สุนทรียศาสตร์อันล้ำลึกของ 'อังคาร กัลยาณพงศ์'

ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) นาม 'อังคาร กัลยาณพงศ์' หรือที่คนรุ่นหลังเรียกขานด้วยความเคารพว่า 'ท่านอังคาร' ประกาศอย่างงดงามอลังการไว้ในบทกวี "ปณิธานกวี" ว่า "จะไม่ไปแม้แต่พระนิรพานฯ" 

และในวัยวันสู่ปีที่ 81 ของชีวิตจินตกวีอย่างท่านอังคาร เขายังคงยืนยันและยืนหยัดอย่างหนักแน่นว่าชาติที่แล้วเขาเป็นกวี ชาตินี้ก็เป็นกวี และชาติหน้าเขาก็ยังคงจะเป็นกวีอีกต่อไป..... 

ท่านอังคารหลงใหลในกาพย์กลอนตั้งแต่เป็นนักเรียนชั้นประถม เขาชอบอ่านวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์, อิเหนา, ขุนช้างขุนแผน มาตั้งแต่เด็ก นอกจากชอบอ่านหนังสือแล้ว ท่านอังคารยังชอบวาดรูปและเล่นสร้างโบสถ์ เจดีย์ ทำกำแพงที่ใต้ถุนบ้าน ซึ่งต่อมาภายหลังเขาก็ได้เข้ามาเรียนศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง และศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ในคณะประติมากรรม รุ่นเดียวกับอาจารย์ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ, อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ (น. ณ ปากน้ำ) ซึ่งต่อมาท่านเหล่านี้ได้กลายเป็นเสาหลักแห่งแวดวงศิลปวัฒนธรรมไทย 

ท่านอังคารยังได้ออกไปช่วยอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ คัดลอกภาพจิตรกรรมโบราณตามเมืองสำคัญต่างๆ เช่น อยุธยา, สุโขทัย, ศรีสัชนาลัย, เพชรบุรี เป็นต้น ต่อมาได้พบกับ ส.ศิวรักษ์ ผู้ก่อตั้งหนังสือ 'สังคมศาสตร์ปริทัศน์' ซึ่งได้รวบรวมและตีพิมพ์เผยแพร่บทกวีของอังคารเป็นเล่มครั้งแรกต่อสาธารณชนตั้งแต่ พ.ศ.2507 เป็นต้นมา ซึ่งก่อให้เกิดปฏิกิริยาจากนักเลงกลอนและผู้อ่าน อันเนื่องมาจากบทกวีแนวแหวกฉันทลักษณ์ของเขา 

เกียรติยศแห่งชีวิตมนุษย์ 
ท่านอังคาร ได้พยายามมาแล้วที่จะทำหน้าที่เป็นมโนธรรมให้แก่สังคมด้วยการเตือนสติเพื่อนร่วมชาติให้ตื่นขึ้นรับความจริงว่า เรากำลังถูกครอบงำด้วยวัตถุนิยมเพียงใด 

"ชีวิตผมไม่ขึ้นอยู่กับเวลา ผมเป็นเอกราช คนส่วนมากในโลกเป็นเมืองขึ้นของเวลา เจ้านายอยู่ที่ข้อมือ ผมไม่ค่อยเอาเรื่องกับวันคืน วันเกิดก็ไม่เคยนึกอยากจัด วันเกิดคือวันที่เราร้องอุแว้ คนสมัยนี้ก็ไปกินเหล้าเมามาย อุ่นเรือง (ภรรยาคู่ชีวิตของท่านอังคาร) ยังแสดงความคิดเห็นว่า วันเกิดคือวันที่แม่ลำบาก บางคนจะตายเอาด้วยซ้ำกับการคลอดลูก 

"ทุกวันนี้ผมก็สร้างงานไปตามวีถีที่บรรพบุรุษเคยสอนมา คุณค่าของบรรพบุรุษมันจึงอยู่ในทุกเส้นผมของสามัญสำนึกของเรา พระยาลิไทท่านก็ได้สร้างพระพุทธชินราชไว้แล้ว เราจะไม่มีหัวใจที่กว้างขวางพอในการแบ่งปันน้ำใจลงใน กระแสธารศิลปะวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษเราสร้างมาหรือ? 

"ความคิดอุดมคติที่พระยาลิไทท่านวางไว้เราก็ยังใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้ ผมก็เหมือนกันความคิดต่างๆของบรรพบุรุษที่มีค่ามาสืบต่อ มาศึกษาเล่าเรียน นำมาแยกแยะ วิจัย วิจารณ์ อันไหนดีก็นำมาขายกันต่อไปเหมือนที่ผมเขียนรูปผู้หญิงซึ่งมีเส้นผมเป็นกนก ก็เหมือนกับความสำนึกของเราที่สำนึกถึงคุณค่า และคุณงานความดีของบรรพบุรุษทุกเส้นผม 

"การเป็นกวีก็ต้องเป็นกวีอยู่ทุกลมหายใจ คือโดยหลักจริงๆ แล้วผมยังเขียนบทกวีอยู่เรื่อย ๆ จะชำระของที่ดูไม่ค่อยเรียบร้อยให้เรียบร้อย ให้หมดจดขึ้น มีถ้อยคำที่ลงตัว คือพูดง่ายๆ ว่า ถ้าเราตายไปแล้ว เราก็หมดโอกาสที่จะเปิดฝาโลงขึ้นมาชำระโคลงของเราให้เรียบร้อย คนที่เขียนกวี ถ้าบทกวีชิ้นใดไม่สมบูรณ์ ก็เหมือนเราไปปรโลกแล้วยังมีห่วงอยู่" กวีแห่งยุคของไทย เล่าให้ฟัง สถานะของศิลปินในสังคม 

ศิลปินหรือกวีมีอหังการ ส่วนหนึ่งก็คงจะมิใช่เป็นเรื่องของความคิดเชิงสุนทรียศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียว หากแต่สิ่งแวดล้อมกำหนดให้ศิลปินต้องสื่อความที่หนักแน่น พูดภาษาชาวบ้านก็คงจะเป็นว่า ถ้าสังคมหลับใหลในเรื่องของสุนทรียภาพและในเรื่องของปัญญาความคิด ศิลปินก็จะต้องออกแรงเป็นพิเศษในการที่จะปลุกให้สังคมนี้ตื่นจากภวังค์ 

"งานของมนุษย์มันเป็นประโยชน์ต่อสังคมทุกอย่าง แม้แต่คนที่ไม่ทำอะไรคิดสกรูขึ้นมาสักตัวมันก็มีประโยชน์แล้ว มนุษย์นั้นเป็นสัตว์สังคม เราอยู่กันแบบที่มดมันอยู่เป็นกลุ่มเป็นพวก ฉนั้นผลงานอะไรก็ตามของมนุษย์ที่ทำขึ้นก็เป็นผลถึงสังคมมนุษย์ด้วย มันเป็นเหตุเป็นผลหมด เหมือนกับการที่เราได้รับผลจากการที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ อย่าว่าแต่เราเลยต้นข้าวสักต้นเวลามันแตกรวงมามันก็มีประโยชน์ทำให้มนุษย์ได้กินข้าว หมูที่เราดูถูกมันว่าสกปรก แต่วันหนึ่งต้องมาเป็นข้าวขาหมูซึ่งก็ช่วยเหลือคน บ้างก็ให้นักกีฬากินจนสามารถไปได้เหรียญทองมา พอได้เหรียญทองมาไม่เห็นมีใครแบ่งให้หมูบ้างเลย 

"ผมเขียนบทกวีจะไม่มีประโยชน์ต่อมนุษย์ได้อย่างไร อย่างน้อยมันก็ยกระดับหัวใจมนุษย์ให้ดีขึ้น"ท่านอังคารกล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น 

ท่านอังคาร ยังให้ทัศนะเกี่ยวกับการทำงานศิลปะว่า เหมือนกับการเติบโตของต้นไม้ จะค่อยๆ เติบโตทีละใบสองใบแล้วแตกดอกออกผล ส่วนการจัดแสดงผลงานครั้งนี้ถือเป็นการแสดงรูปและบทกวีที่มีอิทธิพลความงามของบรรพบุรุษ สำนึกถึงคุณค่าอันแท้จริงของบรรพบุรุษของเรา แล้วพยายามดำรงรักษาคุณค่าอันนั้นสืบไป 

"ทุกวันนี้ผมไม่ใช่ผู้จัดการ ผู้แทน หรือนายกอะไรของกวี ผมก็ดูอยู่ทุกคนมันอยู่ที่หัวใจของแต่ละคน ถ้ามีใจรักจริงสักพักเดี๋ยวก็สามารถขึ้นมาได้เอง ก็มีหลายคนที่เขามีใจรักคนที่มันมีใจรักจริงๆ คงปรากฏงานมาให้สังคมได้เห็น เหมือนเราเป็นต้นไม่ใหญ่ในป่า เราก็เติบโตขึ้นมาเวลาที่ถึงฤดูมธุรสออกดอกออกผล บางต้นก็มีกำลังแรงก็บานออกหอมสะพรั่งไปในป่า บางต้นมีดอกน้อยก็หอมเฉพาะในระแวกนั้น แล้วแต่มนุษย์ที่เกิดมาถ้าเขามีบุญบารมีสั่งสมในทางนี้มากเขาก็แสดงออกได้มากเหมือนกับต้นไม่ใหญ่ที่ออกดอกแล้วหอมสระพรั่งไปทั้งป่า"ท่านอังคารกล่าว 


แสดงสติปัญญาของกวี 
"การที่ผมเกิดเป็นอังคาร กัลยาณพงศ์ ผมมั่นใจว่าผมไม่ไปซ้ำกับใครแน่นอนมีอยู่คนเดียว ผมก็ใช้หัวใจของผม ใช้ทัศนะของตัวเอง วิญญาณของตัวเอง การแสดงรูปและบทกวีมันก็เหมือนกับการแสดงสติปัญญาของเราว่าคิดได้มากน้อยแค่ไหน เหมือนเราเป็นกล้วย ถ้าเราจะทำประโยชน์ให้กับโลกมนุษย์ เราจะออกผลสักกี่หวี เพื่อให้ใครนำไปใช้ประโยชน์ก็ได้ 

"การวาดรูปกับการแต่งบทกวีต้องใช้ความคิดกับจินตนาการ และหัวใจดวงเดียวกัน อาจจะผิดกันในเรื่องเทคโนโลยีกับเทคนิค ทั้งงานเขียนรูปและเขียนหนังสือก็ต้องอาศัยมโนคติ บางคนเขาเรียก อิมเมจิเนชั่น ต้องมีจินตนาการและความคิด 

"รูปเราอาจจะไม่ได้แปลแบบปิกัสโซ่ก็ได้ เราแปลในแบบของเรา ผมแปลแบบไทยเป็นไทย อย่าไปหลงฝรั่งมากเพราะพวกนั้นมันไม่ยกย่องคนตะวันออกเท่าไหร่ เขาเห็นเราเป็นแค่ลิงสีน้ำตาลชนิดหนึ่ง แม้แต่น้ำหมึกที่เขาส่งมาก็เป็นเพียงน้ำหมึกชั้นเลว เมืองขึ้น อาณานิคมจะไปใช้ของดีได้อย่างไร เขาดูถูกคนตะวันออกเราก็เหลือแต่เราเปล่าเปลี่ยวเราจึงต้องหันมานับถือคุณค่าของปู่ ย่า ตา ยาย ไม่เช่นนั้นเราก็จะไม่มีอะไรให้นับถือ 

"ผมก็ยืนอยู่ในจุดที่หัวใจ และวิญญาณของผมกำหนด ผมเป็นกวีมาแล้วจากชาติปางก่อน ผมก็ทำของผมไปเรื่อยๆ เพราะผมสมัครใจทางนี้ เพราะกวีเป็นผู้แปลความหมายของยูนิเวิร์ส ทำให้จักรวาลนี้มีความหมาย จักรวาลเขาสร้างทางช้างเผือก เขาสร้างดวงอาทิตย์ เวลาเดียวกันเขาสร้างโลกมนุษย์ เขาก็สร้างอังคารขึ้นมาด้วย ให้อังคารเข้าใจธรรมชาติของดอกไม้ ของอากาศ ถ้าไม่มีอังคารใครจะบรรยายกลิ่นหอมของดอกจันทน์กะพ้อว่าเป็นกลิ่นของสุโขทัย กวีมันเป็นเส้นประสาทของจักรวาล" 
ผลงานศิลปกรรมของท่านอังคาร 
เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ชื่นชมและศึกษาผลงานตลอดชีวิตของท่านอังคาร ทั้งบทกวีนิพนธ์และภาพเขียนจิตรกรรมที่สร้างสรรค์มาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มบนเส้นทางศิลปินจนถึงปัจจุบัน สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ประธานมูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป กล่าวว่า 

"นิทรรศการนี้ถือได้ว่าเป็นการแสดงผลงานศิลปะชั้นเลิศของท่านอังคารได้รับการเผยแพร่ต่อสาธารณชนมากที่สุด ผลงานของท่านอังคารด้านวรรณศิลป์เป็นบทกวีนิพนธ์ที่ลงลึกถึงอดีตรากเหง้าตั้งแต่ยุคกรุงสุโขทัยและอยุธยาจนถึงยุคปัจจุบัน ถ่ายทอดอารมณ์ความคิดแบบร่วมสมัยและมุ่งเน้นความลึกซึ้งทางพุทธศาสนาเป็นแก่นแท้ ส่วนผลงานจิตรกรรม หากว่ากันเฉพาะภาพเขียนลายเส้นด้วยดินสอเครยองที่ท่านอังคารถนัดแล้ว แม้แต่ปิกัสโซ่ศิลปินระดับโลกก็ยังสู้ไม่ได้ 

"ท่านอังคารได้เปรียบตรงที่แสดงออกได้ทั้งสองอย่างเพราะฉะนั้นเวลาแสดงออกมาทั้งกาพย์กลอนและจิตรกรรมด้วย และอังคารมีความเข้าใจลึกซึ้งในพุทธศาสนาจนกลายเป็นกระแสหลักในผลงานของท่านที่แสดงออกมา ตอนหลังคนจะอ่านอังคารยากขึ้นเพราะท่านอังคารจะแต่งแข่งกับกวีโบราณ แข่งกับเจ้าฟ้ากุ้ง พระยาตรัง แข่งกับศรีปราชญ์ คนที่ไม่ได้แตกฉานในกวีโบราณจะตามอังคารไม่ทัน แต่คนที่ติดตามงานท่านอังคารและติดตามงานกวีโบราณก็จะเข้าใจว่ามันมีความลึกซึ้งผิดแผกไปจากกวีร่วมสมัยคนอื่นๆ" สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เล่าถึงความเป็นเลิศในผลงานของท่านอังคาร 

"ท่านอังคารเป็นศิลปินจำนวนน้อยมากซึ่งสามารถแสดงออกได้ทั้งทางจิตรกรรมและวรรณกรรมโดยมีความเป็นเลิศทั้งสองทาง และอังคารนั้นผิดกับศิลปินร่วมสมัยทั่วๆ ไปตรงที่สามารถเข้าถึงวัฒนธรรมโบราณของเราทั้งในทางวรรณคดี จิตรกรรม ประติมากรรม เรียกว่าศิลปะแทบทุกอย่างจากอดีตท่านอังคารเข้าไปซับซับมาเป็นเลือดเป็นเนื้อของท่านหมดเลย ไม่ว่าจะสุโขทัย ศรีสัชนาลัย อยุธยา เพชรบุรี ธนบุรี " 

ทางด้าน หงษ์จร เสน่ห์งามเจริญ ศิลปินร่วมสมัย ในฐานะผู้ประสานงานการจัดนิทรรศการครั้งนี้ กล่าวว่า ท่านอังคารจะแสดงผลงานเดี่ยวแบบทิ้งทวนในวาระครบรอบ 81 ปี โดยรวบรวมผลงานจิตรกรรมกว่า 100 รูปที่มีเอกลักษณ์แสดงออกถึงความเป็นไทยอย่างเด่นชัด และบทกวีนิพนธ์ร่วมสมัยชิ้นเด่นๆ ที่เขียนด้วยลายมือของท่านอังคารกว่า 20 บท ผลงานเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นสมบัติของท่านอังคารและการสะสมของบุคคลต่างๆ เช่น อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ซึ่งคนทั่วไปไม่มีโอกาสได้ชม อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการรวบรวมผลงานศิลปะของท่านอังคารได้อย่างอลังการและสมบูรณ์แบบ 

ถ้าวงการศิลปากรให้ความสนใจต่องานของท่านอังคารเพียงเพราะท่านเป็นศิษย์เก่าก็คงจะเป็นการประเมินค่ามรดกทางวรรณศิลป์ของท่านต่ำเกินไป เพราะงานหลายๆ ชิ้นของท่านอังคารไม่ได้พูดกับประชาคมเล็กๆ เท่านั้น แต่พยายามจะสื่อความไปสู่คนจำนวนมาก ไปสู่มหาชนอันยิ่งใหญ่ แต่ความจริงอาจเป็นว่า ต่อให้ท่านพูดแรงเพียงใดมหาชนก็ยังหลับใหลอยู่ดี... 

ความเป็นเลิศทั้งในด้านกวีนิพนธ์และจิตรกรรมของท่านอังคาร ที่สั่งสมมาตั้งแต่วัยหนุ่มจนถึงปัจจุบัน จะได้รับการนำเสนอใน 'การแสดงผลงานศิลปกรรมของอังคาร กัลยาณพงศ์' จัดโดยมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ซึ่งงานครั้งนี้ได้รวบรวมผลงานทั้งภาพเขียนจิตรกรรมและบทกวีนิพนธ์ชั้นเลิศมากกว่า 100 ชิ้นมาให้ได้ชมกัน โดยจะเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าชมในวันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา12.30- 18.00 น. ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯ จัดแสดงจนถึงวันศุกร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 

นิทรรศการดังกล่าวไม่เพียงแต่จะมีการจัดแสดงบทกวีและภาพเขียนจิตรกรรมของท่านอังคารเท่านั้น ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมายเริ่มต้นจาก 

ศ.เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ กล่าวปาฐกถาเรื่อง "วิเคราะห์บทกวีร่วมสมัยอังคาร กัลยาณพงศ์" 

อาจารย์ แนบ โสตถิพันธุ์ บรรเลงเดี่ยวไวโอลิน การแสดงจินตกวี 

ชุดที่ 1 อ่านบทกวี "กวีนกนั้นฝันจนตาย" และ "ปณิธานวิญญาณกวี" ประกอบการเป่าขลุ่ยของสีแพร เมฆาลัย 

ชุดที่ 2 "ระบำนพรัตน์" ทำนองและเนื้อร้องของครูมนตรี ตราโมท ผู้ขับร้องและควบคุมโดยวงดนตรีดุริยประณีต 

ชุดที่ 3 "น้องเมืองคอนจะสืบสานกานต์กวี" โดยครูบุญเสริม แก้วพรหม และคณะกวีน้อยเมืองคอน ผู้ชนะเลิศการแต่งบทกวีกลอนสดทั่วประเทศ 

ชุดที่ 4 อ่านบทกวี "นกนางแอ่น" ประกอบการบรรเลงวงออเคสตร้า 

ชุดที่ 5 เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติอ่านบทกวีเคล้าคลอเสียงขลุ่ยของธนิศร์ ศรีกลิ่นดี 

ชุดที่ 6 ร้องเพลงเพื่ออังคาร กัลยาณพงศ์ แต่งโดยหงา คาราวาน 

ชุดที่ 7 การแสดงหุ่นละครเล็ก คณะโจหลุยส์ 

 

 

 

โดย : นาตยา บุบผามาศ

ที่มา : ผู้จัดการรายวัน / 10 กุมภาพันธ์ 2551

Views: 2746

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service