ภาพถ่ายกับการแปรสภาพทางชนชั้นของมนุษย์ยุคดิจิทัล

   

Text by : Chotipong Bunyarit

     มนุษย์ จัดว่าสัตว์ประเสริฐที่มีการปรับตัว มีวิวัฒนาการล้ำหน้าเพื่อนๆ สปีชีส์อื่นบนโลกใบนี้ ไม่เพียงแค่ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่สรรหามาเพื่ออำนวยความสะดวก ตอบสนองความต้องการส่วนตัวแล้ว ยังสามารถปรับเปลี่ยนบทบาทในสังได้อย่างฉับไว หรืออาจเป็นเพราะมนุษย์ถูกจัดให้เป็นสัตว์สังคม ที่ต้องสื่อสารกันตลอดเวลา และสังคมมนุษย์ก็มีอยู่หลายสังคม นั่นก็แล้วแต่ว่ามนุษย์ผู้นั้นจะมีพลังในการถีบตัวเองให้ไปอยู่สังคมไหน ยิ่งถ้าเป็นสังคมที่เป็นชนกลุ่มน้อยอย่างสังคมของคนชั้นบนแล้ว ยิ่งต้องปรับตัวเองให้เข้ากับสภาพของสังคมเค้าไปด้วย คำพังเพยที่ว่า "เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม" นั้น อาจไม่ได้เป็นตามนั้น แต่อาจต้องเปลี่ยนเป็น "เห็นเค้าแอ๊บ ก็อยากแอ๊บเหมือนเค้า" ก็เป็นได้

     "ภาพถ่าย" เองถูกใช้เป็นเครื่องมือของชนชั้น นับตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยการเผยแพร่อำนาจของกองทัพผ่านภาพถ่าย ซึ่งใช้วิธีการสื่อสารผ่านท่าทาง ลักษณะการเพ่งมอง การชี้พุ่งออกไปเสมือนกำลังพูดกับทุกคนที่ได้ดูภาพนี้

"I Want You for the U.S. Army" By : James Montgomery Flagg

ดังผลงาน “I Want You for the U.S. Army” ของ James Montgomery Flagg แสดงการสื่อสารโดยตรงระหว่างภาพกับผู้ที่ได้ดูภาพ

     ปัจจุบันภาพถ่ายเองนั้นถูกแปรสภาพ ผันแปรไปตามยุคตามสมัย จากถูกใช้เครื่องมือทางอำนาจ ก็ถูกใช้นำมาใช้เป็นสื่อรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับบริบทของการนำไปใช้งาน อย่างงานของ John Lennon และ Yoko Ono ในภาพโปสเตอร์ "War Is Over” ซึ่งมีลักษณะการสื่อสารที่แตกต่างกันออกไป เป็นการสื่อเรื่องราวของสันติภาพแทนเรื่องราวของอำนาจเหมือนที่เคยเป็นมา

"WAR IS OVER" By : John Lennon and Yoko Ono

     ปัจจุบันภาพถ่ายสามารถเข้าถึงมนุษย์ได้อย่างแพร่หลาย และแนบแน่น ภาพถ่ายไม่ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือของชนชั้นใดชั้นหนึ่งอีกต่อไป ภาพถ่ายถูกทำหน้าที่นำเสนอสถานะ เพื่อบ่งบอกภาพลักษณ์ของมนุษย์ โดยข้อความที่ปรากฎออกมาจากภาพ จะให้ความหมายออกมาตามลักษณะ ท่าทาง การแต่งกาย กระทั่งโทนสีที่ฉาบในภาพถ่ายนั้นๆ เอง บางโทนสีที่แสดงความเก่า นั่นหมายถึงภาพถ่ายนั้นมีอายุมาแล้วพอสมควรจนเนื้อกระดาษอัดภาพทำปฏิกริยากับอากาศ แต่โทนสีที่แสดงให้เห็นถึงความเก่านั้น ไม่ได้บ่งบอกเลยว่าภาพนั้นเก่า แต่ถูกทำให้เก่าด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และเมื่อเราดูภาพที่ถูกย้อมโทนสีให้เก่า ก็จะไม่มีประสบการณ์ร่วมของความเก่าบนตัวภาพถ่ายที่มีอายุยาวนาน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภาพถ่ายที่ดูอยู่ ณ เวลานั้น มันก็เป็นภาพที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ที่ได้แค่อารมณ์ ความรู้สึกของการทำให้เก่าเท่านั้น

     ซึ่งการเข้าถึงงานภาพถ่ายของบุคคลอื่นในปัจจุบัน สามารถทำได้ง่าย เนื่องด้วย social photo sharing (สังคมการแบ่งปันภาพถ่าย) นั้นเกิดขึ้นอย่างมากมายในปัจจุบัน มนุษย์ผู้เป็นปัจเจกกลับมีความอยากที่จะยอมให้ผู้อื่นเข้ามามีส่วนร่วมกับภาพถ่ายของตัวเองมากขึ้น มีความอยากให้ผู้อื่นได้รับรู้ถึงสถานะของตนเอง ตามประสบการณ์ที่ตนเองได้ไปพบเจอมา นี่เองจึงทำให้เส้นแบ่งของความเป็นส่วนตัวลดน้อยลง

     นี่เองถือเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงชนชั้นในสังคม ที่จะถูกทำให้มิติที่มีการแบ่งแยกสังคมชัดเจนอย่างประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเริ่มสั่นคลอด จนถึงที่สุดมิติดังกล่าวก็จะถูกทำให้เบลอ ไม่สามารถแยกแยะความเป็นชนชั้นได้อย่างชัดเจนเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา

     ศิวนันท์ คีรีเพ็ชร์ อ้างถึงใน ประชาไท “มโนทัศน์ชนชั้นของ แมกซ์ เวเบอร์ (Max Weber) อธิบายลักษณะทางชนชั้นซึ่งแบ่งกลุ่มตามสถานภาพที่ขึ้นกับแบบแผนการบริโภคของบุคคลมากกว่าขึ้นอยู่กับตำแหน่งในตลาดหรือกระบวนการผลิต โดยสถานภาพนั้นต่างจากชนชั้น มีลักษณะที่เป็นการรวมกลุ่มแบบชุมชน มีแนวคิดกับวิถีชีวิตที่เหมาะสม และต้องการได้รับการชื่นชม ยกย่องจากสังคมอื่น รวมถึงการกีดกันจากสังคมที่ไม่อยู่แวดวงเดียวกัน จากความห่างเหินทางสังคมก่อให้เกิดลักษณะที่แบ่งแยกระหว่าง “พวกเขา” กับ “พวกเรา”

     ในประเด็นอำนาจทางเศรษฐกิจ แมกซ์ เวเบอร์ อธิบายว่า บ่อยครั้งที่อำนาจทางเศรษฐกิจเป็นรูปแบบหลักของอำนาจ โดยเฉพาะโลกทุนนิยมสมัยใหม่ โดยเวเบอร์กล่าวว่า การเกิดขึ้นซึ่งอำนาจทางเศรษฐกิจ อาจเป็นผลมาจากการมีอำนาจซึ่งเกิดขึ้นมาบนรากฐานอื่น เช่น ผู้ที่สามารถบริหารองค์กร อาจมีอำนาจทางเศรษฐกิจมาก แต่กลับเป็นเพียงลูกจ้างที่กินเงินเดือนเท่านั้น

     จากคำอธิบายของ แมกซ์ เวเบอร์ นั้นชี้ให้เห็นลักษณะอำนาจทางชนชั้นในปัจจุบัน มีการพยายามลดทอนพลังของงานภาพถ่าย จากที่เคยถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของรัฐ ก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนสถานะให้สื่อถึงความเท่าเทียมทางชนชั้น โดยการเข้าถึงงานภาพถ่ายที่ง่ายขึ้น การเกิดขึ้นของสังคมแบ่งปันภาพถ่าย และการทำให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับว่าเป็นพวกเดียวกัน

     แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ภาพถ่ายเอง ก็ยังคงถูกใช้เป็นเครื่องมือการสื่อสารของของรัฐ หรือแม้กระทั่งปัจเจกเอง ที่พยายามใช้ภาพถ่ายเพื่อจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง นั้นขึ้นอยู่กับบริบทของการนำไปใช้งาน ทั้งต่างกรรม และต่างวาระ.....

อ้างอิง

ศิวนันท์ คีรีเพ็ชร์ .2556 .มองชนชั้นในสังคมไทยปัจจุบันผ่านมโนทัศน์ของคาร์ล มาร์กซ์ - แมกซ์ เวเบอร์ . (ออนไลน์) .แหล่งที่มา : http://prachatai.com/journal/2010/11/31841 .4 กรกฎาคม 2556.

Views: 328

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service