สวน+ศิลป์ ชีวิตคนกรุงเทพฯ

สวน+ศิลป์ ชีวิตคนกรุงเทพฯ 
 

ท่ามกลางความเจริญที่ขยายตัวแทบทุกพื้นที่ของเมืองหลวง พื้นที่สีเขียวมีขึ้นมาแซมให้แลดูสบายตาบ้างเพียงประปรายเท่านั้น 

และนั่นก็ถูกเรียกขานยกให้เป็นปอดของคนกรุงเทพมหานคร “สวนสาธารณะ” จึงเป็นทั้งพื้นที่สำหรับการออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ ที่พบปะของเพื่อนฝูง เป็นที่สันทนาการของครอบครัว และอีกหลายๆ อย่างที่พื้นที่จะเอื้ออำนวยต่อความต้องการของผู้คน 

ในเร็วๆ นี้ สวนสาธารณะที่ร่มรื่นไปด้วยหมู่แมกไม้จะมีผลงาน “ประติมากรรม” ขนาดใหญ่มาติดตั้ง ร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ความสราญใจแก่คนกรุง ซึ่งผลงานเหล่านี้เป็นการจำลองประติมากรรมผลงานของศิลปินมีชื่อทั้งในระดับชาติและในระดับนานาชาติ เช่น ผลงานของเบตติโน ฟรังชีนี นายกสมาคมประติมากรโลกชาวอิตาเลียน ศ.ศิลป์ พีระศรี ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร อ.เขียน ยิ้มศิริ ศิลปินชั้นเยี่ยม อ.เข็มรัตน์ กองสุข ศิลปินชั้นเยี่ยม อ.นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ศิลปินแห่งชาติ 



เมื่อสวนมาดวลกับศิลป์ 

ประกาศความร่วมมือกันมาตั้งแต่ต้นปีในเดือนม.ค. สำหรับการติดตั้งประติมากรรม 10 จุด ทั่วกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร กับมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งความคืบหน้าของโครงการหลังจากวันเวลาล่วงเลยมาครึ่งปี ทางผู้อำนวยการสำนักผังเมือง “อัญชลี ปัทมาสวรรค์” ได้แจ้งพื้นที่ในการติดตั้งประติมากรรมและรายชื่อผลงานประติมากรรมออกมาเป็นที่แน่นอนแล้ว 

พร้อมกันนี้ยังทำการติดตั้งสำเร็จไปแล้วหนึ่งแห่ง นั่นคือ “บริเวณสวนลุมพินี” เหลือการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เรียบร้อย ประติมากรรมที่ติดตั้งคือ “ต้นไม้แห่งชีวิต” ผลงานของ “ผศ.อนิก สมบูรณ์” 

นอกจากนี้ มีผลงานที่อยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งอีก 3 จุด ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนมิ.ย.นี้ คือ บริเวณ “สวนธนบุรีรมย์” เขตทุ่งครุ ประติมากรรมที่ติดตั้งคือ “3 Worlds” ผลงานโดย “รศ.เข็มรัตน์ กองสุข” บริเวณ “สวนวชิรเบญจทัศ” เขตจตุจักร ติดตั้งประติมากรรม 2 จุด คือผลงาน “Frame” ของ “เบตติโน ฟรังชีนี” ศิลปินชาวอิตาเลียน และผลงาน “สังคมแห่งความงอกงามของคุณธรรม” ของ “นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน” 

ส่วนประติมากรรมที่เหลืออีก 6 ผลงานจะแล้วเสร็จประมาณปลายเดือนก.ย. “ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น” เขตดินแดง ติดตั้งผลงาน “ตะกร้อ” ของ “เขียน ยิ้มศิริ” บริเวณ “สวนรมมณีนาถ” เขตพระนคร ประติมากรรมที่ติดตั้งคือ “ช้างเศวตฉัตร” ของ “ศ.ศิลป์ พีระศรี” บริเวณสวนสาธารณะใกล้วัดเสมียนนารี (ฝั่งเหนือ) เขตจตุจักร ติดตั้ง “The Moon” ผลงานของ “ศราวุธ ดวงจำปา” 

บริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติ ใต้สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน ฝั่งธนบุรี ติดตั้ง 2 จุด เป็นผลงานของ “เขียน ยิ้มศิริ” จุดที่ 1 ประติมากรรมที่ติดตั้งคือ “Protector” จุดที่ 2 ผลงานชื่อ “ส่องกระจก” และบริเวณสวนสาธารณะเชิงสะพานพระปกเกล้าฯ ฝั่งธนบุรี ประติมากรรมที่ติดตั้งคือ “สุริยัน” ของ “ผศ.วิชัย สิทธิรัตน์” 



ศิลปะแห่งการจัดวางในสวนสวย 

“เสฏฐ์ญา ภัคกระนก” ผู้อำนวยการกองจัดรูปที่ดินและปรับปรุงฟื้นฟูเมือง สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร ได้เล่าถึงความคืบหน้าและการดำเนินการติดตั้งประติมากรรมว่า ในการทำงานต้องคัดเลือกผลงานซึ่งมีจำนวนมาก แต่โจทย์ในการเลือกที่ตั้งไว้คือ ต้องเป็นผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียง เบื้องต้นเป็นศิลปินแห่งชาติ สอง เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม สาม เป็นศิลปินได้รับรางวัลระดับนานาชาติ ระดับต่อไปเป็นศิลปินระดับประเทศ และศิลปินอาวุโส รวมถึงผลงานต้องมีรูปทรงเหมาะกับสถานที่ที่จะติดตั้งด้วย 

นอกจากนี้ ต้องทำโมเดลและสร้างประติมากรรมที่มีขนาดใหญ่กว่าขนาดประติมากรรมเดิมของศิลปินดัง โดยจะมีความสูงประมาณ 3-4 เมตร เพื่อให้เหมาะสมกับสถานที่ติดตั้ง ซึ่งเป็นพื้นที่โล่ง มีอาณาเขตกว้าง สามารถมองได้หลายมุม มีการปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะสม และมีมุมมองที่สวยงาม พร้อมทั้งระบบน้ำ ไฟ 

ในการเลือกสถานที่ติดตั้งเป็นสวนสาธารณะ ผอ.กองจัดรูปที่ดินและปรับปรุงฟื้นฟูเมือง ให้เหตุผลว่า “สวนเป็นสถานที่ที่คนเข้าถึงได้สะดวก สถานที่กว้างขวาง เป็นสถานที่ให้คนพักผ่อนหย่อนใจ สัมผัสความสวยงามของธรรมชาติ ซึ่งตรงจุดนี้เราอยากเป็นสื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ในงานศิลปะ ซึ่งการเรียนรู้สามารถเรียนได้หลายรูปแบบ เรียนรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและเรากำหนดให้ ทุกวันนี้ประชาชนสนใจเรื่องความสวยความงามของตัวเอง แต่เรื่องของความสวยงามของชิ้นงานทางประติมากรรมแทบไม่ได้สัมผัสเลย ซึ่งอย่างน้อยตรงนี้ก็เป็นสื่อให้ผู้คนใกล้ชิดกับศิลปะมากขึ้น” 

ด้าน “ผศ.ถนอมจิตร์ ชุ่มวงค์” หัวหน้าภาควิชาประติมากรรม คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า “ผลงานที่ผ่านเข้ามามีเงื่อนไขในเรื่องของสถานที่ เพราะไม่ได้แสดงในห้องนิทรรศการ ผลงานต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม บางชิ้นเข้ากันไม่ได้กับสถานที่ ทั้งที่ผลงานทุกชิ้นดีมาก มีมูลค่าสูงมาก” 

ส่วนการติดตั้งผลงานนั้นจะต้องพิจารณาเป็นชิ้นๆ ต่อสถานที่ “ขนาดของประติมากรรมก็สำคัญขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมตรงนั้นด้วย มุมมองได้ไหม ถ้าใหญ่ไปมุมแคบก็ใช้ไม่ได้ ดูว่าพื้นที่มีเอกลักษณ์อย่างไร เพราะแต่ละพื้นที่มีฟังก์ชันที่ต่างกัน อย่างผลงานของ อ.นนทิวรรธน์ มีโครงสร้างเป็นรูปทรงดอกบัว เป็นเรื่องเกี่ยวกับสมาธิ เราก็มองหาพื้นที่เป็นป่าน้ำ บรรยากาศเงียบ เพื่อให้นั่งดูงานไปแล้วเกิดความคิด เกิดความสงบ ผ่อนคลาย ก็มาลงตัวที่ข้างสระน้ำตรงนั้นเป็นสระบัวพอดี 

อย่างที่สวนลุมฯ นี่จัดวางง่าย เป็นผลงานต้นไม้แห่งชีวิตของ อ.อนิก เพราะบริเวณนั้นมีต้นไม้ใหญ่อยู่แล้ว และโดยปกติสวนจะเป็นสถานที่พักผ่อนของคนไม่ว่าผู้หญิง ผู้ชาย ซึ่งเป็นเรื่องของครอบครัว เรื่องของจิตใจ ในสวนเราสามารถหยิบยกเรื่องเกี่ยวกับความรัก เรื่องเกี่ยวกับชีวิต แนวคิดปรัชญาได้ ผลงานชิ้นนี้ก็พูดถึงเรื่องความรัก ชีวิตคู่ที่เปรียบเสมือนต้นไม้ ต้องรดน้ำพรวนดิน ต้องคอยดูแลให้เจริญงอกงาม” 



ส่วนผลงานของอาจารย์เขียน 2 ชิ้น คือ “Protector” กับ “ส่องกระจก” ผศ.ถนอมจิตร์ เลือกติดตั้งที่เดียวกัน เพราะไปสำรวจพื้นที่หลายครั้ง จะพบว่าในช่วงแดดคล้อยจะมีเด็กๆ มาเล่นที่สนามเด็กเล่นเยอะ และมีพ่อแม่คอยเฝ้ามองอยู่ใกล้ๆ ซึ่งทั้งสองผลงานให้ความรู้สึกไปในทิศทางเดียวกัน คือ ความอบอุ่น นุ่มนวล ที่สำคัญที่เลือกงานชุดนี้ เพราะอยากให้บรรยากาศในสวนมีความนุ่มนวลมากขึ้น ช่วยให้บรรยากาศดูผ่อนคลาย 

ส่วนผลงานที่ชื่อ สุริยัน ลักษณะงานเป็นรูปทรงที่คลี่คลายมาจากรูประฆัง ซึ่ง อ.วิชัยทำงานที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาอยู่แล้ว แนวคิดอาจารย์จะพูดถึงเรื่องการเตือน คนเรามาจากสิ่งที่เป็นธรรมชาติในที่สุดก็คืนธรรมชาติ เตือนประชาชนว่าคนเราต้องอยู่ในศีลในธรรม จริงๆ แล้วผลงานนี้ต้องการให้อยู่บริเวณสวนที่มีวัดแต่หายาก จึงมาลงตัวที่เชิงสะพานพระปกเกล้าฯ 



“ผลงานเดอะมูน เราต้องการพื้นที่เปิด เพราะผลงานเป็นรูปวงกลมสามลูกวางซ้อนๆ ต่อกันขึ้นไป เราต้องการพื้นที่ให้เห็นท้องฟ้าเยอะๆ สามารถจินตนาการได้ และจุดนี้ (สวนสาธารณะใกล้วัดเสมียนนารี) ประชาชนผ่านเยอะ ติดกับป้ายรถเมล์คนรอรถก็จะเห็น ขับรถวิ่งผ่านก็สามารถมองเห็น และรูปทรงเป็นร่วมสมัย ดูแล้วเข้าใจได้ง่าย ดังนั้นการหาพื้นที่ให้ศิลปะอยู่ก็จำเป็น ต้องหาพื้นที่เพื่อให้ความหมายของการได้แสดงออกอย่างเต็มที่ ให้เห็นมุมต่างๆ” 

เอ๊ะ! นั่นอะไร... งามจริงหนอ 

โดยปกติแล้วผลงานศิลปะทุกแขนงมีจัดแสดงทั้งแบบถาวรและหมุนเวียนให้ได้ชมกันตามหอศิลป์ต่างๆ ของภาครัฐและตามแกลเลอรีของภาคเอกชนอยู่แล้ว แต่จะว่าเป็นเพราะพื้นที่ในการจัดแสดงมีน้อย ไม่ทั่วถึง ยากแก่การเข้าไปชม หรือจะเป็นเพราะว่าคนที่จะเข้าไปชมนั้นเป็นกลุ่มที่มีความสนใจเฉพาะ ส่งผลให้งานศิลปะจึงยังอยู่ในแวดวงจำกัดเท่านั้น 

เช่นนั้นแล้วการนำผลงานศิลปะออกมาจัดวางในที่แจ้ง พื้นที่สาธารณะจึงเป็นอีกกลวิธีหนึ่งที่จะดึงความสนใจคนมาสู่งานศิลปะมากขึ้น ผศ.ถนอมจิตร์ ให้ความเห็นว่า “โดยตัวงานศิลปะสามารถดึงผู้ชมได้อยู่แล้ว คนเห็นจะ... เอ๊ะ! นั่นรูปอะไร นั่นล่ะตัวมันเองทำหน้าที่อยู่แล้ว ซึ่งผลงานที่เราคัดเลือกมาจะเป็นผลงานประติมากรรมประเภทโมเดิร์นอาร์ต หรือคอนเทมโพรารี ซึ่งแนวนี้จะเป็นตัวดึงให้คนเข้ามาดูมากขึ้น ขับรถ นั่ง เดินผ่าน ก็ทำให้คนเกิดความสนใจ สงสัย แล้วค่อยให้เขาเข้ามาค้นหาความหมาย 

ทุกงานมีความหมายของมันเอง แต่พอคนเข้ามาดูจะเห็นคล้อยตามได้มากน้อยแค่ไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง บางคนมีประสบการณ์ต่างกัน บางคนมาดูไม่รู้เรื่องด้วยซ้ำ แต่พอมาเห็น มาอ่าน มาศึกษา ก็อาจจะรู้สึกด้วยมากหรือน้อย อย่างน้อยๆ ก็เป็นการดึงคนเข้ามาสนใจในเรื่องของศิลปะ จากวันหนึ่งมีปัญหาเรื่องชีวิตมาพักผ่อนที่สวนดูงานศิลปะ ห้านาทีสิบนาทีก็ทำให้จิตใจคลายเครียด ศิลปะต้องการแค่นี้ล่ะ” 



ประติมากรรมที่ติดตั้งในสวนทุกจุด จะมีป้ายโลหะสลักแนวความคิดที่มาของผลงานแต่ละชิ้นไว้ด้วย อาทิ ผลงาน “สังคมแห่งความงอกงามของคุณธรรม” มีแนวความคิด ขอให้มวลมนุษย์ร่วมกันปลูกพืชพันธุ์แห่งคุณธรรมให้เจริญงอกงามขึ้น โดยเริ่มจากตนเองแล้วแพร่ขยายให้กว้างขวางออกไป เป็นสิ่งแวดล้อมแห่งความดีและความงาม เพื่อความสะอาด ความสวย ความสว่าง และความพอเพียงของการดำรงชีวิตในสังคม หรือประติมากรรม “3 Worlds” ลักษณะของรูปทรงกลมที่เป็นรูปทรงสากลให้ความหมายกว้าง แต่ก็ให้ความหมายเจาะจงในขณะเดียวกันด้วย ลักษณะเส้นรอบนอกที่วิ่งเป็นเส้นโค้งมาประจบกันมีความหมายและให้ความรู้สึกไม่สิ้นสุด การกำหนดให้มีพื้นที่ว่างภายในรูปทรงโดยการเจาะด้วยเส้นตรงในแนวตั้ง แนวเฉียง และแนวนอน แล้วกำหนดขอบเขตของที่ว่างภายในให้ขนานกับเส้นรูปทรงภายนอก ส่งผลให้รู้สึกเบาและเคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง การเคลื่อนไหวของโลกจะหมุนด้วยภายในและสภาวะภายนอกที่ผลักดันอยู่ตลอดเวลา 

ผลงาน “ช้างเศวตฉัตร” ตามประวัติศาสตร์เป็นช้างคู่บ้านคู่เมือง ศ.ศิลป์ พีระศรี ได้สเกตช์ต้นแบบเพื่อนำไปขยายเพื่อประกอบการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ดอนเจดีย์ และให้ลูกศิษย์ศึกษาโครงสร้างทางกายวิภาคของช้าง ช้างเศวตฉัตรเชือกดังกล่าวมีความสวยงามด้วยโครงสร้างที่บ่งบอกถึงลักษณะช้างหนุ่ม แสดงความแข็งแรงและสง่างาม ซึ่งเป็นผลงานชิ้นสำคัญของ ศ.ศิลป์ พีระศรี 

รายงานโดย :มัลลิกา นามสง่า 
บันเทิง - ไลฟ์สไตล์ 
วันอังคารที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2552 
ที่มา : PostToday
รายงานโดย :มัลลิกา นามสง่า
วันอังคารที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2552

Views: 455

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service