ชีวิตนี้พอใจแล้ว" "

ชีวิตนักเรียนเพาะช่างสมัยนั้น?

สนุกมาก พ่อให้เงินใช้เดือนละ 400 บาท ในนี้ต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าซื้ออุปกรณ์การเรียน เสร็จแล้วเหลือใช้อยู่วันละ 1 บาท สำหรับกินข้าวกลางวัน แต่ไม่ได้กินหรอกเพราะข้าวจานละ 2 บาท เลยต้องกินขนมถ้วยละ 50 สตางค์ แทน ตั้งแต่นั้นมาเลยติดขนม แล้วเพื่อนเขาไปเที่ยวไหนก็ไม่ค่อยได้ไปด้วยหรอกเพราะไม่มีตังค์ แต่ก็ไม่ลำบากนะ อยู่ดีมีแรง มีความสุขกับการเขียนรูป

สนใจวาดภาพ "คน" มาตั้งแต่แรก?

ติดใจมาตั้งแต่แรก เพราะติดใจตอนครูสอนชั้นมัธยม อีกอย่างมีเณรช่วยสอนเรื่องวาดรูปคนเหมือนด้วย เณรเขียนถ่านเก่งก็สอนให้ เลยทำให้เก่งด้านคนเหมือน พอมาอยู่ที่เพาะช่างเริ่มเขียนรูปในหลวงก่อนเลย คือคนแต่ก่อนจะเริ่มวาดอยู่ 2 อย่าง ถ้าไม่เริ่มด้วยรูปในหลวง ก็เริ่มด้วยรูปเอลวิส เพรสลีย์ พระเอกหนังคนดัง แต่ผมเขียนรูปในหลวงก่อน แล้วพอมาสอนเด็กๆ ก็บอกให้เขียนรูปในหลวงก่อน เพราะเป็นสิริมงคล อีกอย่างเขียนรูปในหลวงเราเขียนจนจำได้แม่น พอเวลาเด็กเขียนมาผิดก็จะจี้ได้ทันที จี้ให้เขาเขียนจากไม่เหมือนจนกระทั่งเหมือนทุกคน

ทำไมถึงชอบวาดรูปคน?

เพราะเวลาเราเขียนรูปให้ใครเขาจะดีใจ ถ้าเขียนเหมือนเขียนให้เขาหล่อ เขาสวย เขาจะดีใจมาก แล้วเราก็มีความสุขที่เห็นคนเขามีความสุข ก็เลยชอบเขียนรูปคนมาตลอด ชื่อเสียงที่ได้มาก็มาจากรูปเหมือน รูปคน เยอะกว่ารูปอื่น ดังนั้น รูปเหมือนของผม ต้องเหมือน และคำนึงว่าต้องสวยเท่าตัวจริง หรือสวยกว่า ถ้าไม่สวยไม่หล่อเท่าตัวจริงก็จะขอเขาเขียนใหม่

เคยคิดไหมว่าจะเป็นศิลปิน

ไม่เคยคิดเลย คิดแค่ว่าเรียนจบแล้วจะไปทำงานอะไร ที่ไหน แล้วที่สำคัญที่เพาะช่างไม่ได้สอนให้คนเป็นศิลปิน ไม่ได้เน้นว่าจะต้องมีอะไรพิเศษ แต่จะสอนให้คนเป็นช่าง สอนให้ส่วนตัวหลุดออกไป

ที่ผ่านมามีผลงานมาสเตอร์ พีซไหม?

ไม่มีเลย พอร์ตเทรตก็ชอบทุกรูป เพราะว่าเขียนเต็มที่ทุกรูป ได้เงินไม่ได้เงินก็ทำเต็มที่ อีกอย่างไม่มีเวลาทำงานช่วงไหนยาวๆ อ้อ...ก็มีเหมือนกันนะ ได้เขียนรูปสมเด็จพระสังฆราช 19 พระองค์ จำนวน 20 รูป ภายในเวลา 20 วัน ที่วัดบวรฯ ล่าสุดวัดจะให้เขียนรูปในหลวง รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 รัชกาลที่ 9 ตอนที่ทรงผนวชเพิ่มอีก 4 รูป กำลังจะทำ

ชีวิตการเป็นอาจารย์ช่วงแรกเป็นอย่างไร?

ได้บรรจุเป็นครูเงินเดือนเดือนแรก 1,200 บาท พอได้เงินประกาศกับเด็กนักเรียนเลย ใครจะไปอยู่กับครูบ้าง (หัวเราะ) แล้วก็เอาเงินนั้นไปซื้อข้าวให้เด็กๆ กิน คือเรานึกถึงตอนที่เราเรียนแล้วเราอด ไม่มีข้าวกิน พ่อแม่เงินเดือนน้อยยังลูกๆ อีกตั้ง 5 คน เพราะฉะนั้นพอได้เงินเดือนมาก็เลยอยากเลี้ยงข้าวเลี้ยงเด็ก ก็จะบอกไว้ว่าถ้าใครหิวให้ไปกินข้าวกับแม่ค้าเจ้านั้นนะ แล้วเราก็ไปบอกเจ้าของร้านไว้เด็กคนไหนมากินให้เขากิน พอสิ้นเดือนเราค่อยไปจ่ายเงิน

คือผมมีความคิดว่า- - ถ้าคนเราได้กินข้าวด้วยกันเกินสองมื้อ มันจะรักกัน เพราะเด็กในวัยนี้จะจำกันแม่นมากกว่าประถมมัธยมอีก แล้วเขาจะเป็นเพื่อนกันไปจนแก่ตาย

แล้วมีเงินเหลือไหม?

ไม่เหลือหรอก (ยิ้ม) เงินเดือนไม่กี่วันก็หมดแล้วเลยทำให้เราต้องขยันเขียนรูป ด้วยความที่ไม่มีเงินมันจะช่วยให้เราต้องเขียนรูปบ่อยๆ แล้วก็จะเขียนเก่ง ส่วนมากเขาจะมาจ้างให้เขียนรูปเหมือน สมัยนั้นคิดราคารูปละร้อยห้าสิบ ร้อยแปดสิบเอง แต่สำหรับคนตายกับพระ ผมจะเขียนให้ฟรี ไม่คิดตังค์

ฝีมือขนาดนี้คาดหวังเรื่องร่ำรวย?

ไม่คิดเลย แต่ที่นึกอยู่เสมอคือเราจะต้องไม่ป่วย แม้กระทั่งเด็กๆ ลูกศิษย์เราก็บอกเสมอว่าให้รักษาสุขภาพนะ เพราะว่าถ้าป่วยเมื่อไหร่มันจะลำบากคนอื่น ลำบากคนพาไปส่งหมอ ลำบากคนไปจองเตียง ลำบากแม้กระทั่งหมอ

ตลอดเวลาที่เป็นอาจารย์สอนที่เพาะช่างอยู่กินหลับนอนที่นี่เลย?

(พยักหน้า)...อยู่ที่นี่เหมือนเป็นบ้านเลย เพราะคิดว่าถ้าเราอยู่เหมือนเราจะช่วยเด็กได้อีกหลายคน เด็กมันจะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีครูอยู่

ไม่รู้นะ อาจเป็นเพราะว่าดวงเรามันอยู่กับคนอื่น เคยมีอาจารย์ที่เป็นดอกเตอร์คนหนึ่งท่านดูดวงเก่ง ท่านบอกว่า เอ๊ะ..บ้านอาจารย์ไม่มีหลังคานะ มีแต่ชานกว้างเลย คือมีแต่ชานที่คนมานั่งคุย มันเป็นอย่างนั้น อย่างวันเกิดนี่มีเพื่อนๆ ลูกศิษย์ลูกหามารดน้ำจนมือซีด รดจนคิดว่าจะเสร็จแล้ว เงยหน้าขึ้นมา อ้าว...มากันอีกแล้ว (หัวเราะ)

แล้วมีบ้านเป็นของตัวเองไหม?

ไม่มีของตัวเอง แต่มีบ้านที่คนอยากให้ไปอยู่เยอะ มีลูกศิษย์คนหนึ่งเขาสร้างให้อยู่ที่ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี เขาสร้างให้ไม่รู้เขาชอบใจอาจารย์ปัญญาอะไรนักหนา เขามีเงินขนาดว่ารายได้วันหนึ่งเกือบล้าน แต่ผมก็ไม่ได้ไปอยู่ แล้วก็มีอีกคนยกให้ เป็นบ้านที่พรานนกเป็นตึก 4 ชั้น แต่ผมตั้งปณิธานว่าถ้าอยู่ที่ไหนแล้วเดิน 5 นาทียังไม่ได้กินโอเลี้ยง ก็จะไม่ไปอยู่ แปลว่ามันห่างไกลชุมชนเกินไปไง...(หัวเราะ)

แล้วชีวิตจะมีหลักประกันหรือ

ไม่คิดว่าอะไรจะเป็นหลักประกันในชีวิต เพราะว่าสักวันหนึ่งคนเราก็ต้องตาย บางคนป่วยเป็นสิบปีดวงมันไม่ตาย มันก็ยังไม่ตายเลย บางคนแข็งแรงดี อยู่ๆ ก็ตาย เหตุที่ผมไม่คิดซื้อบ้าน เพราะว่าไม่มีลูกด้วย

เวลาสบายที่สุดของผม หรือเป็นความสุขของผมก็คือการได้เห็นลูกศิษย์อิ่ม ได้เห็นลูกศิษย์มีการมีงานทำ มีเพื่อนฝูงที่คุยเรื่องอะไรที่ไม่เครียด ใครคุยเรื่องเครียดเรื่องการเมืองผมไม่เอาด้วย เดินหนีเลย เพราะไม่อยากเครียดด้วย ส่วนเงินทองก็ไม่สะสม ถ้าได้มาไม่ใช้เอง ก็ให้เด็กใช้

อาจารย์แต่งงานแล้ว

ครับ ภรรยาผมเด็กๆ เขาเรียก "ป้า" (กมลรัตน์ เพ็ชรชู) เดิมเขาเป็นคนชงกาแฟขายอยู่ที่ร้านด้านหน้าเพาะช่าง ทีนี้เด็กไปขอสปอนเซอร์มาทำกิจกรรม เราก็เลยเขียนรูปไปติดร้านให้เขาเป็นการตอบแทน แล้วมีเพื่อนเราคนหนึ่งไปจีบเขา ตอนแรกเราก็ไปเป็นเพื่อนไปนั่งกินกาแฟ กลางวันสี่แก้ว กลางคืนอีกสี่แก้ว แล้วกาแฟที่กินนี่ใส่น้ำตาลแก้วหนึ่งสองช้อน เลยเป็นเบาหวานเลย แล้วไปๆ มาๆ ตอนหลังเพื่อนไปจีบคนอื่น เหลือเรายังกินกาแฟอยู่ (ยิ้ม) ก็เลยแต่งงานกัน

แรกๆ เจอชีวิตศิลปินอย่างเราป้าเขาก็กลุ้มใจมาก นอนก็ไม่นอน กลางคืนนั่งเขียนรูปเพราะเป็นช่วงที่มีสมาธิ เราก็จะอยู่กันเฉพาะเพื่อนสนิท นั่งทำ

งานกันไป ไม่คุยกันเลยทั้งคืนก็ได้ ป้าก็งงอยู่นาน จนกระทั่งเขาเขียนรูปได้ ตอนนี้เขาก็เริ่มเป็นบ้างแล้ว ลืมว่าถึงเวลากินข้าว แล้วก็เริ่มนอนตีหนึ่งตีสอง (หัวเราะ)

ได้แนวคิดเรื่องไม่สะสมเหมือนกันด้วย

ฮื่อ..ตอนแรกๆ เขาก็เก็บเงินของเขานะ แต่ตอนหลังได้เงินมาก็เลี้ยงเด็กๆ เขาเห็นแล้วว่ามันเป็นความสุข คือให้คนอื่นแล้วรู้สึกมีความสุข อีกอย่างเราไม่มีลูก เมื่อก่อนอยากมีนะแต่ดวงมันไม่มี เราไปบอกคนอื่นว่าเด็กมันไม่มาเกิดหรอกเพราะป้าทำกับข้าวไม่เป็น (หัวเราะ) ทำเป็นแต่ต้มมาม่า

มีลูกศิษย์ที่ไม่ใช่นักเรียนเพาะช่างไหม

มีครับ หมอที่จุฬาฯ ก็มี เป็นหมอศัลยกรรม แล้วก็มีอีกหลายคน บางคนเขาเห็นลายเซ็นในรูป เขาอยากเรียนก็โผล่มาเลย หรือพ่อแม่บางคนก็เอาลูกมาฝาก ห้องนี้จะเปิดฟรี (ห้องจิตรกรรมปี 1) ไม่คิดตังค์ใคร

ล่าสุดมีฝรั่งคนหนึ่งไปจ้างคนเขียนรูปที่มาบุญครอง แล้วปรากฏว่าเขียนออกมาไม่ถูกใจ ฝรั่งก็ถามว่ามีที่ไหนเด็ดกว่านี้อีกไหม บังเอิญว่าเด็กคนนั้นเป็นลูกศิษย์เขาก็บอกว่า มี อาจารย์ผมเองที่เพาะช่าง ฝรั่งบอกว่าถ้าอย่างนั้นพาไปหาครูหน่อย เด็กก็เลยพามาเราก็เขียนรูปให้ เป็นสีชอล์ค เสร็จมันถามคิดเท่าไหร่ เราบอกว่าไม่คิดอะไรอยากได้ก็เลยเขียนให้เฉยๆ ฝรั่งก็งงมาก

เป็นอาจารย์เพาะช่างรู้สึกน้อยใจไหมที่ดูเหมือนว่ามีการแบ่งชั้นระหว่างคนจากเพาะช่างและศิลปากร?

ไม่รู้สึกครับ เพราะจะว่าไปถ้าเทียบกันจริงๆ มันก็อาจจะคนละชั้นจริงๆ เพราะศิลปากรเขาสอนให้คนเป็นศิลปิน แล้วเขาเรียน 5 ปี ในขณะที่เพาะช่างเรียน 4 ปี คือเพาะช่างเขาเน้นเรื่องช่างฝีมือมากกว่า แล้วช่างฝีมือจะตั้งราคาเองไม่ได้ ถ้าเราเขียนอะไรเหมือนๆ มันจะมีคนเทียบราคา แต่ถ้าเราทำงานแอ๊บสแตค (Abstract) เราตั้งราคาเราเอง ใครก็มาเทียบกับเราไม่ได้ เราป้าย 3 ที จะตั้ง 5 หมื่น ก็ไม่ดูแพงเพราะเป็นแอ๊บสแตค

ถามว่าน้อยใจไหม- -ไม่น้อยใจเลย เพราะว่าทุกครั้งที่ทำงานมันสบายใจ เพื่อนฝูงอยู่ศิลปากรก็เยอะแยะ เพื่อนกันทั้งนั้น แต่ว่าเราภูมิใจอยู่อย่างว่าเด็กเรามีงานทำทุกคน แค่นั้นพอใจแล้วมันไม่อดตาย

หลังเกษียณคิดจะทำอะไร?

ยังเลย เพราะที่เพาะช่างเขาจ้างต่อ แต่ยังไม่รู้ว่ากี่ปี เด็กๆ นี่ดีใจ พวกศิษย์เก่าก็เฮเลย ดีใจเพราะว่าเขาจะได้มาที่นี่อีก คือถ้าผมไม่อยู่เขาก็ไม่รู้จะมาหาใคร

จะว่าไปผมก็มีความคิดอย่างนะ...คิดว่าอยากจะมีที่กว้างๆ เปิดเป็นร้านกาแฟที่ไม่เก็บตังค์ใคร ใครเข้ามาอยากจะกินก็กินแล้วนั่งดูรูปไป ใครจะมานั่งเขียนรูปก็มาได้

ผมเป็นคนไม่คิดเรื่องเงินหรอก เพราะรายได้เราก็มีเงินเดือนอยู่แล้ว เกษียณก็มีบำนาญแล้วจะเอาไปทำไมอีก

จนถึงวันนี้แสดงว่ายังมีไฟอยู่

ถ้าให้เขียนรูปก็ไหว แต่อย่างอื่นไม่ไหวแล้ว (หัวเราะเสียงดัง)



โดย: ชมพูนุท นำภา 
ที่มา: มติชน / 11 ตุลาคม 2552

Views: 4473

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service