สุกรี เจริญสุข นักปฏิวัติดนตรี

ไม่ต้องกล่าวถึงคุณูปการของเขาคนนี้ให้มากความ ความแข็งแกร่งของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันนี้เป็นข้อพิสูจน์อย่างดีว่า สุกรี เจริญสุข ผู้อำนวยการวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ คือนักการปฏิรูปการศึกษาวิชาดนตรีตัวจริงเสียงจริง อย่างที่ไม่ต้องง้อรอแผนปฏิรูปการศึกษาให้เมื่อยตุ้ม เพียงแค่ 15 ปี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ทะยานขึ้นไปติดอันดับ "สถาบันดนตรีของโลก" 

เป็นหนึ่งใน 198 สถาบันดนตรีของโลก ตามการคัดสรรของสถาบันเรนโกล (Rhinegold Directories) ประเทศอังกฤษ 

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก สุกรี เป็นลูกชาวนาและนักเลงเพลงบอก จากอำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีความเชื่อมั่นว่าการศึกษาจะช่วยเปลี่ยนชีวิต ตัดสินใจเดินเข้าสู่ถนนสายดนตรี เพราะไม่อยากเป็นชาวนาอย่างพ่อแม่ ที่ต้องตรากตรำทำงานหนัก แต่ได้ค่าแรงน้อย 

เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการศึกษาเมื่อปี พ.ศ.2518 จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา หรือมหาวิทยาลัยทักษิณในปัจจุบัน สุกรีได้ทำงานเป็นอาจารย์สอนดนตรีที่วิทยาลัยครูจันทรเกษม และเล่นดนตรีตามร้านอาหารแถบพัฒน์พงษ์และพัทยาในเวลากลางคืนไปด้วย มีเครื่องดนตรีที่ชื่นชอบคือแซกโซโฟน 

จากนั้น พ.ศ.2521 เดินทางไปศึกษาต่อปริญญาโทและเอก ที่มหาวิทยาลัยนอร์ทเทิร์นโคโลราโด โคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา จบปริญญาเอกสาขาการเล่นและสอนแซกโซโฟน เมื่ออายุได้ 32 ปี

กลับมาเมืองไทยทำงานด้านดนตรีหลายอย่าง ตั้งแต่ทำนิตยสารเกี่ยวกับดนตรี ชื่อ ถนนดนตรี เคยจัดรายการดนตรีคลาสสิค ทางสถานีวิทยุจุฬาฯ F.M.101.5 MHz เปิดร้านซ่อมเครื่องดนตรี และโรงเรียนสอนดนตรี ชื่อ Dr.Sax ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนสอนดนตรีเอื้อมอารีย์ 

จนกระทั่งมีแนวคิดเรื่องการก่อตั้งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เพื่อสร้างคนดนตรีให้มีคุณภาพทัดเทียมกับวิทยาลัยดนตรีในต่างประเทศ และมองว่าแทนที่จะส่งเด็กไปเรียนต่างประเทศ ก็ให้เอาครูจากต่างประเทศเข้ามาสอน 

"เมื่อลูกเรียนที่นี่ เพื่อนลูกก็เรียนที่นี่ ลูกของเพื่อนก็เรียนที่นี่ แทนที่จะได้เรียนคนเดียว ก็ได้เรียนสามสิบ สี่สิบ เรียนเป็นร้อย เด็กโตขึ้นมาก็มีพวก และเปลี่ยนแปลงสังคมไทย" เป็นคำสัมภาษณ์ที่สุกรีเคยบอกไว้ 

นอกจากตัวเองที่รักที่ชอบดนตรีแล้ว อริยา เจริญสุข อายุ 53 ปี ผู้เป็นภรรยา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าแขนงวิชาธุรกิจดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานหลักสูตรปริญญาตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วย 

ส่วนลูกไม้ที่หล่นใต้ต้นอีก 3 คน ที่เป็นความภูมิใจของผู้เป็นพ่อ จักรกฤษ เจริญสุข อายุ 24 ปี ลูกชายคนโต เรียนจบระดับปริญญาตรี แขนงวิชาดนตรีปฏิบัติ เครื่องดนตรีวิโอล่า วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาวิชาดนตรีปฏิบัติ เครื่องดนตรีวิโอล่า ที่ The University of Northern Colorado School of Music ประเทศสหรัฐอเมริกา 

"กมลมาศ เจริญสุข" ลูกสาวคนกลาง อายุ 22 ปี จบปริญญาตรีที่เดียวกันกับพี่ชาย มีเครื่องดนตรีเอกคือไวโอลิน ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำ ที่โครงการศึกษาดนตรีสำหรับบุคคลทั่วไป วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล (สยามพารากอน) สอนเครื่องดนตรีไวโอลิน 

และ ตปาลิน เจริญสุข อายุ 21 ปี ลูกสาวคนเล็ก ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาตรี เครื่องดนตรีเชลโล่ ทีสถาบันดนตรี Franz Liszt เมือง Weimar ประเทศเยอรมนี 


สำหรับกิจกรรมของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ในวันนี้ มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจและน่าติดตามอย่างมาก เป็นความเคลื่อนไหวที่เข้มข้นไปด้วยคุณภาพจนเริ่มเกิดแรงกระเพื่อมสู่สังคมไทยบ้างแล้ว 

นักศึกษามีผลงานแสดงมากมาย และได้รับรางวัลใหญ่ๆ หลายรายการ อีกทั้งกิจกรรมระดับชาติ อาทิ คอนเสิร์ตจากวงไทยแลนด์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (TPO) การประกวดวงดุริยางค์นานาชาติ (TIWEC) การประกวดเปียโนนานาชาติ การจัดค่ายดนตรีในภูมิภาคอุษาคเนย์ (SAYOWE) 

ล่าสุด เป็นเจ้าภาพงานแซกโซโฟนโลก (World Saxophone Congress, WSC) เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา 

นอกจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์แล้ว สุกรีมองว่าการเรียนดนตรีในระดับอุดมศึกษานั้นยังไม่เพียงพอที่จะพัฒนาดนตรีไปสู่ระดับโลกได้ เขาจึงริเริ่มโรงเรียนเตรียมอุดมดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ในระดับชั้น ม.4-6 ขึ้นมา ถึงวันนี้เป็นเวลา 8 ปีแล้ว เรื่องของฝีมือความเก่งฉกาจสามารถพิสูจน์ได้ทุกวันทุกเวลา โดยเฉพาะจากงานคอนเสิร์ตที่กลุ่มนักเรียนทุกชั้นรวมตัวกันจัดแสดงขึ้นทุกปี มีฝีมือชนิดที่ใครเห็นแล้วต่างก็อึ้ง และทึ่ง 

หนุ่มใหญ่วัย 57 ปี จากนครศรีธรรมราช คนนี้ทำได้อย่างไร แนวคิดมาจากไหน น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง 

ทำไมเลือกทำดนตรีที่มหาวิทยามหิดล 

"มหิดล" เป็นมหาวิทยาลัยที่มีนายแพทย์เป็นอธิการบดี ส่วนใหญ่เป็นแพทย์ผ่าตัด ซึ่งต้องเป็นคนที่ตัดสินใจรวดเร็ว มีความเฉลียวฉลาดมีความรอบรู้ และแม่นยำ อีกอย่างมหาวิทยาลัยมหิดลมีเงินงบประมาณแผ่นดิน 9,000 ล้านบาท มีเงินรายได้ของตัวเองอีก 20,000 กว่าล้านบาท ฉะนั้น เราจะทำโรงเรียนดนตรีสัก 100-200 ล้าน เขาไม่สนใจด้วยซ้ำ 

หมอทำอะไรก็ดูดี (ยิ้ม) เพราะฉะนั้นการที่เราเอาโรงเรียนดนตรีมาอยู่ในมหาวิทยาลัยแพทย์ เราพลอยดูดีไปด้วย (หัวเราะ) 

แล้วโอกาสของการเติบโตก็สูงมาก เรามีฮาร์ดแวร์ ซึ่งเป็นอาคารสถานที่อาจจะบอกว่าดีที่สุดในภูมิภาคนี้ เครื่องไม้เครื่องมือมีมากที่สุด มีเปียโน 230 หลัง เห็นไหมฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ อย่างหนังสือ ตำรา โน้ตเพลง แผ่นเสียง ซีดี คอมพิวเตอร์ พีเพิลแวร์ คือ บุคลากร ครูบาอาจารย์ และนักเรียนที่มีคุณภาพ มีศักยภาพ เป็นคนเก่ง คนดี สุดท้ายมันนี่แวร์ เราไม่ขี้เหร่นะ 

ในส่วนของโรงเรียนเตรียมอุดมดนตรีวันนี้พัฒนาไประดับไหน 

ผมทำโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2545 ถึงปัจจุบัน 8 ปีแล้ว มันก็เหมือนกับโรงเรียนเตรียมแพทย์ เตรียมวิทยาศาสตร์ เตรียมศิลปะ แต่นี่เป็นดนตรี เป็นโฉมหน้าใหม่ของการศึกษาไทย เป็นการปฏิรูปการศึกษาโดยที่ไม่มีกฎหมายรองรับ ไม่มีการแถลงข่าว ไม่มีการแถลงนโยบายแต่เป็นการปฏิรูปการศึกษาโดยการกระทำ 

มันมาจากความเชื่อจนกลายเป็นนโยบาย ผมเชื่อว่าการปล่อยให้เด็กเรียนสายสามัญจนจบ ม.6 ถ้ามีความชอบ มีความรู้เรื่องดนตรีเล็กๆ น้อยๆ แล้วค่อยมาเรียนดนตรี นั่นผิด ดนตรีเป็นวิชาที่ต้องใช้ทักษะทางฝีมือ ถ้ามาเรียนตอนปี 1 อายุ 18 ปี มันช้าเกินไป 

รู้ไหมเด็กเป็นลูกของพ่อแม่เฉพาะดีเอ็นเอเท่านั้น พออุแว้ออกมาปั๊บเป็นลูกสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร เด็กเป็นอย่างนั้น วันนี้ผมตอบได้เลยว่าเด็กรุ่นนี้ ณ ปัจจุบัน สามารถไปสู่ระดับโลกได้ ถ้าเราฟูมฟักดีๆ ซึ่งตอนนี้โฉมหน้าการศึกษาดนตรีในประเทศไทยเปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิง 

ใครคิดหลักสูตร 

วิทยาลัยทำเองหมด เพราะตอนนั้นยังไม่มีใครให้ความสนใจ ด้วยชื่อของมหาวิทยาลัยมหิดล จะทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น และมหาวิทยาลัยนี้เป็นมหาวิทยาลัยที่แข็งแกร่งอยู่ก่อน เป็นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ แพทย์พูดอะไรใครๆ ก็เชื่อ 

ใช้อะไรเป็นตัววัดมาตรฐาน 

ความคาดหวัง ถ้าคุณมาดูแล้วรู้สึกผิดหวัง นั่นแสดงว่ามาตรฐานต่ำ แต่ถ้าดูแล้วทึ่งดูแล้วอึ้ง รู้สึกเกินคาด นั่นคือมาตรฐาน มีคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องมาตรฐานการศึกษามาที่นี่ ถามว่ามาตรฐานอยู่ตรงไหน ผมบอกอยู่ใต้รองเท้า มันก็อยู่ที่ความคาดหวังคุณไง คุณเห็นเด็กร้องเพลง เห็นเด็กเล่นดนตรีคุณอ้าปากค้างแล้ว แล้วจะเอาอะไรอีก 


ที่นี่มีครูสอนดนตรีจากหลายเชื้อชาติ 

คำว่าโครงการนานาชาติของเรา มีร้อยพ่อพันแม่ทุกภาษา อย่างปีนี้ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มีนักศึกษา 1,111 คน นักเรียนเตรียมอุดมดนตรี 272 คน มีอาจารย์ 105 คน เป็นชาวต่างขาติ 52 คน จาก 16 ประเทศ ฉะนั้น ผมไม่ได้กีดกันว่าต้องพูดภาษาอังกฤษ หรือภาษาไทย จะพูดภาษาอะไรก็ได้ ตราบเท่าที่สามารถสื่อกันได้ เรียนกันได้ ทำให้เด็กพวกนี้มีความรู้ 5 ภาษาในเวลาเดียวกัน 1.ภาษาแม่ คือ ภาษาไทย 2.ภาษาวิชาการ คือ อังกฤษ 3.ภาษาที่เกี่ยวกับการใช้สื่อเทคโนโลยี 4.ภาษาดนตรี และ 5.ภาษาทำมาหากิน เช่น ถ้าครูเป็นเยอรมันก็จะพูดภาษาเยอรมันได้ ถ้าครูเป็นญี่ปุ่น เด็กก็พูดภาษาญี่ปุ่นได้ ครูเป็นรัสเซียน ก็พูดรัสเซียได้ ฉะนั้นเด็กพวกนี้จะมีความคล่องตัวทางด้านภาษา 

เด็กไทยก็ต้องเรียนภาษาเพิ่ม 

ภาษาเป็นแต่เพียงเครื่องมือเล็กๆ เครื่องมือใหญ่คือภาษาดนตรี สมมุติว่าเด็กเรียนสีไวโอลินกับครูรัสเซีย หลักใหญ่ใจความคือต้องสีไวโอลินเก่ง ส่วนเขาจะพูดรัสเซียหรืออังกฤษสื่อกันก็ได้หมด เราไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องภาษาของการสื่อสาร แต่ให้ความสำคัญของภาษาที่เป็นจิตวิญญาณทางดนตรีมากกว่า 

8 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์ว่าได้ผล 

(พยักหน้า) ถ้าได้ดูคอนเสิร์ตของเด็กเตรียมดนตรีปีนี้นะ เขาเล่น เวสต์ ไซด์ สตอรี่ (west side story) ผมดูเขาเล่นยังตกใจว่าเด็กใช้ภาษาได้เก่งขนาดนั้นเชียวหรือ มันร้องเพลงได้ดีขนาดนั้นเชียวหรือ นี่ขนาดผมอยู่ที่นี่ทุกวัน ได้ดูการซ้อมดนตรีอยู่เป็นประจำ ฉะนั้น ตอบได้เลยว่ามันเป็นจุดเปลี่ยนของระบอบการศึกษา เป็นจุดเปลี่ยนถึงระดับที่พูดกันถึงเรื่องคุณภาพแล้วว่าคุณภาพคืออะไร ของดีคืออะไร รสนิยมคืออะไร เพราะคนไทยจำนวนมากไม่มีรสนิยม เมื่อไม่ฟังไม่รู้ดูไม่ออก เราก็จะหลงอยู่กับคำโฆษณาชวนเชื่อ 

ฉะนั้น การปฏิรูปการศึกษาดนตรียุคต่อไป ไม่ว่าใครก็แล้วแต่ ผมว่าดนตรีคือสำหรับคนทุกคน และคนทุกคนควรจะได้รับรู้และเรียนดนตรี ต้องมีรสนิยม 

สมมุติว่ารู้จักกับอาจารย์สุกรี ขอฝากเด็กได้ไหม 

ผมรับ...รับมาดูว่ามันสอบได้หรือสอบตก สิ่งหนึ่งที่เป็นมะเร็งร้ายของการศึกษาไทยคือการฝาก ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่การฝากเด็กเข้าเรียน แต่รวมทั้งฝากคนทำงาน ฝากคนมาเป็นครู ฯลฯ นี่คือมะเร็งร้าย เมื่อไหร่เราข้ามตรงนี้ได้ การศึกษาจะเปลี่ยนเลย 

แค่ขอโอกาสเข้าไปเรียน 

ทุกคนคิดว่าโอกาสอยู่ที่คนอื่น สำหรับผมโอกาสอยู่ที่คุณ คุณสำแดงมา ถ้าคุณใช่คุณมาเลย แล้วศักยภาพมันสูงขึ้นทุกปี เด็กที่มาสอบเตรียมตัวมาเยอะมาก ที่เราเคยเห็นกันว่าเด็กอัจฉริยะ เด็กเหรียญทอง เด็กเก่ง มาเจอเด็กที่นี่หัวทิ่มหมด 

ทิศทางดนตรีของเด็กที่นี่จะไปทางไหน 

เมื่อก่อนมหาวิทยาลัยจะสร้างคนออกไปหางาน คนถึงตกงาน เพราะจำนวนงานมีเท่าเดิม วิธีคิดใหม่ของที่นี่คือสร้างคนออกไปสร้างงาน แล้วก็ติดอาวุธทางความคิด ติดอาวุธที่เรียกว่าจินตนาการ กับความคิดสร้างสรรค์ เด็กพวกนี้ ฝีมือพร้อม ความรู้พร้อม ความสามารถพร้อม ถามว่าง้องานไหม ไม่ง้อหรอก 

อย่างมีพรรคพวกโทรศัพท์จากมหาวิทยาลัยต่างจังหวัด ขอเด็กที่จบปริญญาโทไปเป็นอาจารย์ ผมมีนักศึกษาปริญญาโท 185 คน พอบอกว่าให้เงินเดือนตามวุฒิการศึกษา ทุกคนไม่มีใครอยากไปสักคน ถามว่าทำไมเป็นแบบนั้น เพราะแค่เขาไปเป็นครูสอนดนตรีในกรุงเทพฯ ได้ชั่วโมงละ 300 บาท อาทิตย์หนึ่งสอนสัก 20 ชั่วโมง ได้ 6,000 บาท เดือนหนึ่งก็ได้ 24,000 บาทแล้ว 

แต่ความเสี่ยงตกงานก็สูงเหมือนกัน 

เสี่ยงสูงสำหรับคนไม่มีฝีมือ คนมีฝีมือไม่มีคำว่าเสี่ยง คนมีฝีมือทำอะไรก็ไม่น่าเกลียด เหมือนคนมีเงินน่ะ (อมยิ้ม) 

แต่ทุกวันนี้นักดนตรีเมืองนอกเข้ามาทำงานในไทยเยอะ 

ชาวต่างประเทศที่เข้ามาสอนดนตรี ที่เป็นนักดนตรีอาชีพรับเงินเดือนคนละแสนบาทต่อหัวต่อเดือน มีประมาณ 3 หมื่นคน ถามว่าเราผลิตทันไหม 30,000 คน ถ้าเอาที่มีฝีมือเราผลิตไม่ทัน 

แล้วคุณอิมพอร์ตนักดนตรีเข้ามาเล่นในไทยปาวๆ ถามว่าเล่นเก่งไหม ไม่เก่ง แต่เราเชื่อว่าฝรั่งเก่ง ชื่นชมความเป็นอื่น แต่ไม่เคยชื่นชมความเป็นเรา แต่ขณะเดียวกันเราก็ไม่เคยทำให้ตัวเราให้เก่ง คนเก่งบ้านเราอยู่กับการโฆษณาเสียหมด 

ถามว่าเคยมีคนมาดูที่นี่มากไหม...ไม่มาก เพราะเขาคิดว่าก็อย่างงั้นๆ แต่พอทุกคนมาดูก็อึ้งกิมกี่ไปหมด (ยิ้ม) เขาคิดไม่ถึง เพราะการทำงานที่วิทยาลัยผมไม่ลงทุนเรื่องการโฆษณาเลย มี 100 บาท ผมทำเป็นงานคุณภาพทั้ง 100 บาท แล้วให้งานคุณภาพนั้นเปล่งรัศมีของมันเอง โดยไม่ต้องอาศัยโฆษณา มันไม่ดังวันนั้นหรอก แต่ว่ามันจะอยู่ยั่งยืน 

มองระบบการศึกษาไทย 

ปัญหาก็คือครูไม่เก่ง นักเรียนเลยไม่เก่ง สภาพโรงเรียนก็ดูไม่ได้ ห้องน้ำก็ดูไม่ได้ เครื่องไม้เครื่องมือก็ไม่มี ระบบการศึกษาไทยเปรียบไปก็เหมือนเราจะไปตกปลา เบ็ดก็ไม่มี เหยื่อก็ไม่มี ไปนั่งอยู่ริมตลิ่งอยากได้ปลาตัวใหญ่ ถามว่ารัฐลงทุนไหม...เปล่า พ่อแม่ต้องลงทุนเอง แต่ผมมองว่าทุกคนต้องลงทุน รัฐต้องลงทุน โรงเรียนต้องลงทุน พ่อแม่ผู้ปกครองต้องลงทุน เด็กก็ต้องลงทุน 

สิ่งที่เราเสียคือโอกาส เราไม่ได้พัฒนาคนที่เก่งให้ไปสู่ความเป็นเลิศของเขา สมมุติเขาได้ 60-70% แล้วรัฐอุ้มชูส่งให้ครบ 100% เราจะได้คนฝีมือสูงสุดกลับมา ถ้าได้สัก 20-30 คน เปลี่ยนประเทศเราทันที 

ตอนนี้วิทยาลัยติดอันดับสถาบันดนตรีของโลก 

ผมว่าอย่างน้อยประเทศไทยมีที่ที่ทะลุขึ้นไปบ้าง ไม่อย่างนั้นเราก็ต่ำต้อยด้อยค่าไร้ราคา ผมเชื่อว่าถ้าเราเอาจริงเอาจังนะ ความรู้เราไม่แพ้ใครหรอก ความสามารถก็ไม่แพ้ 

สิ่งที่มหาวิทยาลัยไทยแพ้มหาวิทยาลัยตะวันตก หรือยุโรป คือ รสนิยม ฉะนั้น เราก็ต้องสร้างสิ่งแวดล้อมดีๆ มีของดี คนไทยไม่มีรู้จักของดี และไม่มีรสนิยม ถามว่าของดีอยู่ไหน ไม่รู้...ทำไมไม่ให้เขารู้ล่ะ 

นักที่เรียกว่าบริหารการศึกษา นักการเมือง พวกนี้ไม่มีรสนิยมและไม่รู้จักของดี ถ้าเขารู้และเขามี ผมว่าการศึกษาพลิกไปตั้งนานแล้ว

 

 

 

โดย : ชมพูนุท นำภา

ที่มา : มติชน / 23 สิงหาคม 2552

Views: 2016

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service