เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์... หลากมุมคิดของ "นักรู้สึก"

ผู้ชายในรูปบอกกับเราด้วยรอยยิ้มนิดๆ ว่า หากให้นิยามตัวเองแล้วเขาคงเป็น "นักรู้สึก" ที่มีความสุขกับการสังเกตโลก สังเกตตัวเอง 

ทั้งๆ ที่สาธารณชนรู้จัก "เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์" ในมุมของ "นักเขียน" ที่สร้างสรรค์ผลงานได้หลายหลาก ทั้งบทกวี ที่เคยทำให้คว้าซีไรต์มาจากรวมบทกวีเรื่อง "แม่น้ำรำลึก" รวมถึงเรื่องสั้นที่ล่าสุด "กระดูกของความลวง" เพิ่งเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์อีกครั้งในปีนี้ 

"เพราะงานของเราเขียนจากความรู้สึก ไม่ได้เขียนจากความคิดโดยตรง นักคิดอาจวิเคราะห์ค้นคว้ามาก แต่นักรู้สึกต้องมีอะไรกระทบใจ ไม่งั้นก็ไม่รู้ว่าจะเขียนไปเพื่ออะไร แต่จะว่าไปก็คงเขียนเพื่อตัวเอง เหมือนพอมีอะไรมากระทบความรู้สึกเศร้า ทุกข์ อ่อนไหว เปราะบางก็ต้องปล่อยออกไป" 

เพราะงั้นทุกครั้งที่เรวัตรลงมือเขียนงานในช่วงก่อนหน้านี้่ จึงไม่ต่างกับการเยียวยาความรู้สึกต่างๆ ของตัวเอง 

โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าด้วยกลุ่ม Underdog ของสังคม ที่เรวัตรว่ามันมาจากใจลึกๆ ของตัวเอง ที่มาจากความรู้สึกที่ว่าตัวเองก็เป็นคนหนึ่งในกระแสรองของสังคม เป็นเหมือนส่วนเกินของกลุ่มก้อน ถึงวันนี้จะประสบความสำเร็จในชีวิตระดับหนึ่ง เขาก็ว่าสิ่งที่ฝังมาลึกๆ ในใจก็ยังคงฝังแน่นอยู่ดี 

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักวิจารณ์หรือนักอ่านหลายคนจะรู้สึกว่า เรื่องเล่าของเรวัตรมีน้ำเสียงของเรื่องจริงที่ถูกป้ายด้วยสีฝุ่นหม่นๆ ชวนให้ใจรู้สึกซึมๆ 

ทว่าในกระดูกของความลวง หลายอย่างแตกต่างออกไป 

"พยายามที่จะฉีก พยายามที่จะผละจากเล่มเก่า ถอยออกมาบ้าง ไม่เอาตัวเองเข้าไปมาก อยากออกจากตัวเองบ้างในบางครั้งถอยห่างออกมาไม่คลุกคลีกับตัวละครมาก ไม่งั้นเดี๋ยวจะหมกมุ่นในความมืดมากเกินไปทั้งเราและคนอ่าน" ว่าแล้วก็ยิ้มกว้าง 

เพราะงั้นในรวมเรื่องสั้นเล่มล่าสุดนี้ จึงเห็นถึง "ความคิด" ที่เข้มขึ้นในประเด็นใหม่ๆ ท่ามกลางเอกลักษณ์เดิมอย่างท่วงทำนองแห่งภาษา โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าด้วย "ความจริง-ความลวง" ที่เป็นกระดูกสันหลังของเรื่องเล่า 

"เราก็เป็นตัวละครหนึ่งในโลก เรามีชีวิตอยู่มาได้จนทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการเอาความลวงมาหล่อเลี้ยงให้คิดว่าตัวเองมีคุณค่า ถ้าเราลวงมากไป บางทีก็ทำให้เราปล่อยเวลา ปล่อยชีวิตให้ผ่านไปวันๆ พอความลวงใหญ่ขึ้น ก็เหมือนโกหกตัวเองจนเราเชื่อ ทั้งที่พอพินิจจริงๆ แล้วเราอาจไม่ได้ทำอะไรให้ชีวิตเราหรือให้คนอื่นเลย" 

เรวัตรมองว่า ความลวงที่ว่าเกิดทั้งในระดับปัจเจกและระดับสังคม และเป็นผลมาจากการ "เลือกเชื่อ" 

"บางทีเราเลือกที่จะเชื่อเรื่องโกหก ฟังแล้วสบายใจ ไม่ชอบการพูดตรงๆ ไม่เชื่อเรื่องจริง เชื่อพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งที่ต้องกับจริตของตัวเอง ทั้งที่ก็รู้แก่ใจว่าโกหกทั้งคู่ แล้วมาแบ่งฝ่ายกัน มันไม่ได้เพิ่งเกิด แต่เกิดมานานแล้ว ที่ผ่านมาเราพยายามมองข้าม พยายามปกปิด ลวงตัวเองว่าสังคมเราไม่มีอะไร ทั้งที่เราก็เห็นปัญหา คนเรามักไม่ค่อยแตะต้องตัวเอง แต่ชอบแตะต้องคนอื่น เราเป็นสวรรค์คนอื่นเป็นนรกเสมอ" 

เรวัตรวิเคราะห์ว่าความลวงทั้งหลายในบ้านเมืองนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากเพราะเราเป็น "สังคมนักพูด" 

"มันไม่มีใครฟังใคร เพราะประเทศเราไม่มีนักฟัง มีแต่นักพูด แล้วเราก็ชอบเพราะมันง่าย สนุกชั่วครู่ชั่วคราว ใครพูดประชดประชันคนอื่นก็กรี๊ดฮา" เรวัตรกล่าวนิ่งๆ 

ย้อนกลับไปยังงานเล่มนี้ เรวัตร์ก็บอกว่าเขาพอใจในการฉีกตัวเอง ทว่าก็อยากทำให้ลุ่มลึกและกลมกล่อมกว่านี้ แต่ก็ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ที่ดี 

แต่ที่ทำทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ว่าเป็นเพราะต้องการจะหนีคลื่นลูกใหม่ในแวดวงนักเขียนที่ไล่หลังมาเรื่อยๆ เพราะสำหรับเรวัตรแล้วการหนีที่สำคัญที่สุดก็คือการหนีตัวเอง 

"เราไม่มีสิทธิหนีคนอื่น เพราะก็ไม่ได้ไปตามอ่านงานทุกชั้นของทุกคน แต่เราต้องเคลื่อนตัวเองให้ไปข้างหน้า ทำตัวให้เป็นคลื่นที่มีพลวัต เคลื่อนช้าบ้าง เอื่อยบ้าง แต่ก็ยังเคลื่อน เพียงแต่ระหว่างทำงานชิ้นใหม่ๆ ก็อยากให้ออกมาดีกว่าเดิมทุกครั้ง" 

ส่วนงานเล่มใหม่นั้น เรวัตรว่ากำลังจะเขียนนิยายเพราะคันไม้คันมือมาพักหนึ่งแล้ว หลังจากเห็นเพื่อนๆ น้องๆ สนุกสนานกับนิยายกันมาระยะหนึ่ง 

พูดคุยกันมา ทุกครั้งที่มีประเด็นว่าด้วยเรื่องการเขียน ผู้ชายคนนี้จะมีแววตาสดใสสุดสุด 

อยากรู้จริงๆ ว่าถ้าไม่เขียนหนังสือ เรวัตรจะเป็นยังไง 

เรวัตร์ฟังแล้วยิ้มกว้าง ก่อนบอกชัดเจนว่า 

"ไม่เคยคิด ยังไงก็ต้องเขียน" 

เพราะไม่งั้น... 

"คงเป็นบ้าไปเลย โลกการเขียนมันดึงดูดเราไม่ให้ลอยไป" 

 

 

 

ที่มา : matichon.co.th /04 กันยายน 2554

Views: 705

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service