วิธิต อุตสาหจิต 'ขายหัวเราะ' ตำนานความฮาสามัญประจำชาติ

วิธิต อุตสาหจิต” บรรณาธิการและผู้ก่อตั้งหนังสือการ์ตูน “ขายหัวเราะ” หรือที่รู้จักกันในนาม “บ.ก.วิติ๊ด” 

ย้อนหลังไป 30 ปีคงไม่มีใครไม่รู้จักหนังสือการ์ตูน “ขายหัวเราะ” และ “มหาสนุก” ที่มีเหล่าแฟนคลับทั้งรุ่นเยาว์รุ่นใหญ่ติดกันงอมแงมไปทั่วเมือง นั่นเกิดจากไอเดียที่แตกต่างของ “วิธิต อุตสาหจิต” บรรณาธิการและผู้ก่อตั้งหนังสือการ์ตูน “ขายหัวเราะ” หรือที่รู้จักกันในนาม “บ.ก.วิติ๊ด”ลูกชายคนโตของ “บันลือ อุตสาหจิต” เจ้าครอบครัวธุรกิจโรงพิมพ์กลุ่มบรรลือสาส์น 1 ใน 5 สำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ของไทย 

“ผมเริ่มต้นการ์ตูนขายหัวเราะครั้งแรกในปี 2516 ตอนนั้นวาดเอง และเขียนเองจากแก๊กสนุกๆ ที่เรามี โดยออกวางขายเล่มแรกไซส์ขนาดใหญ่เท่ากระดาษ A4 ราคาเล่มละ 5 บาท ปรากฏว่าขายดิบขายดี จนอีก 2 ปีต้องออกเล่มใหม่ในเครือเป็นมหาสนุก เพื่อขยายกลุ่มผู้อ่านให้กว้างขึ้น จนอายุขายหัวเราะครบ 8 ปีจึงลดไซส์ให้เท่าขนาดปัจจุบัน แล้วเพิ่มราคาเป็น 12 บาท และเพิ่งเพิ่มเป็น 15 บาทในช่วง 2-3 เดือนมานี้” 

วิธิต เข้ามารับช่วงต่อธุรกิจจากบิดา หลังสำเร็จปริญญาตรีด้านฟิล์มจากอังกฤษ เพื่อรับหน้าที่เป็นหัวเรือใหญ่ขับเคลื่อนธุรกิจโรงพิมพ์ และหนังสือขายมุกในกลุ่มบรรลือสาส์นประมาณปี 2520 ก่อนจะประเดิมงานภาพยนตร์ในฐานะผู้กำกับเรื่อง “ผีหัวขาด” ให้กลุ่มบรรลือสาส์นในปี 2521 และร่วมผลิตหนังอื่นๆ เกือบ 20 เรื่องแต่ต้องใช้ทุนสูง เขาจึงเลือกงานสิ่งพิมพ์เป็นหลัก และทยอยคลอดหนังสือขายความสุขเล่มใหม่ๆ ออกมาเติมช่องว่างให้ครอบคลุมกลุ่มผู้อ่านมากขึ้น 

ตั้งแต่การ์ตูนต้นแบบ “ขายหัวเราะ” ที่เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย หรือ “มหาสนุก” ที่เน้นความฮาในฉบับครอบครัวมากขึ้น ตามด้วย “สาวดอกไม้กะนายกล้วยไข่” หรือ “หนูหิ่น อินเตอร์”ที่เจาะกลุ่มวัยใสและวัยทำงาน หรือ “ปังปอนด์” ที่มีแฟนคลับรุ่นเล็กที่ชื่นชอบความทะเล้นของไอ้ตัวเล็ก ทั้งรูปแบบหนังสือและการ์ตูนแอนิเมชั่นไม่แพ้การ์ตูนทะเล้น “ชินจัง” จากญี่ปุ่นจนวันนี้สามารถขยายตลาด “ปังปอนด์” ไปสู่จีน 

“ตอนนี้ปังปอนด์ได้รับความนิยมมากในจีน สังเกตจากตอนไปร่วมออกบูธในงานแอนิเมชั่นที่ CCTV จัด มีแฟนคลับมารุมชมบูธ และซื้อสินค้า อาทิ เสื้อ สมุด กระเป๋าที่ติดมีคาแร็กเตอร์ “ปังปอนด์” เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะแฟนคลับตัวเล็ก ระดับประถมศึกษา จนรัฐบาลจีนเลือกปังปอนด์เป็นทูตวัฒนธรรมที่นั่น” 

กระทั่งวันนี้ “หนูหิ่น อินเตอร์” ที่มีเสน่ห์ของเรื่องราวผู้จัดการบ้านแสนฮากับเจ้านายสาวแสนสวย ด้วยการสื่อวิถีชีวิตในสังคมไทยจนกลายเป็นขวัญใจแม่บ้าน สาวทำงาน ตลอดจนผู้นิยมบริหารต่อมฮา ได้ปรับคอนเทนต์ไปขายในรูปแบบฟิล์ม “หนูหิ่น เดอะ มูฟวี่”จนสามารถโกยรายได้ 80 ล้านบาทในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา 

วิธิต ปรากฏตัวในชุดเสื้อเชิ้ตสีชมพู กางเกงสแลคสีดำ ผูกไทสีแดง สวมรองเท้าคัตชูขัดมันสีดำ เขาเป็นชายวัยประมาณ 50 ต้นๆ รูปร่างท้วม ผิวขาว ผมสองสี หน้าผากกว้าง สวมแว่นตาขนาดใหญ่ขอบหนาเต๊อะ ใบหน้ายิ้มแย้มต้อนรับ POSITIONING ในฐานะผู้มาเยือนอย่างเอ็นดู สร้างความรู้สึกแตกต่างจาก บก.วิติ๊ดในจินตนาการที่เคยรู้จักในการ์ตูน “มหาสนุก” ที่เหล่านักเขียนต่างปั้นคอนเทนต์เขาเป็น บ.ก.เสียงดุได้อย่างเกินจริง 

“นี่เป็นหนังสือเล่มแรกในรอบรายปีที่ผมมีเวลาให้สัมภาษณ์” วิธิตบอกด้วยรอยยิ้มปนหัวเราะอย่างอารมณ์ดี พร้อมเริ่มบทสนทนาเกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดสิ่งพิมพ์กับ POSITIONING อย่างผู้มีประสบการณ์ ด้วยบุคคลิกของนักธุรกิจ แต่ยังแฝงจิตวิญญาณของคนทำหนังสือ ก่อนจะย้อนมาเล่าถึงบทบาท และโฟกัสธุรกิจของครอบครัวบันลือสาส์นอย่างมีความสุข 

“ผมเริ่มต้นทำ “ขายหัวเราะ” ตอนอายุ 18 ปี ช่วงที่เรียนอยู่พณิชยการพระนคร เพราะเห็นโอกาสในตลาดที่มีการ์ตูนแนวนี้อยู่น้อยมากมีเพียง “ต่วยตูน” แต่ผมว่ายังไม่ใช่ และคิดว่าแนวขายหัวเราะต้องโดน และขายได้จริงๆ” 

ตั้งแต่เด็ก วิธิตชื่นชอบงานเขียนการ์ตูน ลายเส้น และคลุกคลีอยู่กับงานโรงพิมพ์ของครอบครัว “บันลือสาส์น” ที่แม้จะมีพี่น้องทั้งหมด 9 คน แต่ในฐานะลูกชายคนโต เขาไม่ยอมอยู่นิ่งที่จะช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว เขาเริ่มต้นเรียนหนังสือที่ โรงเรียนสตรีจุลนาค จนมัธยมศึกษาตอนต้อน แล้วย้ายมาเรียนต่อสายวิชาชีพที่โรงเรียนพณิชยการพระนคร ตรงนี้สร้างโอกาสให้เข้าได้เรียนรู้ และเข้าไปฝึกงานด้านฟิล์ม โดยเข้าฝึกงานกองถ่ายภาพยนตร์ ก่อนจะไปตัดสินใจไปเรียนทำหนังจริงที่ London College ประเทศอังกฤษ 

“ช่วงซัมเมอร์ผมกลับมาฝึกงานกองถ่าย และร่วมกำกับหนังในไทย สนุกนะ เราทำงานเต็มที่จนถูกชวนให้ไปร่วมงานในฮอลลีวู้ดที่อเมริกา แต่ผมต้องเลือกกลับมารับช่วงธุรกิจครอบครัว และวันนี้ไม่เสียใจที่เลือกทิ้งโอกาสนั่น เพราะวันนี้ผมมีความสุขกับปัจจุบัน” 

ซึ่งวิธิตบอกว่าเป้าหมยสูงสุดในชีวิต คืออยากทำให้กลุ่มบรรสือสาส์นสามารถผลิตงาน การ์ตูนได้ครอบคลุมทุกรูปแบบ คล้ายกับวอลท์ ดิสนีย์ 

“ผมอยากเป็นวอลท์ ดิสนีย์เมืองไทย”เขาบอกอย่างอารมณ์ดี 

นั่นเพราะจุดเด่นของมุกฮาๆ ของตัวละครมากมาย ตั้งแต่ “ขายหัวเราะ” หรือ “มหาสนุก” และ “หนูหิ่น” ที่กลั่นไอเดียมาจากทีมนักเขียนทั้งเก่า และใหม่ร่วม 30 ชีวิต เพื่อผลิตการ์ตูนลายเส้นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และถ่ายทอดออกมาเป็นแก๊กฮาหลุดโลกในปัจจุบัน 

“ผมโชคดีที่มีนักเขียนหลากหลาย แต่ละคนมีความถนัดต่างกัน เช่นคุณต่าย จะเด่นเรื่องแก๊ก คุณนิค เด่นเรื่องลายเส้นและการหักมุม คุณหมู ถนัดเรื่องสั้นและตลกแนวเสียดสี คุณเอ๊าะ เน้นแนววัยรุ่นและภูมิปัญญาอีสาน คุณเฟน สนุกกับการล้อเลียน และคุณขวด มีความสามารถด้านการ์ตูนดีไซน์ ในฐานะ บ.ก. ผมพยายามส่งเสริมและผลักดันให้แต่ละคนค้นพบตัวเอง และพัฒนางานให้ดีขึ้น” 

พร้อมเล่าถึงการทำงาน “ตอนนี้ผมไม่ลงรายละเอียดมากนัก แต่ยังเลือกส่งมุกต่อให้นักเขียนรุ่นใหม่ๆ เพื่อให้เขามีโอกาสต่อยอด และสื่อแก๊กความฮาออกมาแล้วขายได้ เพราะผมไม่มีเวลาเขียนเอง ส่วนนักเขียนรุ่นแรกๆ ชั่วโมงบินสูง เขารับผิดชอบ และผมมั่นใจว่าขายได้ ผมให้อิสระในการคิดเขาเต็มที่ แต่ยังคงต้องใส่ใจในคอนเซ็ปต์อยู่” 

ทุกวันนี้ บ.ก.ร่างท้วมสวมแว่นตาหนาเตอะท่านนี้ มักจะถูกนำมาล้อเลียนเป็นภาพวาดการ์ตูน “มหาสนุก” อยู่เป็นประจำ ตั้งแต่ในอดีตจนแฟนคลับรู้จักในนาม “บ.ก.วิติ๊ด” ไม่เว้นแต่ลูก 5 คนที่วิธิตวางคอนเซ็ปต์ให้แต่ละคนเป็นคาแร็กเตอร์การ์ตูนหัวใหม่ๆ ที่แตกไลน์เพิ่มขึ้น 

รวมทั้งใช้ชื่อลูกเป็นชื่อ 5 แผนกของธุรกิจในกลุ่มบรรสือสาส์น อาทิ แผนกนิวมีเดีย (New Media Love Story) เน้นผลินหนังสือที่มีเนื้อหาสนุกสนาน รักโรแมนติกใสๆ หรือแผนกนาวมีเดีย และแนตตี้ มีเดีย (Natty Media Cute Story) ดูแลการผลิตหนังสือแนวเอ็ดดูเทนเมนต์สำหรับเด็กโดยเฉพาะ เป็นต้น และลูกๆ ทุกคนก็ไม่เว้นถูกนำมาเขียนเป็นการ์ตูนหัวใหม่ๆ ที่ทยอยผลิตเพิ่มขึ้น 

“ตอนนี้ลูกสาวคนโตอายุ 16 ปี เขาเก่งด้านภาษา ถนัดงานด้านการแปล คนรองชอบงานด้านออกแบบกราฟิก ส่วนแฝดชายสองคนสนใจด้านเทคโนโลยี และลูกสาว 1 ในแฝด 3 อายุ 12 ปี กำลังฝึกให้สนใจงานพีอาร์ เพราะเขาชอบพูดคุย อัธยาศัยดี ชอบพบปะผู้คน” วิธิตบอกปนหัวเราะ 

นั่นเพราะเขาต้องการวางรากฐานธุรกิจ 5 บริษัทกลุ่มบรรลือสาส์น และบริษัทน้องใหม่ในเครือ “วิธิตา แอนิเมชั่น” อายุเพียง 5 ปี เพื่อตั้งขึ้นมาเป็นหัวหอกรุกงานด้านนิวมีเดีย และแอนิเมชั่น ตลอดจนประสานการทำตลาดเรื่องฟิล์มในปัจจุบัน รวมทั้งเตรียมโอนถ่ายธุรกิจครอบครัวไปสู่ยุคที่ 3 ในอนาคต 

แม้วันนี้วิธิตต้องการพรีเซนต์ธุรกิจกลุ่มบริษัท บรรลือสาส์นใหม่ในภาพที่เป็นอินเตอร์มากขึ้น ด้วยลงทุนเทคโนโลยีใหม่ อาทิ ห้องตัดต่อ ห้องอัดเสียง ห้องพากย์ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการ เพื่อลดต้นสร้างช่องทางใหม่ๆ ในการผลิตคอนเทนต์ที่พร้อมป้อนตลาดทั้งในและต่างประเทศหลากหลายขึ้น 

อาทิ เตรียมออนแอร์การ์ตูน “ปังปอนด์” ซีรี่ส์ใหม่ทางช่อง 3 ในเดือนปลายเดือนสิงหาคมนี้ และเตรียมการ์ตูน “สามก๊ก”ออนแอร์ต่อเนื่องกับช่อง7 หลังจากขายลิขสิทธิ์การ์ตูน“สามก๊ก”แปลเป็นภาษาเกาหลี เพื่อทำตลาดในต่างประเทศ รวมทั้งเซ็นสัญญากับ CCTV สถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลจีน เพื่อนำการ์ตูนปังปอนด์ไปฉายที่นั่น 

“ทุกวันนี้ผู้อ่านช่วยเราเยอะมาก ช่วยตอบแบบสอบถาม ส่งมุกเข้ามาร่วมสนุก และติชม รวมทั้งเสนอความต้องการรูปแบบใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา มุกดีๆ ของเราหลายมุกได้มาจากผู้อ่าน แต่ต้องประยุกต์ให้สั้น เข้าใจง่าย อ่านแล้วฮาวันนี้ไม่ต้องคิดต่อ แต่ละวันมีจดหมายจากผู้อ่านหลายร้อยฉบับ” 

นี่พอการันตีได้ว่าการ์ตูน “ขายหัวเราะ” และ “มหาสนุก” รวมทั้งหนังสือในเครือบรรลือสาส์นยังคงความคลาสสิก และไม่ทิ้งกลิ่นอายลายเส้น และเสียงหัวเราะในอดีต ที่ยังครองใจแฟนคลับอารมณ์ดีได้ตลอดกาล 

ต่างตรงที่รูปแบบการนำเสนอคอนเทนต์ที่หลากหลายขึ้น เพื่อปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย อาทิ นำการ์ตูน “ขายหัวเราะ” ไปให้บริการเป็นมือถือ เป็นต้น 

“ความสำเร็จของบรรสือสาส์นที่รักษาตำแหน่งผู้นำตลาดการ์ตูนแนวสนุกสนาน และเป็นการ์ตูนของคนไทยมาตลอดกว่า 30 ปี เพราะเรามาถูกทาง มองต่างจากคู่แข่ง และพัฒนาผลงานต่อเนื่อง ไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่” 

วันนี้ “วิธิต” ยังคงทำหน้าที่พ่อบ้าน “ครอบครัวมหาสนุก” ควบคุมการผลิตคอนเทนต์กระตุกต่อมฮาต่อไป 



Profile 

Name : วิธิต อุตสาหจิต 
Born : 2497 (ปัจจุบันอายุประมาณ 52 ปี) 
Education : 
- มัธยมศึกษตอนต้น จากโรงเรียนสตรีจุลนาค 
- ประกาศนียบัตรทางวิชาชีพ (ปวช.) จากโรงเรียนพณิชยพระนคร 
- ปริญญาตรีด้าน Film Making จาก London College 
Career Highlights: 
- 2516 บรรณาธิการและผู้ก่อตั้งหนังสือการ์ตูน “ขายหัวเราะ” 
- 2521 ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยเรื่อง “ผีหัวหาด” 
- 2449 ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ หนูหิ่น เดอะ มูฟวี่ 
ปัจจุบัน 
- ประธานกรรมการ บริษัท วิธิตา แอนิเมชั่น จำกัดในเครือบรรลือสาส์น 
- กรรมการผู้จัดการ 5 บริษัทในกลุ่มบรรลือสาส์น 
Family : สมรสกับ “โชติกา อุตสาหจิต” ปัจจุบันมีบุตร 5 คน หญิง 3 คน และชาย 2 คน (สามคนสุดท้ายเป็นแฝด) 
Honor : ที่ปรึกษาสมาคมการพิมพ์ไทย



ท่ามกลางสถิติการอ่านหนังสือของคนไทยอันแสนตกต่ำ ยังมีหนังสือหัวหนึ่งสร้างปรากฏการณ์ยอดขายทะลุหลักล้านเล่มได้ในแต่ละเดือน ตลอดหลายสิบปี 


'ขายหัวเราะ' คือการ์ตูนไทยสายพันธุ์แท้ที่เป็นเจ้าของยอดจำหน่ายมหาศาลนั้น ภายใต้การนำทัพของ วิธิต อุตสาหจิต หรือ บก.วิติ๊ด สุดโหด ตัวอ้วนกลม ซึ่งถูกนักเขียนเขียนล้อเลียนมากที่สุด แม้ความจริงแล้วเขาจะเป็นที่รักยิ่งตั้งแต่นักเขียนไปจนถึงแฟนขายหัวเราะ-มหาสนุกทุกคน ตลอดเวลานับ 38 ปี ย่อมเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในหลายด้าน แต่ขายหัวเราะก็ไม่เคยแผ่ว หนำซ้ำยังคงรักษาความนิยมไว้ได้ชนิดติดลมบน 

0 ขายหัวเราะ-ฮาสามัญประจำชาติ 

หากย้อนรอยถอยหลังไปราว 56 ปีก่อน บนถนนนครสวรรค์ ใกล้สะพานผ่านฟ้า พื้นที่บริเวณนั้นเป็นแหล่งการซื้อขายหนังสือเก่า ด้วยวิสัยทัศน์ของ บันลือ อุตสาหจิต เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจค้าหนังสือเก่า เมื่อกิจการเติบโตการพัฒนาแรกจึงเกิดขึ้น โดยเริ่มจัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือของตนเองภายใต้ชื่อว่า 'สำนักพิมพ์บรรลือสาส์น' หนังสือในระยะแรกเป็นประเภทนวนิยาย หนังสือเพลงลูกทุ่งและลูกกรุง และหนังสือการ์ตูน หนังสือที่สร้างชื่อเสียงและทำให้บรรลือสาส์นเกิด คือ หนูจ๋า, เบบี้ หลังจากนั้นก็มีหนังสือตีพิมพ์ออกสู่ตลาดเรื่อยๆ กระทั่ง วิธิต อุตสาหจิต ลูกชายคนโตของครอบครัวอุตสาหจิต อายุย่าง 18 ปี เขาได้ก้าวเข้าสู่ธุรกิจหนังสืออย่างเต็มตัวในฐานะบรรณาธิการหนุ่มไฟแรง จากการที่เขาเป็นนักอ่านตัวยง เมื่ออ่านมากจึงเข้าใจวงการหนังสือมาก เขาพบว่าในหนังสือสมัยก่อนมักจะมีเรื่องขำขัน การ์ตูนตลก หรือเรื่องแปลกๆ สอดแทรกโดยตลอด จึงคิดชูประเด็นรองเหล่านี้ให้กลายเป็นประเด็นหลัก --- 


"ผมคิดว่าทำไมไม่เอาเรื่องพวกนี้ที่เป็นน้ำจิ้มไม่ใช่อาหารหลักมารวมกัน สมัยก่อนความบันเทิงมีน้อย โทรทัศน์ก็มีไม่กี่ช่อง มีหนังก็ไม่เยอะ คนจึงหาทางออก คืออ่านหนังสือ ผมก็เลยตั้งโจทย์กับตัวเองว่าจะทำหนังสือที่ครอบคลุมคนได้ทุกระดับชั้น ไม่ว่าจะเป็นวัยใดก็สามารถอ่านได้" 

นิตยสารการ์ตูน 'ขายหัวเราะ' หนังสือการ์ตูนตลกแก๊กสามช่องจบและหนึ่งช่องจบ ขนาดเท่ากับกระดาษเอสี่จึงถือกำเนิดขึ้น ซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบจากบรรดานักอ่านตามคาด กระทั่งเป็นจุดเริ่มต้นของนิตยสารการ์ตูนลำดับถัดมาชื่อ 'มหาสนุก' 

ทั้งขายหัวเราะและมหาสนุก เป็นแหล่งผลิตนักเขียนการ์ตูนรุ่นใหม่มากมาย เช่น นิพนธ์ เสงี่ยมศักดิ์ (นิค), ภักดี แสนทวีสุข (ต่าย), ผดุง ไกรศรี (เอ๊าะ) ฯลฯ อีกทั้งยังสร้างสรรค์การ์ตูนยอดนิยมอีกหลายชุด เช่น สาวดอกไม้กะนายกล้วยไข่, ปังปอนด์, หนูหิ่นอินเตอร์ ฯลฯ 

ขายหัวเราะนั้นเป็นดั่งจดหมายเหตุบันทึกเหตุการณ์ตลอดเวลา 38 ปี แทบทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือทั่วโลกจะถูกรวบรวมไว้อย่างน่าสนใจด้วยฝีไม้ลายมือการตวัดพู่กันของนักเขียนมากความสามารถ จนทำให้ วิธิต ถึงกับเอ่ยปากว่าภูมิใจมากที่ขายหัวเราะได้ทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวมากมาย ทั้งเรื่องซึ่งกำลังเป็นที่โจษจัน ภาพยนตร์ โฆษณา การเมือง ฯลฯ แม้บางเรื่องจะไม่ได้รับการบันทึกเป็นกิจจะลักษณะ แต่นักเขียนก้นกุฏิของวิธิตต่างพร้อมใจหยิบจับมาขุดหาประเด็นเล่นกันอย่างสนุกสนานถ้วนทั่วหน้าผ่านลีลาพลิกแพลงตะแคงหงาย 

เมื่อเอ่ยถึงฝีมือการเขียนการ์ตูนของนักเขียนมือฉกาจเหล่านี้ บางรายอาจแวะเวียนเปลี่ยนผ่านมาส่งผลงานให้นักอ่านได้หัวร่องอหายสบายใจ อีกหลายรายเป็นนักเขียนชั้นครูที่อยู่ประจำค้ำน่านฟ้าการ์ตูนไทย นับไปนับมาก็พบว่าขายหัวเราะและมหาสนุกมีนักเขียนร่วมอุดมการณ์ถึง 55 คน ! 

"นักเขียนตั้งแต่รุ่นแรกๆ ในวันนี้ก็ยังอยู่ แต่บางคนก็หลุดไป นักเขียนทั้งหมดที่เรามีตอนนี้ 55 คน มีทั้งประจำและไม่ประจำ แต่มีงานมานำเสนอตลอด ขายหัวเราะเป็นนิตยสารที่มีคนทำเยอะที่สุดในโลก เพราะคนอ่านส่งงานมาด้วย บ.ก.เป็นคนเลือก มีการเกลา ผลตอบรับก็ค่อนข้างเร็ว รู้ทันทีว่าคนอ่านชอบหรือไม่ชอบ คนอ่านจะสื่อสารกลับมาตลอด ทำให้เราปรับตัวตามยุคสมัยได้" 

เนื่องจากความโอบอ้อมอารีที่สำนักพิมพ์มีต่อนักเขียน นานวันนักเขียนก็จะยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้น บรรณาธิการอย่าง วิธิต จึงต้องทำหน้าที่คัดสรรนักเขียนให้ตรงตามคุณสมบัติที่ฟังดูง่ายๆ แต่ใช่ว่าทุกคนจะมีคุณสมบัตินี้ 

"เราเปิดโอกาสให้ทุกคน ไม่ว่าจะนักเขียนหรือผู้ที่จะมาร่วมงานในอนาคต ถ้าคุณคิดว่าสามารถเพิ่มมวลความสุขให้คนไทยได้ ไม่ว่าจะรูปแบบใดก็แล้วแต่ นำเสนอมาและมาปรึกษากัน อาจนำมาตบแต่งให้เหมาะกับคนอ่านของเรา" 

ขณะที่นักเขียนรุ่นใหม่กำลังผลิแย้มและสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ บรรดานักเขียนรุ่นเก๋าก็กำลังย่างเท้านำหน้ารุ่นน้องอยู่เนืองๆ ไม่ใช่การวิ่งหนี แต่คือการนำทางให้รุ่นน้องเดินตามสู่เส้นทางความสำเร็จนั่นเอง 

วิธิต เล่าว่า "ในขณะที่นักเขียนรุ่นก่อนเขายังเขียนงานของเขาด้วย แต่ก็เป็นโค้ช เวลานักเขียนรุ่นใหม่เจอก็จะเข้าไปถาม ไปคุย วิธีการจับเอาสิ่งที่มีในอากาศมาใช้ประโยชน์ นักเขียนรุ่นเก่าจะรู้วิธีค่อนข้างดี บางแก๊กพลิกจนคุณไม่รู้ว่าเอามาจากไหน เล่นสิ่งที่ร่วมสมัย พอเล่นสิ่งที่ร่วมสมัยก็จะไม่ซ้ำกันเท่าไร โอกาสที่จะซ้ำกันก็น้อย แต่ก็ยังมีซ้ำนะ นักเขียนแต่ละคนมีภูมิหลังแตกต่างกัน เขาก็จะมองในคนละรูปแบบกัน ทำให้การ์ตูนขายหัวเราะมีความหลากหลาย เปิดโอกาสให้ทุกคน ทุกวันนี้ได้ถึง 55 คนก็ใช้วิธีนี้แหละครับ (หัวเราะ)" 

นอกจากการคัดสรรตัวนักเขียน วิธิต ยังต้องทำหน้าที่หลักของบรรณาธิการ คือการตรวจตราความถูกต้องเหมาะสม ที่สำคัญเขาต้องคัดสรรแก๊กด้วย --- 

วิธิตเล่าว่าการคัดสรรแก๊กมีเคล็ด (ไม่) ลับง่ายๆ คือ ต้องเป็นสิ่งที่คนเข้าถึง ถ้าเป็นสิ่งที่คนอ่านต้องจินตนาการมากเกินไปคนจะไม่เข้าใจ ความเป็นไปได้มันไม่มี 

"เรื่องความเป็นไปได้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด จะเป็นรูปแบบใดก็ตาม แต่ความเป็นไปได้ต้องคงอยู่ ต้องมีการปรุง การชง และการตบ สามอย่างนี้ต้องครบ" 

เมื่อได้แก๊กที่ต้องการแล้ว และถูกรวบรวมในขายหัวเราะอย่างเป็นกิจจะลักษณะ บทบาทสำคัญซึ่งได้ถูกวางไว้ตั้งแต่ต้นโดย วิธิต จึงได้เริ่มต้นขึ้น นั่นคือ การสร้างมวลความสุขแก่คนไทย --- 

"ตั้งแต่อดีตขายหัวเราะก็ยังคงทำหน้าที่ของตนเองอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ผมภูมิใจที่สุด ที่ขายหัวเราะเป็นจุดเริ่มต้นของการรักการอ่านของคนไทย คนไทยทุกคนน่าจะมีสักครั้งในชีวิตที่หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นอ่าน และสนุกกับมัน ไม่ว่าผมจะไปที่ไหน ไปขึ้นเครื่องบิน พอสจ๊วตเห็นชื่อผม เขาวิ่งมาเลย เป็นเรื่องที่ผมภูมิใจมาก เขามีหนังสือขายหัวเราะด้วย เขาเห็นชื่อผม เขามาถามว่าผมใช่ บก.ขายหัวเราะหรือเปล่า พอบอกว่าใช่ เขาดีใจมาก หรือแม้แต่ไปขอวีซ่าที่ต่างประเทศ ก็เหมือนกัน พอเขาเห็นชื่อเรา เขาจำได้ เจออย่างนี้ตลอด" 

วิธิตตั้งข้อสังเกตว่า ด้วยบทบาทที่ขายหัวเราะมีคือสร้างเสียงหัวเราะอาจตรงกับสิ่งที่คนไทยโหยหา เพราะคนไทยรวมทั้งคนทั่วโลกต้องเจอปัญหามากมาย ซึ่งล้วนแต่นำไปสู่ความเครียดทั้งสิ้น 

"โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ เรื่องการเมืองและอื่นๆ ทำให้คนต้องหาทางออกอย่างใดอย่างหึ่ง ขายหัวเราะก็เป็นตัวเลือกที่หยิบฉวยได้ง่าย จริงๆ แล้วความเครียดก็มีทั่วโลก อารมณ์ขันเป็นสิ่งที่คนโปรดปรานเสมอทุกยุคสมัย" 

--- และนี่ก็อาจเป็นเหตุให้ขายหัวเราะครองตลาดการ์ตูนไทยมาแสนนาน 

0 วงการการ์ตูนไทยในสายตา 'วิติ๊ด' 

จากยุคแรกจนถึงปัจจุบัน 'ขายหัวเราะ' เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย อาทิ นักเขียนหน้าใหม่เกิดขึ้นไม่ว่างเว้น ผลงานของแต่ละคนก็ล้วนสะท้อนตัวตนอันหลากหลาย ในความหลากหลายของขายหัวเราะ ลายเส้นที่ผิดหูผิดตาดูแปลกแยกจากภาพจำเก่าคงบังเกิด --- 

บ.ก.วิธิต อธิบายความการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า "ลายเส้นที่แปลกไปเพราะเด็กรุ่นใหม่ได้รับอิทธิพลจากการ์ตูนญี่ปุ่นมาก ขายหัวเราะจึงเป็นไปในอีกรูปแบบหนึ่ง ก็ไม่ได้เสียหายอะไร คุณเริ่มอะไรที่เป็นครูคุณ แล้วคุณค่อยมาหา ค่อยมาเปลี่ยน ตรงนี้สำคัญ" 

จะเห็นได้ว่าเจ้าตำรับการ์ตูนอย่างประเทศญี่ปุ่นได้สร้างสรรค์การ์ตูนชื่อดังมากมาย หลายเรื่องโด่งดังไปทั่วโลก แน่นอนว่าแฟนการ์ตูนชาวไทยก็คือหนึ่งในสาวกการ์ตูนแดนอาทิตย์อุทัยด้วยเช่นกัน และกลุ่มคนที่คร่ำเคร่งอยู่กับการ์ตูนอย่างบรรดานักเขียนการ์ตูนก็ย่อมเรียนรู้จากเจ้าตำรับด้วยเช่นกัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีกลิ่นปลาดิบติดมาในงานการ์ตูนไทย 

แต่สำหรับขายหัวเราะแล้วแม้จะมีกลิ่นปลาดิบหรือมีรสชาติของวาซาบิอยู่บ้าง แต่ด้วยความแตกต่างและตัวตนที่ชัดเจนซึ่งฉายชัดว่านี่คือการ์ตูนไทย ส่งผลให้ขายหัวเราะเป็นดั่งตัวแทนประเทศไทยในโลกการ์ตูน 

"ทุกวันนี้ที่ขายหัวเราะอยู่ได้ดี เพราะเรามีความแตกต่าง เราเป็นตัวของตัวเอง เรามีสไตล์ของตัวเอง รูปแบบการ์ตูนของขายหัวเราะ ชาติใดก็ไม่มี มีศาสตราจารย์ญี่ปุ่นคนหนึ่งมาทำวิจัยเรื่องการ์ตูนในเอเชีย เขาก็ยอมรับนะ เขาไปดูในหลายๆ ที่ ก็เจอแต่การ์ตูนสไตล์ญี่ปุ่น แต่จะมีขายหัวเราะที่ยังคงเอกลักษณ์ รูปแบบของตัวเองได้ สามารถทนต่อกระแสการ์ตูนญี่ปุ่นได้ เราจึงมีความเป็นอมตะ" 

ณ พิพิธภัณฑ์มังงะ Kyoto International Manga Museum เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่รวบรวมการ์ตูนจากประเทศต่างๆ ทั้งจีน เกาหลี ฮ่องกง อเมริกา ฯลฯ และที่น่าภาคภูมิใจคือมีขายหัวเราะ มหาสนุก ถูกเก็บรักษาอย่างดีที่นั่นด้วย 

นอกจากการ์ตูนไทยจะได้รับการยอมรับจากนานาชาติแล้ว ในบ้านเราเองทิศทางการเจริญเติบโตของวงการนี้ก็ยังค่อนข้างสดใสและดีขึ้น แต่รูปแบบอาจเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ดังที่ วิธิต ให้ความเห็นว่าต่อไปหนังสือการ์ตูนที่เป็นกระดาษจะยังคงมีอยู่แต่จะมีสื่อรูปแบบใหม่เข้ามาส่งเสริมกัน 

"รูปแบบที่เป็นกระดาษน่าจะยังคงอยู่ เพราะซื้อง่าย หยิบง่าย ราคาสมเหตุสมผล ส่วนรูปแบบดิจิทัลจะเสริมกัน ผมเคยอยู่เมืองนอก ได้คุยกับนักเรียนที่นั่น เขาได้อ่านการ์ตูนขายหัวเราะ มหาสนุก ที่เมืองนอก ส่วนใหญ่เขาจะส่งไปพร้อมกับพืชผัก เครื่องเทศเมืองไทย ส่งไปตามซูเปอร์มาร์เก็ต ต้องรอ และราคาก็แพง อีกอย่างหนึ่งคือ ชาวต่างประเทศที่เรียนภาษาไทย ทุกคนพูดเหมือนกันหมดว่าหนังสือไทยที่เขาอ่านเล่มแรก คือหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะ มหาสนุก เพราะมีรูป มีตัวหนังสือบรรยาย อีกอย่างที่เขาได้เลยคือได้สัมผัสความเป็นไทย" 

ด้วยเหตุนี้ วิธิต จึงจับขายหัวเราะยัดใส่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่ทั้ง iPhone, iPad และ Smart Phone ในนาม 'ขายหัวเราะ Happlication' 

0 ขายหัวเราะ Happlication 

เดิมทีขายหัวเราะ มหาสนุก เคยเจาะตลาดไอทีมาแล้วด้วยการเปิดให้ดาวน์โหลดผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่ผู้ใช้สามารถโหลดได้เพียงทีละแก๊กเท่านั้น อีกทั้งเทคโนโลยีเก่ายังไม่ดีพอทำให้การดาวน์โหลดแต่ละครั้งช้ามาก 

แต่ปัจจุบันโลกได้เข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูป เทคโนโลยีต่างรุดหน้าและเปี่ยมประสิทธิภาพเพียงพอจะให้ วิธิต กลับมาคิดสร้างขายหัวเราะยุคใหม่อีกครั้งเพื่อเปิดช่องทางอ่านนิตยสารการ์ตูนระดับตำนานนี้แก่ผู้อ่านมากขึ้น ซึ่งเขายืนยันว่าจะไม่กระทบยอดขายเดิมอย่างแน่นอน จะมีแต่ผลดีต่อคนอ่านทั้งในไทยและต่างประเทศ 

"รูปเล่มยังเป็นสิ่งที่หยิบฉวยง่าย กระจายไปทั่ว หนังสือขายหัวเราะเล่มหนึ่งจะผ่านมือได้เป็นร้อยๆ คน สื่อดิจิทัลอ่านได้ทีละคน และต้องมีเครื่องมือ แต่แบบเล่ม พ่อแม่ซื้อมาอ่าน ลูกอ่านต่อ หลานอ่านต่อ เพื่อนฝูง คนใช้ อ่านได้ทั่ว มันเป็นสื่อที่มีเสน่ห์คนละรูปแบบกัน แบบกระดาษก็จะคลาสสิก ส่วนแบบดิจิทัลก็จะเป็นเรื่องเทคโนโลยี น่าจะไปได้ดีทั้งสองกลุ่ม เป็นทางเลือกของคนรุ่นใหม่ คนไทยที่อยู่ต่างประเทศจะได้ประโยชน์มาก ปัจจุบันกว่าหนังสือขายหัวเราะจะไปถึงก็ช้าและค่าใช้จ่ายการขนส่งก็แพง ต่อจากนี้คนอ่านทั่วโลกก็จะได้สนุก หัวเราะไปพร้อมๆ กัน" 

วิธิต จึงคิดสมการความสุขแก่คนไทย คือ ขายหัวเราะ + Ha App = Happlication 

สิ่งพิเศษที่ขายหัวเราะ Happlication แอบซ่อนไว้ภายในรูปลักษณ์ซึ่งไม่ต่างจากเล่มปกติ คือ มีเสียงประกอบ และภาพเคลื่อนไหวอยู่มากมาย เช่น คำทักทายจาก บก.วิธิต เสียงหัวเราะ ช่วยเพิ่มอรรถรสในการอ่านยิ่งขึ้น ซึ่ง วิธิต บอกว่าเพื่อเอาใจ และเป็นการตอบแทนแฟนๆ ที่ติดตาม 

"นอกจากนี้ ในวาระพิเศษ เราได้เอาของหายากคือขายหัวเราะเล่มที่หนึ่ง ซึ่งคนตามหากันมาก มีคนดังอย่าง ปัญญา นิรันดร์กุล, ดร.เสรี วงศ์มณฑา และบุญสม รดาเจริญ ทั้งสามคนรู้จักขายหัวเราะในแบบฉบับเล่มใหญ่ ติดตามโดยตลอด จึงยินดีร่วมงานกับเราด้วย" 

สมัยก่อนขายหัวเราะอยู่คู่บ้าน เป็นความฮาสามัญประจำบ้าน แต่คนยุคใหม่มีสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ตติดตัวมากกว่า จะเข้าถึงได้มากกว่า เรารักษาบทบาทให้คนรักการอ่าน เพียงแต่รูปแบบเปลี่ยนไปเท่านั้นเอง 

วันนี้ --- ขายหัวเราะจึงกลายเป็นความฮาสามัญประจำชาติระดับตำนานไปแล้วครับท่านพี่น้อง 0

 

 

 

โดย : ปริญญา ชาวสมุน,เพลินพิศ ศรีบุรินทร์

ที่มา : Positioning Magazine, bangkokbiznews.com / 12 กันยายน 2554

Views: 2981

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service