การบรรยาย ศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วิชา: ศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดย วิภาช ภูริชานนท์ และ หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน


ศิลปะร่วมสมัยเป็นปรากฏการณ์ของโลกยุคโลกาภิวัฒน์ และโลกหลังสมัยใหม่ ที่โลกตะวันตก เริ่มหัน มาพยายาม เข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรมของภูมิภาคอื่น ในขณะเดียวกับที่ภูมิภาคอื่นๆนอก วัฒนธรรมตะวันตก ก็พยายามที่จะทำความเข้าใจเข้าใจตนเองใน หลากหลายทิศทางที่แตกต่างจาก กระบวนทัศน์แบบตะวันตก ซึ่งทำให้ความ “ร่วมสมัย” กลายเป็นวิธีการมองโลก ที่แสดงให้เห็นถึง ความเข้าใจถึงสภาวะของความหลากหลายที่ดำรงอยู่ “ร่วม” กัน วิธีคิดดังกล่าวทำให้การดำรงอยู่ของมนุษย์ภายใต้ “ความแตกต่าง” ดูจะเป็นไปได้มากขึ้น ในขณะที่ศิลปะนอกจาก จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแสดง ความแตกต่างแล้วก็ยังเป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับการแสวงหาจุดร่วมทางสังคมวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น เป็นเครื่องมือในการแสวงหาจุดร่วมของประชาคมอาเซียน คำถามคือเราจะเข้าใจการ เปลี่ยนแปลง ไปของศิลปะภายใต้อิทธิพลของสังคมวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มี ความเฉพาะซับซ้อนได้อย่างไร ในเมื่อศิลปะ นั้นไม่ได้ดำรงอยู่ในโลกอย่างโดดเดี่ยว แต่เป็นองคาพยพหนึ่งในประวัติศาสตร์ การดำรงอยู่ ของมนุษย์ และทำหน้าที่เสนอ คำถามให้กับสภาวะ “ปัจจุบัน” ของสังคมวัฒนธรรมที่ผลงานศิลปะดำรงอยู่ ในภูมิภาคที่การซ้อนทับทางประวัติศาสตร์ ความทรงจำ และ อุดมการณ์รัฐชาติ นั้นทั้งซับซ้อนและขัดแย้ง ศิลปะเคยมีบทบาทเช่นไร หรือ “น่าจะ” มีบทบาทเช่นไร ดูจะเป็นคำถามสำคัญของนักประวัติศาสตร์ศิลปะ การบรรยายวิชานี้จึงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่พัฒนาการทางรูปแบบ ศิลปะของศิลปะร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่รวมไปถึงกระบวนการที่ศิลปะมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม และการที่ สภาพเศษฐกิจและ สังคม ให้อิทธิพลกับศิลปะ รวมถึงความเป็นไปได้ที่ศิลปะจะมีส่วนในการวิพากษ์สังคม จากในบริบทของ ชุมชน รัฐชาติจนถึงระดับภูมิภาค


โครงสร้างการบรรยาย จะเน้นหนักไปที่ การเสวนา ผสมกับการบรรยาย ผู้ร่วมโครงการจำเป็นที่จะต้องอ่าน เอกสาร ประกอบก่อนคาบเรียนทุกครั้ง ผู้สอนคาดหวังว่าผู้เข้าร่วมโครงการจะ เข้ามาในห้องเรียน พร้อมกับคำถามจาก เอกสารประกอบการสอน การบรรยายออกเเบบมาให้ผู้ร่วมโครงการ นำเอาเอกสาร ประกอบการบรรยาย รวมไปถึง เหตุการณ์ ปัจจุบันมาเป็นตัวอย่างในการสนทนาและถามคำถามโดย ผู้บรรยายจะทำหน้าที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของ เหตุการณ์เหล่านั้นเข้าในบริบทภูมิภาค


คุณสมบัติผู้สมัคร:

- เป็นผู้สนใจในด้านศิลปะวัฒนธรรม

- จบการศึกษาชั้นมัธยมปลาย เป็นอย่างน้อย มีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะมาบ้าง

- มีทักษะในการ พูด/ฟัง/อ่าน/เขียน ภาษาไทยอยู่ในระดับดี

- กรุณากรอกใบสมัคร พร้อมแนบประวัติโดยย่อ


หมายเหตุ:

ค่าเล่าเรียน: คนละ 5,000 บาท / การบรรยาย 8 ครั้ง

สำรองที่นั่งและสอบถามรายละเอียดการโอนเงินที่คุณ โสมสุดา เปี่ยมสัมฤทธิ์ โทร: 081 409 7680

การสำรองที่นั่งไม่ถือว่าเป็นการยืนยันเข้าร่วมคลาสเรียน การยืนยันเข้าร่วมคลาสเรียนหลังจากส่งสำเนาการโอนเงินแล้วเท่านั้น หมดเขตรับสมัครภายใน วันที่ 4 สิงหาคม 2555 จำนวนจำกัด 20 คน *

รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ : โสมสุดา เปี่ยมสัมฤทธิ์ 081 409 7680

อีเมล์ : education@ jimthompsonhouse.com

ตารางการสอน


Class 1: อะไรคือประวัติศาสตร์ของศิลปะร่วมสมัย (พุธที่ 8 ส.ค. 55 / 18.00น - 21.00น)

อะไรคือประวัติศาสตร์ศิลปะ? ประวัติศาสตร์ศิลปะ? ศิลปะในกรอบทฤษฏีไหน และประวัติศาสตร์ตามหลักทฤษฏีอะไร? การศึกษาประวัติศาสตร์ก่อนสมัยใหม่ในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัญหาของการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะ ของ ศิลปะร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


เอกสารประกอบการสอน

นอรา เทย์เลอร์ “การสั่นคลอนกลุ่มผู้มั่นในอำนาจ: การวิจัยศิลปะร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” พลังการวิจารณ์ทัศนศิลป์. กรุงเทพ: มิ่งมิตร, 2547. 605-609.

นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์. “ปรัชญาการสร้างสรรค์ศิลปะเอเชียในอดีต” 20 ชั่วโมง how to be Artists?. เชียงใหม่: มูลนิธิที่นา. 60-71.


Class 2: สมัยใหม่ หรือ หลายสมัยใหม่? หลังอาณานิคม แล้วอะไร? (ศุกร์ที่ 10 ส.ค. 55 / 18.00น - 21.00น)

ความเป็นสมัยใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อะไรคือความเป็นสมัยใหม่? อะไรคือศิลปะสมัยใหม่? การเข้ามาของศิลปะสมัยใหม่ หน้าที่ทางการเมืองและวัฒนธรรมของศิลปะจากตะวันตก

เอกสารประกอบการสอน

ธงชัย วินิจจะกุล. “ภูมิกายาและประวัติศาสตร์” ฟ้าเดียวกัน. ปีที่ 6, ฉบับที่ 3, กรกฏาคม - กันยายน 2551. 84-118.

เบน แอนเดอร์สัน. “สำมะโนประชากร, แผนที่, พิพิธภัณฑ์” ชุมชนจินตกรรม. กรุงเทพ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2552. 297-341.


Class 3: ศิลปะชาตินิยม กับ นานาชาตินิยม และการเบี่ยงเบน (จันทร์ที่ 13 ส.ค. 55 / 18.00น - 21.00น)

ศิลปะเอเชียหลังการล่มสลายของจักวรรดินิยม มรดกสิ่งหลงเหลือของการปกครองและศาสนาจากก่อนสมัยใหม่ การเข้ามาของกระแสศิลปะแบบซ้าย ที่ปะทะกับแนวคิดชาตินิยมขวาจัดของประเทศหลังอาณานิคม ความย้อนแย้ง ทางอุดมการณ์รัฐ อุดมการณ์การเมือง และพฤติกรรมการเบี่ยงเบนของศิลปะแบบซ้ายเก่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เอกสารประกอบการสอน

จิตร ภูมิศักดิ์. “ ‘ศิลปเพื่อชีวิต’ ความหมายของมันโดนแท้จริงเป็นไฉน?” ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน. กรุงเทพ: ดอกหญ้า, 105-158.

สุธี คุณาวิชชยานนท์. “ศิลปะ: ชาตินิยมกับความเป็นไทย” นิโอ ชาตินิยม. 2005: สูจิบัตร. 79-98.


Class 4: ศิลปินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โลกาภิวัฒน์ และ โลกหลังรัฐชาติ (พุธที่ 15 ส.ค. 55 / 18.00น - 21.00น)

กว่าจะร่วมสมัย ความเป็นเอเชียของตะวันตกในโลกสหวัฒนธรรม โลกาภิวัฒน์ และหลังอาณานิคม โดนศึกษาจาก กระบวนการที่ศิลปินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระดับแนวหน้าพูดถึงอัตลักษณ์ของตนเองผ่าน งานของพวกเขา ตัวอย่าง กรณีศึกษา Rirkrit Tiravanija, Navin Rawanchaikul, และ Jun Nguyen-hatsushiba รวมไปถึงนิทรรศการศิลปะ ร่วมสมัยจากเอเชียในต่างประเทศอย่าง “TRADITIONS/TENSIONS”

เอกสารประกอบการสอน

บันฑิต จันทร์โรจนกิจ. “กว่าจะร่วมสมัย: สุนทรียศิลปการเมืองในงานศิลปะของ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช” ไร้แก่นสาร. เชียงใหม่: หอศิลปะวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

เดวิท เทห์. “และแล้วความเคลื่อนไหวไม่ปรากฏ” อ่าน. ปีที่ 3, ฉบับที่ 2, มกราคม - มีนาคม 2554, 142-161.


Class 5: อุดมการณ์รัฐชาติ ประวัติศาสตร์กระแสหลัก ความทรงจำและการต่อต้านของศิลปิน (ศุกร์ที่ 17 ส.ค. 55 / 18.00น - 21.00น)

ประวัติศาสตร์การต่อสู่ระหว่างศิลปิน กลุ่มศิลปะ และระบบการคัดกรองของรัฐชาติในเอเชีย ตะวันออก เฉียงใต้ เน้นกรณีศึกษาในประเทศกำลังพัฒนา ความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ และความทรงจำ


***ดูนิทรรศการ “ร่องรอย” (T R A C E S) นิทรรศการงานวิดีโอ และภาพถ่าย ที่จะร่วมรื้อค้นความ ทรงจำร่วมในสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน***


Class 6: ศิลปะการมีส่วนร่วม และ พัฒนาการประชาธิปไตย (จันทร์ที่ 20 ส.ค. 55 / 18.00น - 21.00น)

ศิลปะการมีส่วนร่วม (Relational Art) กับพัฒนาการของประชาธิปไตยมักจะมีพัฒนาการร่วมกันเสมอ ศิลปะในรูปแบบนี่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเวลาที่ใกล้เคียงกับทางตะวันตก ทำให้ศิลปะการ มีส่วนร่วมเป็นอุปกรณ์ในการวัดพัฒนาการของประชาธิปไตยได้ดีพอๆ กับที่ประชาธิปไตยในรัฐชาติสามารถ ถูกนำมาวัดพัฒนาการของศิลปะกรณีศึกษาหลักของการบรรยายครั้งนี้คือกรณีของนิทรรศการโดย ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวานิช ใน who’s afraid of red, yellow and green? และประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย

เอกสารประกอบการสอน

มุกหอม วงษ์เทศ. “Who’s Afraid of Arts, Artists and the Art World?” อ่าน. ปีที่ 3, ฉบับที่ 1, ตุลาคม-ธันวาคม 2553, 13-34.

ธนาวิ โชติประดิษฐ. “เกินแกง” อ่าน. ปีที่ 3, ฉบับที่ 1, ตุลาคม-ธันวาคม 2553, 37-46.


Class 7 : พื้นที่ทางเลือก และประวัติศาสตร์สังคมของศิลปะร่วมสมัย (พุธที่ 22 ส.ค. 55 / 18.00น - 21.00น)

พื่นที่ศิลปะสำคัญแค่ไหน ทำไม่ศิลปะร่วมสมัยจึงต้องการพื้นที่ทางเลือก พัฒนาการของพื้นที่ทาง เลือกในประเทศไทย เวียดนาม กัมพูชา พม่า สิงคโปร์ และ อินโดนิเซีย กรณีศึกษา: The land foundation, Ver Gallery, About Cafe, Artist Village (SG), Substation (SG), San Art (VN) รวมไปถึงนิทรรศการ ศิลปะชุมชนอย่าง Quiet in the Land และ Ho-Chi-Minh Trail

เอกสารประกอบการสอน

ธนาวิ โชติประดิษฐ. “ที่ตรงนี้ ‘พื้นที่’ หรือ ‘ช่องว่าง’ ?” เข้านอก / ออกใน: รวมบทความสัมภาษณ์ และบทความศิลปะร่วมสมัย. กรุงเทพฯ :สเกล,2548.

คาเรน ดีมาวีวาส. “ที่นา” ไร้แก่นสาร. เชียงใหม่: หอศิลปะวัณนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 86-126.


Class 8: เวทีนานาชาติ ประชาคมอาเซียน และอนาคตของศิลปะร่วมสมัย (ศุกร์ที่ 24 ส.ค. 55 / 18.00น - 21.00น)

ลี เว็ง ชอย นักวิจารย์ศิลปะชาวสิงคโปร์กล่าวติดตลกมาโดยตลอดว่า ศิลปะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือสิ่งที่ “กำลังจะมา” ในโลกศิลปะ แต่มัน “ไม่เคยมาถึงเสียที” คำถามคืออะไรทำให้ศิลปะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่เคยประสบความสำเร็จในเวทีระดับนานาชาติตามเทศกาลศิลปะต่างๆ ประมวลการทำงานของ ศิลปินไทยในศาลาไทยของ เวนิส เบียนนาเล่ และ Documenta โดยเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

เอกสารประกอบการสอน

เดวิท เทห์, “ภยันตรายของยูโทเบีย: นาข้าวขั้นบันได ของสาครินทร์ เครืออ่อน” อ่าน. ปีที่ 2, ฉบับที่ 2, ตุลาคม - ธันวาคม 2552. 140-151.

เวนิช เบียนนาเล่ (TBA)


เกี่ยวกับผู้บรรยาย

วิภาช ภูริชานนท์ เป็นคิวเรเตอร์อิสระ และนักประวัติศาสตร์ศิลปะ สำเร็จการศึกษาจากภาควิชา ประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปริญญาโทในสาขา Modern Art History, Theory and Criticism และ Arts Administration and Policy ที่ School of the Art Institute of Chicago ในประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันกำลังศึกษา ปริญญาเอก ในสาขา Curatorial Knowledge อยู่ที่ Goldsmiths, University of London ประเทศอังกฤษ ความสนใจหลักของวิภาช คือประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัยของประเทศไทย ในบริบทของ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบริบทของโลกศิลปะโดยรวม รวมไปถึงความสัมพันธ์ของศิลปะ และสังคมวัฒนธรรมมวลรวมของเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ วิภาช เขียนบทความให้กับนิตยสารอย่าง Fine Art Magazine ตั้งแต่กำลังศึกษาอยู่ในภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ รวมไปถึงเป็นผู้เขียนสูจิบัตรให้กับ ศาลาไทย ใน เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 50 ปัจจุบันกำลังวิภาชทำงานวิจัย เกี่ยวกับ ประวัติศาสต์สังคมของศิลปะร่วมสมัยในภูมิภาคแม่โขง เขายังเป็นผู้ช่วยคิวเรเตอร์ให้กับโครงการศิลปะ อย่าง Brandnew 2008 ก่อนที่จะไปทำงานในตำเเหน่งผู้ช่วยคิวเรเตอร์อยู่ที่ Sullivan Galleries ที่ School of the Art I
nstitute of Chicago และคิวเร็ตนิทรรศการอย่าง 31st Century Museum of Contemporary Spirit Laboratory @ Chicago ของ คามิน เลิศชัยประเสริฐ ศิลปินชาวไทยที่ชิคาโก


ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ

คุณโสมสุดา เปี่ยมสัมฤทธิ์ 081 409 7680

อีเมลล์: education@jimthompsonhouse.com


หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน

6 ซอยเกษมสันต์ 2 ถ.พระราม 1 ปทุมวัน กทม 10230

สำนักงาน: 02.219.2911 / 02.612.6741

อีเมล์: artcenter@jimthompsonhouse.com

เว็บไซต์: www.jimthompsonhouse.com / www.thejimthompsonartcenter.org

Views: 936

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service