ลายผ้าบนหน้ากระดาษ นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ

เปิดกรุผ้า ของคุณหมอนักเขียน เผยเบื้องหลังวิถี-วัฒนธรรมของเส้นด้ายแต่ละชนชาติ และเรื่องผีๆ (อีเม้ย) 

ถ้าบอกชื่อของ หมอโอ๊ต - นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ แผนกเวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลราชบุรี หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อเท่า "พงศกร" นักเขียนนวนิยายรุ่นใหม่ ที่มีฝีมือระดับ "เบสท์เซลเลอร์" คนหนึ่งของวงการ 


สร้อยแสงจันทร์ สาวหลงยุค อลวนกลหัวใจ โคกอีเลิ้งหรรษา นิรันดร คชาปุระ-นครไอยรา นวนิยายรวมเล่ม ตลอดจนพล็อตละครที่โลดแล่นอยู่ตามหน้าจอโทรทัศน์ ทั้งหมดล้วนกลั่นออกมาจากปลายปากกาของเขา 

วันนี้ จากรอยด่างเล็กๆ บนผ้าทองโบราณผืนหนึ่งที่เคยเห็นในพิพิธภัณฑ์กลายเป็นจุดเริ่มต้นจนกลายเป็น "ซีรีส์ผีผ้า" ตั้งแต่ "สาปภูษา" จนถึง "รอยไหม" ที่กำลังออกอากาศ และมีแฟนละครติดงอมแงมอยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง (ขณะที่กี่เพ้า ก็กำลังอยู่ระหว่างการถ่ายทำ และสิเน่หาส่าหรีก็ติดทำเนียบนวนิยายขายดีไปตามระเบียบ) 

เส้นทางลวดลายวิจิตรบนกี่ทอผ้า มีแง่มุมมากมายให้พูดถึง ทั้งวิถีวัฒนธรรม กระทั่งความเชื่อที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น 
หลังว่างเว้นจากคิวตรวจคนไข้ และโต๊ะเขียนหนังสือ เนื้อผ้าบนหน้ากระดาษจึงถูกหยิบขึ้นมาคลี่ออกมาให้ดูกันชัดๆ อีกครั้ง 

อะไรทำให้คุณหันมาสนใจเขียนนวนิยายเกี่ยวกับผ้า 


ต้องย้อนไปตั้งแต่สมัยเป็นเด็กๆ ช่วงที่เริ่มทำงาน คือผมเป็นคนราชบุรีโดยกำเนิด กลับมาทำงาน ก็อยู่ที่ราชบุรี ซึ่งถ้าเคยได้ยินได้ฟังมาก็จะมี เรื่องของผ้าตีนจก คูบัว ซึ่งจะเป็นผ้าที่มีชื่อเสียงของจังหวัด ก็จะมีคนไข้ของผมหลายคน เป็นคุณป้าคุณยาย มีอาชีพ ทอผ้าอยู่ ที่บ้านคุณแม่ หรือพี่ๆ น้องๆ ผู้หญิงเขาก็จะใช้ผ้าคูบัวกัน ก็มีโอกาสได้สัมผัสกับผ้าที่ใช้มือทอ ใช้ไหมปักมาตั้งแต่เด็กๆ และมีโอกาสได้ไปเห็นผ้าเหล่านั้น วันหนึ่งได้ไปเดินเที่ยวที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เห็นผ้าทองอยู่ผืนหนึ่งจะมีรอยด่างๆ ผมก็มานั่งจินตนาการต่อ ที่จริงมันเป็นรอยเลอะของผ้านั่นแหละ ผมก็จะ เอ๊ะ ที่จริงมันเป็นรอยเลือดหรือเปล่านะ ใครเป็นคนทอ มีเบื้องหลังอะไรของผ้าผืนนี้ ก็เกิดมาเป็นนวนิยายเรื่องสาปภูษา แล้วนวนิยายเรื่องนี้เป็นจุดกำเนิดให้ผมได้ค้นข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องผ้าของไทยเยอะมาก ได้ไปตามพิพิธภัณฑ์ผ้าหลายๆ แห่ง 


หลังจากนั้นก็เริ่มขยาย ดูผ้าอื่นๆ ของเอเชีย เช่น ผ้าของลาว ผ้าลุนตยาของพม่า ก็พบว่าผืนผ้าแต่ละผืน ผู้ที่สร้างสรรค์ขึ้นมา ต้องใช้ ชีวิต จิตวิญญาณ มันมีวัฒนธรรม มีเรื่องราววิถีชีวิตมากมายอยู่ในนั้น เมื่อเขียนสาปภูษาเสร็จแล้ว ก็พบว่าเรายังมีข้อมูลอีกเยอะมาก ที่อยากจะบอกเล่าให้ผู้อ่านได้เห็นว่า จริงๆ แล้ว วัฒนธรรมบนผืนผ้า เป็นวัฒนธรรมที่บันทึกวิถีชีวิตของผู้คนเอาไว้อย่างน่าสนใจ ต่อมา มีโอกาสได้ไปทำงานที่หลวงพระบาง ได้มีโอกาสไปเห็นผ้าของที่นั่นหลายผืน ก็เก็บเกี่ยว รวมรวบกับข้อมูลที่สืบค้นสมัยสาปภูษา สืบค้นเกี่ยวกับผ้าลาว ก็เกิดเป็นรอยไหมขึ้นมา 

แล้วบังเอิญมันมีข้อมูลผ้าจีนด้วย (ยิ้ม) ต่อมาก็เป็นกี่เพ้า เป็นส่าหรี คือ จุดเริ่มต้นจริงๆ ไม่เคยคิดว่าจะเขียนเป็นซีรีส์ผีผ้าอะไรยาวๆ อย่างนี้ (ยิ้ม) ก็ตั้งใจเขียนแค่เรื่องสาปภูษาเรื่องเดียว แต่ด้วยความหลากหลายของข้อมูล และความน่าสนใจมากเกินกว่าจะเก็บไว้คนเดียว ก็เลยมานั่งจิตนาการว่า เอ๊ะ น่าจะเขียนเรื่องอื่นๆ เพื่อบอกเล่าวัฒนธรรมผ้าของชาติอื่นๆ ตามมา 


เล่าถึงพัฒนาการของซีรีส์ผ้าของคุณให้ฟังหน่อย 


สาปภูษากับรอยไหมเกิดในช่วงใกล้ๆ กัน เพราะเขียนสาปภูษาแล้วผมไปทำงานหลวงพระบาง ก็เลยไปเขียนรอยไหมอยู่ที่โน่น แล้วกี่เพ้านี่พล็อตมีตั้งแต่เขียน 2 เรื่องนี้แล้ว แต่เนื่องจากว่า ช่วงนั้นผ้าจะถี่ไปหน่อย (หัวเราะ) เหมือนทานแต่แกงเผ็ดทุกวัน เราก็อยากทานอย่างอื่นบ้าง ก็เลยเบรกไปเขียนเรื่องอื่นก่อน กี่เพ้าเลยเพิ่งหยิบขึ้นมาทำตอนที่น้องชายกลับมาจากต่างประเทศ แล้วก็มาทำสำนักพิมพ์กัน แล้วพี่หน่อง (อรุโณชา ภาณุพันธุ์) สนใจ จริงๆ คุยกันตั้งแต่สาปภูษาแล้ว ก็เล่าพล็อตให้ฟัง ก็โอเค งั้นเราเขียนรวมเล่มออกมาเลยดีกว่า ส่วน สิเนหาส่าหรี นี่ลงสกุลไทย ซึ่ง 2 เรื่องหลังนี่ก็จะเกิดในช่วงใกล้เคียงกัน 

จริงๆ พอทำไปก็ยังพบว่ามีอีกหลายชาติน่าสนใจ ก็วางแผนไว้ว่าจะทำกิโมโนในอนาคต (หัวเราะ) แต่ที่เตรียมไว้แล้วก็คือ ลุนตยาของพม่า ชื่อว่า เล่ห์ลุนตยา จะเล่าในช่วงที่พม่ากำลังจะเปลี่ยน อังกฤษเริ่มเข้ามา ช่วงนั้นประเทศเขาจะระส่ำระสาย วัฒนธรรมโดนล้างไปเยอะ ครอบครัวของนางเอกก็จะเป็นครอบครัวที่มีโรงทอผ้าลุนตยาอยู่ แต่ก็ยังไม่ได้ลงมือเขียน ขอเบรกไปทำเรื่องอื่นก่อน (ยิ้ม) 

ตั้งแต่ สาปภูษา มาจนถึงรอยไหม คนอ่าน / คนดูจะงงหรือไม่ว่าทำไมมีผีทุกเรื่อง หรือเนื้อหาซ้ำกัน 


ที่จริง ถนัดแนวนี้ (ยิ้ม) หนังสือที่ชอบอ่านก็จะเป็นนวนิยายในแนวลึกลับ ผมว่า นวนิยายแนวนี้ดูมีเสน่ห์ ชวนติดตาม ค้นหา แล้วผมสามารถจะแอบเอาข้อมูลเรื่องผ้าหยอด ตรงนั้น ตรงนี้ ชวนให้คนอ่านติดตามไปเรื่อยๆ โดยธรรมชาติของตัวเอง จะไม่เก่งเรื่องงานดราม่า หรืองานที่เป็นโรแมนซ์เท่าไหร่ ก็เลยเลือกทำในแนวที่ถนัดดีกว่า เพราะเขียนไปเราก็สนุกกับมัน แล้วก็ชอบหลอกคนอ่าน (หัวเราะ) 


ส่วนใหญ่คนอ่านถ้าตามงานกันเป็นประจำเขาจะโอเค ไม่ค่อยสงสัย แต่บางท่านที่ชมละครจะ อ้าว นี่ผ้า นี่ก็ผ้า ผี แล้วก็ผี มันเหมือนกันหรือเปล่า แต่จริงๆ แล้วถ้าลงมาดูรายละเอียดแล้วจะไม่เหมือนกันเลย สิ่งเดียวที่เหมือนกันก็คือ มีผ้าผืนหลัก ผืนหนึ่งที่เป็นแก่นของแต่ละเรื่อง แต่ตัวพล็อตจะไม่เหมือนกันเลย 

อย่างสาปภูษา มันเป็นเรื่องของความอาฆาตแค้นของผู้หญิงคนหนึ่งที่มันฝังลึกอยู่ในผืนผ้า แต่รอยไหมมันเป็นความรักของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ทอผ้าผืนนี้ขึ้นมา ส่วนกี่เพ้านี่จะบอกว่าอย่าเชื่อในสิ่งที่เห็น หรือส่าหรี่จะบอกเล่าเรื่องของสารที่ซ่อนอยู่ในผืนผ้า 

ซึ่งทั้งหมดก็จะบอกคนอ่านว่า ผ้าแต่ละผืนมันมีสารของคนทอบอกอยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความเกลียดชัง หรือความรู้สึกอะไรทั้งหลายแหล่ อย่างส่าหรี ผ้าที่นางเอกใส่มันก็คือผ้าที่นำไปสู่อะไรบางอย่าง แต่ถ้าผมบอกว่าคนทอมีสารซ่อนไว้ มันไม่สื่อไงครับ เราก็เลยต้องสร้างเรื่องขึ้นมา เป็นกลวิธีที่เลือกมาใช้ และที่มีผีหมดเลย มันก็เป็นเหมือนลายเซ็นต์ของเราไปแล้ว (ยิ้ม) 


เสน่ห์ของผ้าผืนหนึ่งอยู่ตรงไหน 


หนึ่งเลยคือ ทำด้วยมือ การที่เรานั่งแล้วทำอะไรด้วยมือเนี่ย มันต้องใส่ใจ ใส่ความรักลงไป แล้วผมว่า ผู้หญิงที่ทอผ้าทุกคนเป็นศิลปินนะครับ อย่างเราไปดูผู้หญิงทอผ้า 10 ผืน ไม่เหมือนกันเลยสักผืน การให้สี หรือรายละเอียดต่างๆ มันมาจากครีเอชั่นของเขาโดยเฉพาะ ผมว่าตรงนี้คือเสน่ห์ เวลาเราเข้าไปร้านแบรนด์เนม เดินออกมาอาจจะสวนกับคนที่ใส่เสื้อเหมือนเรา สีเหมือนเราเลย แต่เมื่อเรามีผ้าทอ 1 ผืน มันคือชิ้นเดียวในโลก ไม่มีใครเหมือนเรา 


อีกอย่างก็คือลายผ้า ผมเคยเห็นผ้าโบราณบางผืน ลายเหมือนกันมาตลอด แต่พอตอนท้ายแอบมีลูกเล่น ทำลายพิสดาร อยู่หน่อยหนึ่ง ตรงนี้ผมว่ามันเป็นเสน่ห์ หรือบางทีอาจจะเป็นเหมือนสารจะสื่อถึงใคร มีความหมายอยู่ใน ดอกโบตั๋น ลายแม็กโนเลีย ก็บอกอะไรอยู่หลายๆ อย่าง ซึ่งสนุกนะครับถ้าเกิดไปดูจริงๆ แล้ว 


เรื่อง สาปภูษา เป็นผ้าทอง ของคนไทย ที่ส่วนใหญ่สมัยก่อนพวกพระบรมวงษานุวงศ์เขาจะใช้เป็นผ้าห่มสะพัก สไบเฉียง รอยไหมเป็นผ้าลาว แต่จริงๆ ก็ไม่ลาวซะทีเดียว เพราะคนทอเป็นเจ้าหญิงล้านนา แต่ว่าไปอยู่หลวงพระบาง แล้วจะทอผ้าใช้ในงานแต่งงานของตัวเอง จริงๆ มันบอกยากว่าจะเป็นผ้าลาวหรือผ้าล้านนา แต่มันเป็นผ้าที่ไปอยู่ในประเทศลาว (ยิ้ม) อันที่จริง ล้านช้างกับล้านนาวัฒนธรรมก็ใกล้เคียงกัน 


ที่บอกว่า รอยไหม คนทอเป็นล้านนา แต่ไปอยู่เมืองลาว แสดงว่าผ้าแต่ละชนิดก็อาจมีความเชื่อมโยงกันอยู่ได้เหมือนกัน ? 


ลักษณะร่วมของผืนผ้าก็คือ ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ สาปภูษา ตัวละครเด่นคือเจ้าสีเกด เป็นเจ้าหญิงลาวซึ่งถูกกวาดต้อนมาเมืองไทย รอยไหมเป็นเจ้าหญิงล้านนาถูกส่งไปแต่งกับเจ้าชายหลวงพระบาง มันก็จะมีเรื่องของประวัติศาสตร์ลาวเป็นลักษณะร่วมซึ่งเอามาใช้ด้วยกันได้ แต่ว่าจะเป็นคนละช่วง สาปภูษาจะเป็นช่วงรัชกาลที่ 1-3 แต่รอยไหมจะเป็นช่วงท้ายที่ฝรั่งเศสเข้ามาที่ลาว 


รวมทั้งเรื่องของลายผ้า จะค่อนข้างใกล้เคียงกัน ผ้าไทยอีสานกับผ้าลาวจะใกล้เคียงกันมาก โดยเฉพาะเรื่องของลวดลาย หรือเทคนิคการทอ แต่ส่วนที่ยังต่างกันอยู่ก็คือ ลาวในหลายๆ พื้นที่ เขายังมีเสน่ห์ในเรื่องของการให้สี เรื่องการย้อมเส้นไหม พวกนั้นเขายังใช้สีธรรมชาติอยู่ แต่ในขณะที่ของไทย สีจะฉูดฉาดกว่า ส่าหรี ความง่ายของเขาคือเป็นผ้ายาวผืนเดียว 5 เมตร ไม่มีรอยต่อหรือตัดเย็บเลย เมื่อตรงไหนเขามีตำหนิ เขาสามารถตัดทิ้งได้เลย 


ในขณะที่กี่เพ้าก็จะดูแลยากพอสมควร โดยเฉพาะกี่เพ้าที่ถัดด้วยเส้นไหม พับไม่ได้เลย จะต้องมีโครงสำหรับสวม หรือม้วนเก็บ แต่ถ้ายากสุดๆ ก็คือผ้าทอง เพราะเขาใช้ผ้าไหมแล้วมีทองหุ้ม เพราะฉะนั้น พับไม่ได้ พับเมื่อไหร่เส้นด้ายหักทันที สมัยก่อนเขาจึงจะมีแกน แล้วก็จะม้วนเอาไว้ แล้วพวกนี้ต้องคลี่ทุกปี เพราะถ้าไม่คลี่ออกมาทองจะหมอง 

ทุกอย่างเป็นข้อมูลที่เราได้มารู้ตอนเขียนนี่แหละ ผมถึงว่ามันมีเสน่ห์ มีอะไรที่น่าบอกเล่าอีกเยอะ 


ถ้าอย่างนั้น คนอ่าน/คนดู จะแยกข้อมูลออกจากนวนิยาย/ละครได้อย่างไร 


แยกยากมาก (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่ช่วยคนเขียนได้ก็คือ นางเอกจะมีความรู้เรื่องผ้าหมดเลย ซึ่งการกระทำของนางเอก วิธีคิดของนางเอก การที่นางเอกมีปฏิสัมพันธ์กับตัวละครอื่น มันเป็นโอกาสที่เราจะเอาข้อมูลใส่หัวนางเอก แล้วให้นางเอกพูดออกมา (ยิ้ม) อย่างกี่เพ้านางเอกเป็นภัณฑารักษ์ที่ดูแลพิพิธภัณฑ์ผ้าอยู่ หรือว่ารอยไหม เรรินเป็นอาจารย์สอนวิชาผ้าทอ สาขาออกแบบพัตราภรณ์ หรือสาปภูษานางเอกก็เรียนเรื่องผ้า ซึ่งในพันทิปเขาจะบอกว่า เอ๊ นางเอกเรื่องสาปภูษา เป็นลูกศิษย์ของนางเอกรอยไหมหรือเปล่า (หัวเราะ) หรือสิเน่หาสาหรี่ นางเอกจะเป็นดีไซเนอร์สมัยใหม่ที่ไม่มีความรู้เรื่องผ้าโบราณ แต่จะไปเรียนรู้เรื่องส่าหรีเมื่อไปถึงเมืองของพระเอกแล้ว คนอ่านก็จะเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับนางเอก 


แต่ละเรื่องมีจุดเชื่อมโยงกัน? 


ส่วนใหญ่ผมจะเขียนจบในเรื่อง แต่จะมีเชื่อมโยงกันนิดหนึ่งก็คือ เพกานางเอกเรื่องกี่เพ้ามีคุณอาชื่อ แทนไท ซึ่งมีบทสำคัญอยู่ในสาปภูษา แล้วก็เรื่องนี้ เขาก็จะมาปรากฏตัวนิดหน่อยเพื่อช่วยนางเอกแก้ปมอะไรบางอย่าง เป็นตัวละครที่เก็บเอาไว้เวลาคิดอะไรไม่ออก แก้อะไรไม่ได้ (หัวเราะ) จริงๆ มีแค่ 2 เรื่อง รอยไหม กับสิเน่หาส่าหรีก็จะจบของเขา มีผมแอบหยอดไว้นิดหนึ่งตอนใกล้จบของกี่เพ้า พิพิธภัณฑ์ของเพกาจะจัดแสดงส่าหรี ซึ่งเป็นสาหรี่เซ็ตนี้แหละส่งไป (ยิ้ม) 


เท่าที่ค้นคว้ามา เนื้อหาเฉพาะ หรือเอกลักษณ์ของผ้าที่คุณเห็นมีอะไรบ้าง 


ในลายผ้า... จะเห็นเรื่องของความละเอียดอ่อน ถ้าพูดไปแล้ว จริงๆ ลายผ้า ผู้ทอดัดแปลงมาจากสิ่งรอบตัวของเขาทั้งนั้น ซึ่งคนจะทำอย่างนี้ได้ จะต้องเป็นคนที่มีความละเอียดอ่อน ผมว่า สังคมไทยปัจจุบันมันเริ่มน้อยลง ความละเอียดอ่อนในใจของคนน้อยลงไปเรื่อยๆ ก็ไม่อยากให้เป็นแบบนั้น หวังว่า ถ้าเราหันมามองผ้า จะช่วยเสริมสร้างความละเอียดอ่อนในจิตใจคนได้มากขึ้น อย่างลายหงส์คู่ เขาก็จะใช้ในงานมงคล มีหงส์ 2 ตัวเอาหัวมาคู่กัน หรือลายของจกคูบัว เขาจะมีลายที่เรียกว่า ลายเซีย ก็จะดัดแปลงมาจากใบไม้ในท้องถิ่น 


คนที่คิดได้ขนาดนี้ ต้องมีความละเอียดอ่อน อีกอย่างหนึ่ง ลายผ้าเป็นเหมือนบันทึกวัฒนธรรม บันทึกประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์เชิงระบบใหญ่ๆ สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นด้วยตัวเองก็คือ ตอนไปหลวงพระบาง เราเห็นลายบางลายเหมือนลายที่คูบัวบ้านเรา พอมาศึกษาจริงๆ ก็พบว่า กลุ่มของคนที่คูบัว จริงๆ คือพวกลาว ซึ่งถูกกวาดต้อนมาสมัยรัชกาลที่ 1 บางส่วนถูกนำไปอยุ่สระบุรี บางส่วนก็จะไปอยู่เพชรบุรี และทุกวันนี้พวกเขาก็ยังทอผ้าลายเดียวกับบรรพบุรุษของเขาอยู่ มันน่าทึ่งมาก อยู่ห่างกันกว่า 100 กิโล แต่ลายเดียวกันเลย 

หมายความว่า รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในผืนผ้าก็สามารถบอกข้อมูลได้มากกว่าแค่ที่มาที่ไป ? 

ใช่ครับ อย่างผ้าบางผืนลายเดียวกันมาโดยตลอด แต่พอถึงชายผ้ามีแอบปักลูกนกลงไป อย่างผ้าทองสิ่งที่น่าสนใจก็คือ สมัยก่อน เขาใช้ผ้าแบ่งชนชั้นทางสังคมด้วย เช่น ถ้าทอด้วยดิ้นทอง ดิ้นเงิน สามัญชนใช้ไม่ได้ หรือเรื่องของสี สีแดง หรือน้ำเงินก็จะสงวนไว้สำหรับชนชั้นปกครองเท่านั้น อย่างนางเอกเห็นแล้วบอกได้เลยว่า คนนี้เป็นขุนนางกรมพระตำรวจ อะไรอย่างนี้ เพราะเขาจะมีสี หรือลายเฉพาะของเขา ไม่ต้องมาติดป้ายอย่างปัจจุบัน เสื้อผ้าบอกได้เลย 

เรื่อง รอยไหม ก็จะได้คติของคนทอผ้าลาว อย่างในประเด็นที่นางเอกเข้าไปทอผ้าที่วางค้างกี่ไว้ เพราะจริงๆ ความเชื่อทางล้านช้าง หรือล้านนา เขาเชื่อว่า ผ้า คือชีวิต เมื่อคนหนึ่งทอผ้าแล้วไม่เสร็จ หรือเสียชีวิตไปก่อน ผ้าผืนนั้นก็ได้ตายไปพร้อมเจ้าของแล้ว เขาก็จะไม่ทำอะไร ถ้าไม่เผาไปพร้อมกันเลย ก็อาจจะม้วนเก็บไว้ หรือก็คาไว้ที่กี่อย่างนั้น ก็จะไม่มีใครไปทำต่อ แม้จะเป็นลูกหลาน 

ที่เกิดรอยไหมจริงๆ แต่แรกไม่ได้คิดหรอกครับ ว่าจะเขียน เขียนสาปภูษาตอนไปทำงานที่หลวงพระบาง ผมไปที่มหาวิทยาลัยของที่นั่น ก็ได้ไปที่พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณ กลับมาที่บ้าน พี่วันดารา ซึ่งคุณอรอนงค์ (ปัญญาวงศ์) เล่นมีตัวจริง พี่เขาบอกว่ามีอยู่ผืนหนึ่งสวยกว่าที่โชว์ในพิพิธภัณฑ์อีก แต่โชว์ไม่ได้ เพราะคนทอตายไปแล้ว คากี่อยู่ เจ้าของก็ยกลงไปเก็บใต้พิพิธภัณฑ์ เพราะผ้าผืนนั้นเขาจะทอให้เจ้ามหาชีวิตลาวใช้ในพิธีราชาพิเษก คือ เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียก่อน ผ้าผืนนี้ก็เลยถูกเอาลงไปเก็บทั้งกี่ คนทอเห็นบอกว่าถูกฆ่าด้วย อันนี้ไม่รู้จริงเท็จนะครับ พี่เขาก็แอบพาไขเข้าไปดู สวยจริงๆ วันนั้นก็เลยเกิดจิตนาการเรื่องนี้ขึ้นมา แต่จะเขียนเป็นเรื่องการเมืองคงไม่เหมาะ เลยปรับให้นางเอกใช้วันแต่งงานตัวเองแทน (ยิ้ม) 

หรือกี่เพ้า ก็จะเห็นสิ่งที่น่าสนใจคือ กี่เพ้าในช่วงเซี่ยงไฮ้ พอศึกษาจริงๆ แล้ว เราจะพบว่านี่เป็นเสื้อผ้าที่เซ็กซี่มาก เพราะทำให้เปิดเผยรูปทรงของผู้สวมโดยที่ไม่ได้เปิดเผยเนื้อตัวเลย ผู้หญิงยุคนั้นเขาจะแข่งกันมาก ช่างตัดกี่เพ้าที่เก่งๆ เขาจะซื้อตัวเก็บเอาไว้เลย ตัดให้บ้านนี้บ้านเดียว พี่น้องตระกูลซ่ง จะครีเอทลายเฉพาะตระกูลเท่านั้น หรือแม้แต่เสื้อมังกรในราชวงศ์ของจีนเอง ที่เล็บมังกร ถ้าเป็นจักรพรรดิ์จะมี 9 เล็บ แต่ถ้าเป็นเจ้าชายธรรมดาจะมีแค่ 5 เล็บ 

ส่วนส่าหรี เราก็จะพบว่าแต่ละรัฐห่มไม่เหมือนกัน ผมนึกว่าเอามาพันๆ เหมือนกันหมด พอค้นไปก็จะพบว่า อย่างรัฐทางใต้ เขาจะร้อน ลักษณะการห่มก็จะเปิดหน้าท้อง ขณะที่รัฐทางเหนือจะหนาวก็ห่มปิดหมดเลย หรือแม้แต่ วิธีตลบผ้าแต่ละรัฐในภูมิภาคเดียวกันก็จะทำไม่เหมือนกัน ผมเคยคุยกับเพื่อนชาวอินเดียเขาบอกว่า เวลาเราเห็นผู้หญิงอินเดียเดินมา 1 คน เราบอกได้เลยว่ามาจากรัฐไหน 

ในมุมมองของคุณ ผ้าผืนหนึ่งแปลเป็นอะไรได้บ้าง 

ถ้ามองในเรื่องของรูปธรรม มันคือสมบัติที่ล้ำค่าของชาตินั้นๆ อาจจะไปเทียบกับเครื่องทองในกรุวัดราชบูรณะไม่ได้ แต่ผมว่า คุณค่าของผ้าเก่า หรือแม้แต่ผ้าปัจจุบัน ต่อไปอีก 50-100 ปีมันก็จะกลายเป็นผ้าเก่า อันนี้พูดเฉพาะผ้าทอมือนะครับ มันเป็นสมบัติที่ล้ำค่าของชาติ ซึ่งใครก็ตามที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่เรา ในชีวิตประจำวัน เราช่วยกันเก็บตรงนี้ไว้ เป็นมรดกให้ลูกหลานของเราได้ อย่างที่ไปหลวงพระบาง ผมมีความสุขเวลาที่เห็นเด็กน้อยของเขานุ่งซิ่นด้วยความภาคภูมิใจ บ้านเราจะใช้ตรงนี้ค่อนข้างน้อย แต่ก็เห็นเริ่มมีบางโรงเรียนเริ่มให้นักเรียนแต่งตัวด้วยผ้าไทย ก็เป็นทางหนึ่งที่ช่วยกันกันอนุรักษ์ แต่อนุรักษ์มันก็คงต้องไม่ฮาร์ดคอร์นะครับ เพราะวันนี้โลกหมุนไปเยอะ จะมานุ่งจงกระเบนขึ้นรถไฟฟ้าก็อาจจะสะดุดล้มซะก่อน มันอาจจะต้องมีวิธี แต่ผมก็ไม่รู้นะครับว่าจะต้องทำอย่างไร (ยิ้ม) 

อย่างที่สอง ก็ในเรื่องของนามธรรม คุณค่าทางจิตใจ เพราะว่า มันเป็นความละเอียดอ่อนทางจิตใจ ผ้าผืนหนึ่งกว่าจะเสร็จ อย่างจก ผมคุยกับคุณป้าที่ทอ เขาบอกว่า เขาใช้เวลา 2-3 อาทิตย์ในการทอผ้า 1 เซ็นติเมตร แล้วผมเห็นภาพคุณยายกับหลานนั่งทอด้วยกัน มันเป็นสายสัมพันธ์ที่ต้องใช้เวลาด้วยกัน มันถึงจะเกิดขึ้นมาได้ และคนได้ทอผ้า หรือได้เรียนรู้ผ้าจากปู่ย่าตายาย ผมว่เด็กคนนั้นจะมีจิตใจที่ละเอียดอ่อน มองอะไรด้วยใจ เขาจะเป็นกำลังสำคัญในอนาคตของประเทศเรา มากกว่าคนที่มองอะไรด้วยเงิน หรือวัตถุ 

ที่พูดถึงเรื่องการอนุรักษ์ผ้า นวนิยายถือเป็นการอนุรักษ์ไหม 

ขอใช้คำว่าบันทึกดีกว่า (ยิ้ม) บันทึกไว้นิดหนึ่งว่า อย่างน้อยถ้าอยากรู้เกี่ยวกับผ้าทอโดยที่ไม่อยากไปพิพิธภัณฑ์ หยิบสาปภูษา หรือกี่เพ้าขึ้นมาก็คงพอทำให้เห็นภาพ ผมย่อยข้อมูลทุกอย่างเอาไว้ให้ แต่มันอาจจะไม่ละเอียดขนาดทำรายงานส่งครูได้ แต่อย่างน้อยอ่านแล้วน่าจะเห็นภาพ อาจจะเป็นตัวแทนที่จุดประกายให้คนอ่านหันมา ตั้งคำถาม แล้วผ้าไทยเราเป็นอย่างไร หรืออย่างละครที่ออกอากาศเอง พอบูมปุ๊บ จตุจักรบอกว่าผ้าไทยขายดีมากช่วงนี้ คนจะเป็นเรรินกันหมด ก็ดีใจนะครับ ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ในการเป็นคนเขียนของตัวเองแล้ว (หัวเราะ) 

แล้วผีล่ะ ? 

ยังไงก็ต้องมีครับ (ยิ้ม) ไม่งั้นไม่สนุก (หัวเราะ)

 

 

 

โดย : ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี

ที่มา : bangkokbiznews.com / 20 กันยายน 2554

Views: 710

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service