บัทม์ แก้วงอก : ปั้นดิน ปั้นเด็ก

“งานปั้น” ศิลปะเปื้อนดินจะทำให้เด็กๆ มีจินตนาการล้ำเลิศ และเป็นอัจฉริยะที่มีความอ่อนโยนไม่ต่างจาก ไมเคิล แองเจโล เพราะอยากหลีกหนีความวุ่นวายในเมืองหลวง จึงแอบย่องไปชมงานศิลป์ที่ RMA INSTITUTE วันนั้นโชคดีมีโอกาสได้พบกับ “บัทม์ แก้วงอก” 

ศิลปินเซรามิคชั้นครู เห็นเขากำลังขะมักเขม้นกับนิทรรศการ “ไร้รูป” (Unformed) ที่จะจัดขึ้นจนถึงวันที่ 23 กันยายนนี้ เพื่อโชว์แนวคิดผสมผสานอย่างลงตัวและกลมกลืน ระหว่างศิลปะแห่งการประดิษฐ์เครื่องปั้นดินเผา (เซรามิค) กับ ศิลปะการจัดดอกไม้ญี่ปุ่น อิเคบานะ (Ikebana) เมื่อได้สนทนาทำให้รู้ว่าเขาไม่ใช่แค่ “ศิลปินดินปั้น” แต่ยังเป็น “คุณครูปั้นดิน” ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ลูกศิษย์ทั่วบ้านทั่วเมือง 

พรสวรรค์ “ปั้นได้” 
อดีตเด็กหนุ่มจันทบุรีคนนี้ รู้ตัวเองว่าชอบศิลปะมาตั้งแต่ยังเด็ก จากความช่างสังเกตสังกา บวกกับจินตนาการเพี้ยนๆ 
เมื่อครูให้วาดรูปตามโจทย์ “บ้านของหนู” ซึ่งเพื่อนๆ มักวาดบ้านสี่เหลี่ยม มีภูเขา ต้นไม้ ก้อนเมฆ กันตามประสา แต่เด็กชายบัทม์จัดแจงวาด “บ้านอยู่บนใบบัว” เลยโดนใจครูศิลปะเป็นหนักหนา 

แล้วเขาก็เบนเข็มเลือกเดินบนทางศิลปะ มาเรียนวิทยาลัยช่างศิลป์ที่กรุงเทพในระดับ ปวช. แม้คนในครอบครัว จะไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่เขาก็มุ่งมั่นจะเรียนต่อในสาขาเซรามิคที่ตนเองหลงใหล และเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่นด้วยความมุมานะของตน 

“ผมชอบอะไรที่ทำมาจากมือ และเซรามิค คือคำตอบ แม้ตำราจะมาจากฝั่งยุโรปซะมาก แต่ผมก็ชื่นชอบแบบตะวันออกมากกว่า มันมีความเป็นเซน มีรากเหง้า และมีชีวิต” 

เมื่อเขาเขียนจดหมายไปขอเรียนรู้กับอาจารย์คันจิ คาตาราชิ หนึ่งใน 30 ศิลปินญี่ปุ่น ก็ใช้ความช่างสังเกตจนเจอเทคนิคการวางนิ้ว แอ็คชั่นต่างๆ หลังจากฝึกนวดดินอย่างเดียวอยู่ 6 เดือน จนอาจารย์ท่านนี้ส่งไปเรียนกับอาจารย์ท่านอื่นๆ เพิ่ม ทำให้เขาชำนาญและมีทักษะมากขึ้น ซึ่งกลับมาเมืองไทยก็พร้อมให้พิสูจน์กันที่ความบาง เสถียร ความสมดุล ลวดลายที่มีสไตล์ของเขา 

แต่เมื่อพัฒนาจนถึงขั้นหนึ่ง ก็อยากสร้างสรรค์งานสะท้อนปรัชญาและแนวคิด ซึ่งศิลปินคนนี้ เผยว่าคนไทยคุ้นเคยกับศิลปะที่ซ้าย-ขวาเท่ากัน ทุกอย่างต้องสมดุล ต้อง Balance แต่ในชีวิตจริงมันไม่บาลานซ์ 

และเมื่อเราต้องการหนีความงดงามตรงนี้ เราจะทำอย่างไร ถ้าเราสร้าง Unbalance คือ ความไม่สมมาตรขึ้นมา มันจะเป็นอย่างไร 

นั่นเป็นที่มาให้เกิดงานศิลปะไร้รูป ซึ่งเป็นความรู้สึกภายในที่มันเกิดขึ้น ไม่มีกรอบ ไม่มีอะไรเป็นตัวกำหนดในการทำงาน และเมื่อได้ทำงาน “ไร้รูปแบบ” สิ่งที่ได้คือ “ความสุข” 

และเขายังบอกต่ออีกว่า ผลงานที่มีรากฐานที่ดีนั้น ล้วนเกิดจากความไร้รูปแบบ และความอิสระทั้งนั้น จึงอาจสรุปได้ว่า ไม่มีการสร้างงานที่ดีอันใด จะเกิดขึ้นได้หากปราศจากรากฐานที่ดี 

อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า รากฐานที่ว่านั้น เขาต้องการสื่อถึง “เด็กๆ” ด้วยหรือไม่ อาจารย์บัทม์ยิ้มรับที่มุมปาก พร้อมพยักหน้างึกๆ 

“ปั้นดิน” ยิ่งเด็กยิ่งดี 
เขาคิดย้อนกลับไปในวัยเด็ก แล้วบอกว่าทุกครั้งที่ทำงานเหมือนเราได้เล่นดิน แล้วขณะที่เราปั้นนั้น ดินก็อยู่ในอุ้งมือ มือได้สัมผัสดิน ผู้ปั้นสามารถสัมผัสถึงธรรมชาติ เหมือนเราได้ย้อนกลับไปเป็นมนุษย์และความเป็นเด็กอีกครั้ง 

การปั้นเซรามิคจะทำให้มือได้ทำงานประสานกัน ประสาททุกส่วนได้ทำงานตลอดเวลาและคล่องตัวขึ้น 
อาจารย์บัทม์เล่าให้ฟังต่อว่า เด็กๆ ที่มาเรียนกับเขาก็จะชอบเซรามิคเป็นทุนอยู่แล้ว ยิ่งได้เรียนก็ยิ่งชอบ เพราะทำให้พวกเด็กๆ มีความคิดบรรเจิดถึงขีดสุด ดิน มีความมหัศจรรย์ สามารถดึงดูดความสนใจเด็กให้อยู่กับมันได้นานๆ มันมีทั้งแรงหน่วง แรงต้าน พอเผาออกมาเป็นอีกสีหนึ่ง ซึ่งน่าตื่นเต้นมาก 

เขาจะอธิบายกับเด็กๆ ต่อ ว่า เพราะดิน หิน ขี้เถ้า ไม้ น้ำ และไฟ คือธรรมชาติที่เป็นจุดกำเนิดของเซรามิค และเมื่อเราทำงานปั้นดิน ก็เหมือนกลับไปสู่ธรรมชาติ และความเรียบง่าย แต่เราก็ไม่อาจคุมธรรมชาติหรือดินให้ออกมาเป็นอย่างใจเรา 

“ยิ่งเราสอนเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน โดยดูลักษณะนิสัย แต่เล่นกับเขาให้มาก พอถึงเวลาส่งโจทย์ให้ไปแล้วปล่อยให้เด็กๆ จินตนาการเอง แค่ให้ทำที่ใส่แปรงสีฟันในบ้าน เราจะเห็นไอเดียกระฉูดจากทุกคน งานออกมาไม่เหมือนกันเลย” 

ครูบัทม์ บอกต่อว่าที่พิเศษไปกว่านั้น งานศิลปะชิ้นนี้ยังได้นำมาใช้งานจริง และพวกเขายังได้สมาธิ ใจเย็นขึ้น ฝึกความละเอียด ละเมียดละไม เพราะหากไม่ระวังก็อาจทำให้ผลงานที่ปลุกปั้นอยู่นานนั้น ตกแตกเสียหายได้ 

คุณครูบัทม์ แนะนำต่อว่า หากเด็กๆ สนใจการปั้น ควรเริ่มอย่างเป็นขั้นตอน อย่าก้าวกระโดด เพราะดินมีเลือดเนื้อเชื้อไข อย่ารุนแรงกับเขา และอย่าเอาพวกสารเคมีมาใช้กับงานเซรามิค เพราะมันมีสารปนเปื้อน ไม่ดีต่อสุขภาพ ที่สำคัญอย่าลอกเลียนแบบงานคนอื่น 

“เราต้องมีสไตล์ ไม่ต้องคิดพิสดาร เอาง่ายๆ เป็นลายเซ็นของตัวเอง แค่เราได้ทำงานที่มีความงามเกิดขึ้น และเป็นผลงานที่เปี่ยมไปด้วยความสุข มีคนชื่นชมเพียงคนเดียวก็ถือเป็นรางวัลที่ล้ำค่าแล้ว” 

และสำหรับงานครั้งนี้ ผลงานของบัทม์ แก้วงอก ศิลปินเซรามิคชั้นครูและลูกศิษย์อีก 13 คนถูกมาจัดวางโชว์ไว้ หวังจะสื่อให้ทุกคนเชื่อว่า เซรามิคจะเป็นนิรันดร์อยู่คู่กับสังคมตลอดไป และปรารถนาให้ทุกคนรู้จักและสนใจงานเซรามิคที่เป็นแฮนเมดมากขึ้นเรื่อยๆ 
เรามาเริ่มกันที่เจ้าตัวน้อยๆ ก่อนเลยดีไหม

 

 

 

โดย : ชฎาพร นาวัลย์

ที่มา : bangkokbiznews.com / 22 กันยายน 2554

Views: 2746

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service