ฟ้า พูลวรลักษณ์ กับชีวิตที่เงียบที่สุดในโลก

คุยกับนักเขียนผู้เปิดโลกกวี 'แคนโต้' ในวัย 56 ปี ชีวิตชนิดไหนที่เขาบอกว่าเปรียบเสมือนโรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลก 

มันคือการเผชิญหน้ากับชีวิต 

ได้เรียนรู้การเข้ากับคน 

ในมุมหนึ่งผมเป็นคนที่โดดเดี่ยวมาก" 

หากคุณจะนิยามความเป็น ฟ้า พูลวรลักษณ์ ว่าเป็นนักเขียนผู้เปิดโลกกวี 'แคนโต้' (canto) มาสู่นักอ่านชาวไทยเมื่อสามสิบกว่าปีก่อนนั้น คงจะไม่ผิดนัก ...ด้วยวัยหนุ่มเพียง 19 ปี แต่เขามีบทกวีรวมเล่มชุด 'แคนโต้หมายเลขหนึ่ง' (ปี 2515) ออกมาสร้างสีสันให้กับแวดวงกวีในยุคนั้น 

แม้ว่าเขาจะไม่ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณชนบ่อยครั้งนัก แต่ช่วงสิบปีหลังเขากลับมีผลงานทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ แคนโต้หมายเลขสอง (2543), แคนโต้หมายเลขหนึ่ง (ฉบับปรับปรุง 2544), ห้องเรียนที่เงียบที่สุดในโลก (2545), การแสดงภาพเขียนของศิลปินคนนั้น, ห้าแคนโต้กลุ่มหนึ่ง (2546), ห้องเรียนที่เงียบที่สุดในโลก, เจ็ดเรื่องสั้นของฟ้า (2547), ห้าแคนโต้กลุ่มสองกับคนไร้เงา (2548), การแสดงภาพเขียนของศิลปินคนนั้น 2005 และหนังสือเด็กโบราณ (2549), โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลก (ความยาว 116 บท สองเล่มจบ ปี 2550) เป็น 1 ใน 7 เล่มนวนิยายที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปี 2552 

ล่าสุดเขามีผลงานรวม 60 เรื่องสั้นกำลังภายในออกมาอีก 2 เล่ม (เล่มละ 30 เรื่อง) ได้แก่ จอมดาบทะเลบ้า และลมปราณเจ็ดร้อยปี นอกจากนี้เขายังเปิดเว็บไซต์ www.thaicanto.com ตั้งแต่ปี 2548 เพื่อเป็นเวทีให้กับบทกวีสามบรรทัดอย่างคึกคัก และก่อตั้ง 'สำนักพิมพ์ใบไม้สีเขียว' เพื่อพิมพ์งานเขียนของตัวเองอีกด้วย 



ต่อไปนี้เป็นการพูดคุยในบรรยากาศสบายๆ ภายในบ้านของ ฟ้า พูลวรลักษณ์ หนุ่มใหญ่วัย 56 ว่าชีวิตของเขาเป็นเสมือนโรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลกจริงหรือไม่? 

0 ช่วงนี้กำลังทำอะไรอยู่หรือสนใจเรื่องอะไรบ้าง? 

ปีนี้ผมอายุ 56 แล้ว..จริงๆ เป็นอายุที่เยอะและเป็นวัยที่เรียกว่าหลายๆ คนคงเกษียณแล้ว แต่ผมมีสปิริตเหมือน 'โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลก' คือสำหรับผมโดยแก่นของมันจริงๆ มันเป็นเหมือนกับปฏิบัติการอันหนึ่ง คืองานผมไม่ใช่แค่ความคิด แต่มันเป็นเรื่องของการกระทำ ผมร่ำๆ อยากจะสร้างโรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลกแบบเป็นตัวจริงขึ้นมาหลายครั้ง แต่คำนวณดูแล้วมันไม่คุ้ม อย่าว่าแต่โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลกเลย เอาแค่ห้องเรียนที่เงียบที่สุดในโลกหนึ่งห้อง ซึ่งไม่ต้องลงทุนมากนัก คำนวณดูแล้วไม่คุ้มเพราะว่าทันทีที่สร้างขึ้นมาหนึ่งห้อง เราจะใช้ชีวิตอยู่ในห้องนั้นจริงๆ ได้ไม่กี่เดือนก็เบื่อแล้ว เพราะว่าเราอยู่คนเดียว 

ผมเลยคิดว่าห้องเรียนที่เงียบที่สุดในโลกหรือโรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลกจริงๆ ในเชิงปฏิบัติ ถ้าถูกที่สุดก็คือผมไปเรียนหนังสือรอบโลก ไปเรื่อยๆ อยากไปก็ไป ผมว่าพลังของมันจะไม่แรงเท่ากับตัวคอนเซปต์ แต่ว่ามันมีข้อดีหลายอย่าง เช่นว่ามันมีการเคลื่อนไหว อย่างเวลาไปเรียนหนังสือมันจะเจออะไรแปลกๆ เจอเพื่อนเจออะไร แต่ว่าตัวแก่นสปิริตหรือว่าจิตใจจริงๆ ของเราก็คือโรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลก คือไม่รู้จะเข้าใจไหม มันเป็นความสืบเนื่องไปเรื่อยๆ ในการเก็บสะสมทีละน้อยๆ คือเราเรียนในวัยนี้ ไม่ได้เรียนเอาความรู้แล้วล่ะ เพราะว่าอายุเยอะแล้ว ไม่ได้คาดหวังอะไร แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ปฏิเสธความรู้นะ เราก็ได้เพิ่มบ้างอะไรบ้าง 

0 โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลกเหมือนเป็นการเรียนรู้โลกหรือตัวเอง? 

มันอธิบายลำบาก มันเป็นการค่อยๆ สะสม ถ้าใครที่อ่านโรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลกเข้าใจก็จะเข้าใจ คือมันเป็นการขยายตัวคอนเซปต์ไปเรื่อยๆ เท่าที่สังขารที่เป็นจริงอยู่นี้ มันก็ต้องเสื่อมสลายไป ผุพังไป มันเป็นการดิ้นรนต่อสู้ แม้ในขณะที่เรากำลังเรียนเล่นๆ แต่ขณะเดียวกันมันก็จริงจังมาก ทุกวันนี้ที่ผมเรียนเป็น subject serious จริงๆ มีแค่สองซับเจคเท่านั้นเอง หนึ่งคือ 'ภาษา' และสองคือ 'ภาพยนตร์' สาเหตุจริงๆ มันเกี่ยวเนื่องกัน เรามาพิจารณากันว่าทำไมไม่เรียนวิชาอื่น เพราะวิชาอื่นหลายๆ อย่างมันไม่เหมาะสมในเชิงปฏิบัติ ในแง่ของเวลาเรียน ในแง่ของการจะเสาะหา 
เรียนภาษาเราเรียนที่ไหนก็ได้ เรียนสั้นยาวแค่ไหนก็ได้ บางทีภาษาสองอาทิตย์หรือเรียนแบบสบายๆ เดือนสองเดือน ถ้าอยากจะเอานานหกเดือนหรือหนึ่งปีก็สบาย ไม่จำกัดอายุ อยู่ที่ว่าสมองเราไหวไหม จะเห็นว่าภาษามันเปิดเข้าคอนเซปต์ของเราคือไปได้รอบโลก ผมอยากจะไปเรียนภาษาอินเดียที่อินเดีย อยากจะไปเรียนภาษาอินโดนีเซีย ผมก็สามารถที่จะไปได้ 

ภาพยนตร์ก็เช่นกัน มีสอนทั่วโลก ต่างจากภาษาหน่อยเดียวว่าภาพยนตร์ถ้าจะเรียนคอร์สสั้นนั้นจะหายาก เอาเดือนเดียวสองเดือนจะหายากมาก ถ้าเอาคอร์สยาวหนึ่งปีนี้หาง่าย ทีนี้ผมเองยังไม่พร้อมที่จะเรียนคอร์สยาว เพราะภาพยนตร์จริงๆ มันเป็นงานใหม่ ผมเลยเอาคอร์สสั้นๆ เมื่อเอาคอร์สสั้นเราก็หาที่เรียนได้ยาก ที่ผ่านมานี้ผมก็เรียนมาแล้ว 3 แห่งคือไปเรียนที่นิวยอร์ก บูดาเปสต์ และไปที่ลอสแองเจลิส คือค่อยๆ สะสม แต่ว่าถ้าเทียบกันไปแล้วกับคนที่เรียนภาพยนตร์จริงๆ จังๆ หรือพวกเรียนโดยตรง ผมก็เหมือนกับเป็นแค่งานอดิเรก พอผมเรียนเสร็จผมก็พัก แล้วก็ไปเรียนภาษาบ้างอะไรบ้าง และกลับมาเรียนใหม่ เหมือนกับว่าผมไปแบบช้าๆ เหมือนเต่าครับ ช้าๆ แต่ว่ามีความมุ่งมั่น คล้ายๆ กับมันมีเป้าที่จะไปให้ถึง... 

0 เป้านั้นคืออะไร? 

เหมือนกับว่ายังไงดี อย่างเวลาเขียนหนังสือเราไม่รีบร้อนเขียน บางคนรีบเขียน พอเขียนเสร็จก็รีบพิมพ์เลย พิมพ์เสร็จรีบส่งชิงซีไรต์ แต่ผมจะไม่เป็นอย่างนั้น ผมจะเขียนเสร็จแล้วทิ้งไว้เฉยๆ หลายๆ ปี แล้วค่อยๆ มาดูใหม่ ค่อยๆ สะสม คิดว่าช่วงนี้จะออกชิ้นนี้ดีไหม คือมันจะช้าๆ แต่เมื่อเสร็จออกมาเป็นงานแล้วเราจะรู้สึกว่างานของเรามีตัวตนที่มั่นคง สามารถที่จะหยิบมาคุยได้เรื่อยๆ อย่าง 'โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลก' จะหยิบมาคุยได้เรื่อยๆ แต่ว่าถ้าส่งชิงซีไรต์มันก็มีโอกาสที่จะได้ค่อนข้างสูง หมายถึงว่าช้าๆ แต่มีความแน่วแน่ มันมีความแตกต่าง ทีนี้ถ้าจะถามว่าแล้วใครจะถึงเป้าหมายก่อน อันนี้จะต้องดูผลของมัน แม้กระทั่งโรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลกก็ต้องมาดูผลต่อไป แม้ว่าวันนี้มันจะไม่ได้รางวัลซีไรต์ แต่ว่ามันไม่จบแค่นี้ มันยังมีความเคลื่อนไหว การเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เพราะว่าตัวน้ำหนักของมัน มันมีเนื้อนวล มันมีความลึก 




0 เป้าหมายของการเรียนภาพยนตร์ล่ะ ? 


เรียนไปเรื่อยๆ ก่อน เป้าแรกคือเอาประสบการณ์ เอาความสนุกในการใช้ชีวิต เช่น เมื่อผมเคยไปอยู่นิวยอร์ก เอาล่ะ..ตอนไปเรามีเหตุผลมานิวยอร์ก เรามีเหตุจะมาบูดาเปสต์ มีเหตุผลจะไปลอสแองเจลิส ไปแบบไม่ได้ซีเรียส ไปใช้ชีวิตน่ะ ขณะเดียวกันถ้าเป็นเรื่องเรียนเราก็จริงจัง เพราะไปสะสมความรู้ วันหนึ่งถ้าความรู้แข็งพอเราก็จะมาสร้างภาพยนตร์จริงๆ สำหรับผมต้องใช้คำว่า 'การใช้ชีวิต คือ เป้าหมาย' มันฟังดูอ่อนกว่า แต่มันเป็นเบสิก 

ผมเป็นคนที่ให้ค่ากับเบสิกมาก คือผมรู้สึกว่าในสังคมสมัยใหม่นี้ คนเรานี้เสื่อมง่าย ยิ่งอายุเยอะยิ่งเสื่อมง่ายใหญ่ เพราะว่าความรู้รอบตัวเรา แล้วโลกเดี๋ยวนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ฉะนั้นคนเราจะตามมันไม่ทัน เป้าหมายแรกของผมคือทำยังไงผมถึงจะเสื่อมน้อยที่สุด เสื่อมช้าๆ หน่อย เสื่อมมันต้องเสื่อมอยู่แล้ว เมื่อเราเสื่อมน้อยเสื่อมช้า โอกาสที่จะทำงานสร้างสรรค์มันก็มี ทีนี้งานสร้างสรรค์จะออกมาในรูปไหนกลับไม่แปลก มันจะเป็นบทกวี เป็นนิยาย เป็นภาพยนตร์ หรือเป็นอะไร นี่คือเป้าหมาย 

0 ย้อนกลับไปช่วงวัยหนุ่มทำไมถึงคิดอยากเป็นนักเขียน ? 

คงเหมือนเด็กๆ คงจะรักการอ่านหนังสือ เริ่มจากการที่เราเป็นนักอ่านก่อน อ่านแล้วเราก็ชอบ ผมคิดว่าคงมีความรู้สึกเช่นเดียวกับคนอีกเยอะ คืออ่านแล้วรู้สึกอยากจะเขียนบ้าง แล้วก็ดิ้นรน ตอนแรกอาจจะเขียนด้วยความยากลำบาก ทำไมเราอ่านง่ายๆ แต่เขียนยากจังเลย แต่ตอนนั้นเรายังเด็ก ประมาณ 15-16 แต่พอเราไม่ได้ท้อถอย พออายุ 19 เราเขียนจริงจังแล้ว เรามีความรู้สึกว่ามันมีตัวตนของเราอยู่ในนั้น 

0 การเปิดตัวของบทกวีแคนโต้ทำให้คนอ่านได้รู้จักกับ'ฟ้า พูลวรลักษณ์' ? 

ตอนนั้นมันก็นานมากแล้ว แคนโต้หมายเลขหนึ่ง ปี 1972 ตอนนั้นเวลาอ่านหนังสือเราก็จะจับแนวว่าตัวเองชอบอะไร ในวัยนั้นผมก็พบว่าผมชอบกวีที่สุด อ่านแล้วรู้สึกว่ามันอิน กินใจเราที่สุด ผมก็เลยเขียนกวี เหมือนกับว่าใฝ่ฝันอยากจะเป็นกวี ในวัยนั้น อาจจะเป็นนิสัยหรือธาตุแท้อะไรบางอย่างที่เราชอบแนวนี้ ชอบรูปแบบนี้ รู้สึกว่ามันแสดงตัวตนเราได้ดีที่สุด มันมีความอิสระ ความว่องไว ส่วนในวัยนั้นผมเขียนเรื่องสั้น นวนิยายไม่เป็นเลย รู้สึกว่าจะไม่เคยลองด้วยนะ เพราะรู้สึกว่ามันเขียนไม่ได้แน่ มีความรู้สึกอย่างนั้นนะ เราไม่ได้สนใจ เพิ่งจะมาสนใจจริงๆ ตอนอายุ 50 เขียนเรื่องสั้นเรื่องแรก 

0 ช่วงหันมาเขียนเรื่องสั้นแรกๆ ต้องปรับอารมณ์เยอะไหม ? 

เรื่องสั้นมันก็มีบุคลิกของมัน แต่แน่ล่ะคนเขียนคนเดียวกัน ฉะนั้นจะมีอารมณ์บางอย่างซึ่งถ้าเราสังเกตจะเห็นว่าคนนี้นิสัยมันมีอะไรบางอย่างซึ่งถ้าคนที่เข้าใจจะมองเห็นถึงความต่อเนื่อง หมายถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ภาษาอาจจะมีส่วน แต่ภาษาสำหรับผมเป็นเรื่องเล็ก แต่มันจะเป็นเรื่องของ space มากกว่า งานเขียนของผมมีสเปซที่ใหญ่และกว้าง ตรงนี้แล้วแต่คน ถ้าคนชอบก็จะสนุกกับมัน ถ้าคนไม่ชอบก็จะบ่นบอกว่าทำไมพูดน้อยจัง ทำไมเขียนแค่นี้ ทำไมไม่เขียนต่ออะไรอย่างนี้ ผมชอบให้คนอ่านคิดต่อ มันเป็นเหมือนเครื่องดื่มมันจะมีรสของมัน ชามีรสชา กาแฟมีรสกาแฟ หรืออะไรก็แล้วแต่ งานเขียนของผมจะมีรสอันนี้ รสที่ผมรู้สึกว่าทุกคนอาจต้องคิดต่อ ผมจะไม่มีวันบอกหมด ถ้ารู้ว่าบอกแล้วมันไม่ดี 

0 อารมณ์ของเรื่องสั้นกำลังภายในมันเริ่มเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ? 

ไม่มีอะไรหรอกครับ คือมันมาจากสมัยเด็กๆ ชอบอ่านนวนิยายกำลังภายใน แต่โตขึ้นอาจจะไม่ค่อยชอบแล้วเพราะว่ามันโชกเลือดไป อ่านแล้วเราไม่สนุกแล้วล่ะ เราไม่อยากอ่านตอนมันฆ่ากัน เราไม่อ่าน แต่ว่านิยายกำลังภายในถ้ามันไม่ฆ่ากันมันก็เหมือนไม่เป็นนิยายกำลังภายใน แต่สำหรับผมความที่เราเป็นผู้ใหญ่ด้วย เราสามารถเลือกสิ่งที่เราชอบในความเป็นนิยายกำลังภายใน เราชอบลีลาบางอย่างเขา แต่เนื่องจากมันเป็นเรื่องสั้นเราก็สามารถที่จะเลือกได้อีก ตอนไหนที่เราไม่ชอบก็ตัดทิ้งไป จะเห็นว่าเรื่องของผมจริงๆ ไม่ได้บู๊อะไรเท่าไหร่ บู๊นิดหน่อยพอให้มันมีรส ให้มีเลือดนิดหน่อยบางเรื่อง แต่แก่นของมันจริงๆ คือสิ่งที่ผมชอบ เหมือนนิยายกำลังภายใน ซึ่งมันก็ปรากฏอยู่ในนี้อย่างเหลือเฟือ คือพื้นฐานมันมาจากหลายๆ อย่าง ดูหนังด้วยอะไรด้วย หลายๆ กระแส บางทีคิดอะไรสนุกๆ คิดเล่นๆ ก่อนนอน จริงๆ ผมเขียนไว้ประมาณ 80 กว่าเรื่องด้วยซ้ำ แต่ตัดทิ้งจนเหลือ 60 เรื่อง 

0 ตัวละครในเรื่องสั้นแต่ละเรื่องมีความลุ่มลึกสามารถเขียนเป็นนิยายก็ได้เลย ? 

สิ่งที่ผมชอบประเด็นในเรื่องนี้ก็คือว่าทุกๆ เรื่องมันมีความลึกที่จะเป็นเรื่องยาวก็ได้ แต่ว่าผมเองคงไม่มีปัญญาไปเขียน ยอมรับว่าไม่มีความอดทนพอ การเขียนเรื่องยาวต้องใช้เวลาเยอะ จะต้องมีรายละเอียดอีกเยอะ จะต้องสร้างตัวละครอีกเยอะ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นเพราะจุดมุ่งหมายผมต้องการเขียนเป็นเรื่องสั้นอยู่แล้ว แต่กำลังจะบอกว่าความลึกของตัวละครและฉากต่างๆ มันคือปมเด่นของมันให้เห็นถึงความน่าสนใจของตัวละคร อันนั้นคือจุดมุ่งหมายของผม อีกอย่างหนึ่งเวลาผมเขียนหนังสือผมมีความรู้สึกว่าอยากให้ตัวละครน่าสนใจ เหมือนกับเวลาอ่านแล้ว แหมอยากเจอตัวละครตัวนี้จัง ช่างน่าสนใจมากเลย 

0 ถ้าดูจากผลงานนับตั้งแต่ 'ห้องเรียนที่เงียบที่สุดในโลก' จนถึงนวนิยาย 'โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลก' มันมีความต่อเนื่องกัน ? 

มันมาจากคาแรคเตอร์ตัวเองว่าเป็นคนมีระเบียบ แล้วก็จริงๆ เวลาคิดผมชอบคิดหลายชั้น ในเมื่อมันคิดหลายชั้น โครงสร้างหลักจริงๆ มันเป็นอันเดียวกัน เวลาเรามองอย่างนี้ก็จะเห็นโครงสร้างว่าผู้เขียนไม่ได้เขียนสะเปะสะปะ งานเขียนมันเป็นเหมือนเปลือกนอก แก่นข้างในมันเป็นตัวชีวิตและเมื่อคุณมีเปลือกนอกเสียแล้ว ถ้าตัวข้างในเป็นหนึ่ง ข้างนอกมันก็ต้องสัมพันธ์กัน เพราะมันสะท้อนตัวผู้เขียน ทุกอย่างมันเป็นตัวตนของผู้เขียน แม้แต่เรื่องสั้นกำลังภายในบางเรื่องมันเป็นชีวิตผมแท้ๆ เลย แต่ว่าคนอาจจะไม่มีทางรู้และผมก็คงจะไม่ไปอธิบายไม่ไปบอก แต่ถ้าบอกปุ๊บ! โอ้โห..มันคือชีวิตผมเลยล่ะ แต่ไม่มีทางอ่านเจอ เพราะว่ามันหลายชั้นมาก... 

แต่พูดให้ฟังไม่ใช่อะไร สมมติสิบปีข้างหน้าเกิดงานผมพัฒนาไป ชีวิตผมพัฒนาไป อีกวันหนึ่งสมมติมีคนมาสัมภาษณ์ผม ผมอาจจะหยิบเอานิยายเรื่องนี้ขึ้นมาแล้วเล่าให้ฟังว่าเรื่องนี้มันคือสิบปีข้างหน้าก็คือวันนี้ มองไปสิบปีข้างหน้า มันคงสนุก เพราะว่าเหมือนผู้สัมภาษณ์ก็สนุก โอ้โห..เป็นไปได้ยังไง เรียกว่าเป็นชีวิตผมอีกสิบปีข้างหน้า คือถ้าจะบอกว่าเรื่องนี้เป็นสิบปีในอดีตผม อันนั้นมันง่าย ไม่สนุก เหมือนกับเราเอาอดีตมาแปลงให้เป็นนวนิยาย แต่การที่มันไปปักอีกสิบปีข้างหน้านี่สิ อันนี้มันตื่นเต้นมากเลย อันนี้คือพลังความคิดซึ่งซับซ้อนมาก (หัวเราะ) 




0 อย่าง 'โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลก' มีบางคนตั้งคำถามว่ามันเป็นนวนิยายจริงหรือ ? 

การที่เราทำงานตามธรรมชาติหลายๆ ครั้งเหมือนกับเราก็ไปทำสิ่งใหม่ขึ้นมา มันเป็นไปโดยอัตโนมัติเพราะว่าเราไม่ได้ไปติดยึดนั่นเอง อันนี้ก็อีกเหมือนกัน เมื่อเราเขียนด้วยความสนุก พอเราเขียนเสร็จแล้วมองย้อนกลับ ผมคิดว่าเออมันก็เป็นนิยายนะ เพราะว่ามันยาว มันมีเนื้อเรื่อง มีฉาก มีตัวละคร และตัวละครมันมีการเปลี่ยนแปลง จริงอยู่ว่ามันก็ไม่เหมือนนวนิยายทั่วไป ฉะนั้นถ้าจะมีคนบอกว่ามันไม่เห็นเหมือนนวนิยายตามขนบเดิมนั้นมันก็จริง แต่มันไม่แปลก ความสำคัญอยู่ที่ว่าเวลาคุณอ่านแล้วคุณสนุกไหม คุณได้ประโยชน์จากมันไหมต่างหาก แต่ถ้าคุณบอกว่าไม่เห็นได้ประโยชน์อะไรเลย สนุกก็ไม่เห็นสนุก โอเคแสดงว่าหนังสือเล่มนี้มันไม่เหมาะสำหรับคุณ แต่ถ้าคุณบอกว่าสนุกนะ อ่านแล้วประทับใจ ถึงบทนี้จะไม่เข้าใจ แต่บทนี้ประทับใจนะ อะไรอย่างนี้ แสดงว่ามันคุ้มกับเวลาของคุณแล้วใช่ไหม ถ้าใช่มันก็น่าจะพอแล้ว 

0 ถ้าพูดถึงการเขียนหนังสือถือเป็นความสุขอย่างหนึ่งในชีวิต ? 

ต้องมีความสุขถึงเขียน เพราะว่าผมไม่ได้เขียนหนังสือเพราะว่ามีใครมาบังคับหรือไม่อย่างนั้นต้องอดตาย ผมไม่มีลักษณะอย่างนั้น มันเป็นความสุข การรู้สึกว่าได้ทำสิ่งที่มีคุณค่าขึ้นมาแล้วก็อยากจะแบ่งให้กับคนอื่น เขียนไหวผมก็เขียน ไม่ไหวผมก็ไปเรียนหนังสือ ผมมีวิธีรับตลอด คือโครงสร้างผมถ้าเปรียบเหมือนนิยายกำลังภายในก็เหมือน 'ค่ายกล' จริงๆ นะ มันมีความลึกลับตลอด อย่างการเรียนหนังสือของผมมันก็บ่งบอกอยู่แล้ว ผมไปแบบไม่คิดอะไร แต่ไม่ว่าจะไม่คิดอะไรยังไงนะ มันก็ต้องเกิดประโยชน์ เอาเริ่มง่ายๆ มันเป็นการ exercise พออายุเยอะต้องออกกำลังกาย ถ้าคุณนั่งอยู่เฉยๆ เดี๋ยวคุณก็ป่วย 

หมายถึงว่าการเผชิญหน้ากับปัญหาในชีวิตประจำวัน การได้เจอคนเช่นอยู่ลอสแองเจลิส ผมก็ไปอยู่แฟมิลี่ ผมชอบแฟมิลี่ ผมก็ไปอยู่กับแฟมิลี่ที่เป็นยิว เขาเป็นชาวยิว ผมไม่รู้หรอกก็สมัครไป เขาก็พาผมไปรู้จักญาติพี่น้องเขาที่เป็นยิว และมีเทศกาลยิว ผมก็ได้ไปกับเขา เขาก็ทำอาหารให้ผมกิน ทำอาหารแบบยิวผสมจีนอะไรอย่างนี้ มันคือการเผชิญหน้ากับชีวิต ได้เรียนรู้การเข้ากับคน ในมุมหนึ่งผมเป็นคนที่โดดเดี่ยวมาก ถ้าคุณอ่านงานผม แต่ถ้าคุณมองอีกทีผมก็เป็นคนพร้อมจะเข้ากับคนนะ ผมพร้อมตลอด อย่างเวลาผมไปเรียนภาพยนตร์ผมก็พร้อมทำงานร่วมกับเขาเพราะหนังทำคนเดียวไม่ได้ ไม่ได้เลยเด็ดขาด ต้องมีพรรคพวก ต้องปรับตัวไปหาพวกเขา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วพวกเขาเด็กกว่าผม ในโลกนี้พวกที่กำลังเรียนคือพวกเด็กหนุ่มสาว จริงๆ แล้วส่วนใหญ่ผมจะแก่ที่สุดในห้อง แต่นี่เป็นเรื่องธรรมดา อันนี้กำลังชี้ให้เห็นว่าปฏิบัติการนี้มันมีอ่อนมีแข็งซ่อนอยู่ในนั้น 

0 เวลาไปต่างประเทศก็ไม่ได้ไปอยู่แบบสบายๆ ? 

ผมเลือกที่ที่ผมไม่เคยไป ลอสแองเจลิส นิวยอร์ก ฮังการี เซี่ยงไฮ้ ผมก็ไม่เคย เมื่อไม่เคยก็นึกไม่ออกหรอกว่าจะไปอยู่ที่ไหน อย่างผมรู้ว่าลอสแองเจลิสนี้ผมไม่ชอบแน่เพราะมันเป็นเมืองที่เหมาะกับคนขับรถ ผมไม่ขับรถ ผมไปผมก็เหมือนกับพิการไปแล้ว แต่แม้จะรู้ผมก็มิอาจจะถอย เพราะถ้าเราถอยก็อ่อนแอแย่เลย พอไปถึงเราก็พบว่าจริงๆ เราอยู่ได้ อาจจะไม่ค่อยสะดวก แต่เราก็ต้องอยู่ได้ ต้องปรับตัว มันมีรถเมล์ก็ไปขึ้นรถเมล์ ทีนี้รถเมล์ลอสแองเจลิสมันก็ไม่ค่อยสะดวกเพราะเมืองนี้มันเป็นเมืองขับรถ รถเมล์มันน้อย บางทีชั่วโมงละคันอย่างนี้ โอ้โห..บางทีเสาร์-อาทิตย์เวลาไม่ตรงกับวันธรรมดาอีกนะ 

สิ่งเหล่านี้คือความทุกข์ของผมในเมืองนี้ แต่เราก็ต้องอดทนเพราะเราไม่ได้ขับรถ อันนี้พูดถึงเมืองลอสแองเจลิส อีกอย่างผมเป็นคนชอบเดิน แต่ลอสแองเจลิสมันใหญ่มาก เดินยาก วันแรกๆ ผมลองเดินไปโรงเรียนดู โอ้โหไม่ไหว เดินเป็นชั่วโมงเลยนะ รู้สึกไม่ไหว สรุปแล้วผมก็ต้องขึ้นรถเมล์ เวลากลางคืนรถเมล์ยิ่งน้อยใหญ่ ตอนกลางคืนออกไปไหนลำบากมาก เหล่านี้ต้องการชี้ให้เห็นว่าทุกเมืองที่ไปต้องสู้กับปัญหาเพื่อความอยู่รอด เอาเข้าจริงๆ ชีวิตมันก็ปรับตัวได้ในที่สุด มันก็ไม่ได้สบายอย่างนั้น แต่ว่ามันก็ไม่ได้ลำบากอะไรมาก เพราะว่าจริงๆ ผมว่ามันกำลังพอเหมาะ เพราะถ้าลำบากไปเราก็อาจจะสู้ไม่ไหว สบายไปมันก็ไม่มีสาระ ผมจะเล็งตลอดว่าขนาดนี้กำลังพอเหมาะ 

0 ตอนนี้สิ่งที่อยากทำอีกนอกจากเรียนภาษาและภาพยนตร์แล้วสนใจอย่างอื่นอีกไหม ? 

หมดแล้ว เพราะพลังงานผมเหลือไม่เยอะ (หัวเราะ) ผมเองนี้ก็ต้องเจียมเนื้อเจียมตัวและคนมีอายุเยอะจะต้องระวังเรื่องสุขภาพมาก ไม่ว่าจะอาหารการกิน การออกกำลังกายต้องระวัง ผมต้องแบ่งพลังงาน แบ่งสมาธิมาดูแลตลอด จริงๆ ความสนใจมันมีนะ แต่เมื่อคำนวณถึงความเหมาะสมมันยังไม่เหมาะ ปล่อยไว้ก่อน สมมติสนใจเรื่องโยคะ ผมรู้สึกว่าถ้าวันไหนเราไปอินเดียไปเรียนโยคะน่าจะดีนะ เพราะมันเมืองที่เป็นต้นกำเนิดของสิ่งนี้ มันคงสนุก แต่ว่าอันนี้เก็บไว้ก่อน 

0 ในแง่ของงานเขียนตอนนี้เขียนอะไรเก็บไว้หรือกำลังเขียนอะไรอยู่ ? 

อันนี้ไม่คุยดีกว่า...เป็นความลับแสนลับ (ยิ้ม) 

 

 

 

โดย : พรชัย จันทโสก

ที่มา : มติชน / 19 กันยายน 2552

Views: 1467

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service