คู่มือเดินทาง ฉบับ 'รัฐสยาม ศีลคุณ'

เปิดเรื่องเล่าคนเดินทางกับบรรณาธิการบริหารแห่งนิตยสาร lonely planet ฉบับภาษาไทย ที่เพิ่งเปิดเล่มปฐมฤกษ์ไปเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา 

นอกจากย่ำเท้ามาแล้วทั่วประเทศ และอีกหลาย ๆ แห่งทั่วโลก รัฐสยาม ศีลคุณ ยังเคยทำงานเขียนเกี่ยวกับการท่องเที่ยว และหนังสือนำเที่ยวให้หลายองค์กร รวมทั้งเป็น contributor ให้กับ TCDC เกี่ยวกับชุมชนและการออกแบบ 

ที่สำคัญ หนุ่มหน้าเข้มคนนี้ยังมีประสบการณ์ด้านบริหารกิจการในอุตสาหกรรมโรงแรมและการท่องเที่ยวในจังหวัดทางภาคเหนือ จนได้มาบรรณาธิการนิตยสาร lonely planet ฉบับภาษาไทยซึ่งเป็นเวอร์ชั่นที่ 11 ติดตามมาจากไต้หวันที่วางแผงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา 

ถึงจะนั่งเก้าอี้บรรณาธิการบริหาร แต่เอาเข้าจริง เขากลับไม่ได้นั่งอยู่กับเก้าอี้มากนัก เพราะต้องเดินทางท่องเที่ยวเพื่อนำเรื่องราวมาเสนอต่อผู้อ่านอยู่เสมอ 
lonely planet ภาคนิตยสารนี้ ต่างจากพ็อคเก็ตบุ๊คอย่างไร 

ในความต่าง keyword ของมันก็คือนิตยสารจะให้แรงบันดาลใจนอกจากให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวแล้ว คือให้ส่วนที่เป็นแรงบันดาลใจในการท่องเที่ยว คนที่บางทีอาจจะยังไม่ได้คิดหรอกว่าจะไปเที่ยวไหน เพียงแต่ว่ามีวันหยุดที่ใกล้เข้ามา หรือคิดว่าปีใหม่ปีนี้ฉันจะไปเที่ยวไหน เสาร์อาทิตย์นี้ฉันจะไปเที่ยวไหน สงกรานต์นี้จะไปเที่ยวไหน มีเวลาแต่ยังไม่ได้ตกผลึกความคิด อยากจะหาไอเดียหาสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ นิตยสารจะตอบโจทย์ตรงนี้ได้ คือให้แรงบันดาลใจ ให้ข้อมูลในการท่องเที่ยวเป็นทางเลือกสำหรับผู้อ่าน อ่านแล้วอาจจะค้นสถานที่ที่ตัวเองสนใจ ค้นพบสถานที่ที่อยากไป หรือบางทีอาจจะค้นพบสถานที่ที่ไม่เคยได้ยินได้เห็นมาก่อน 

ทั้งนี้ทั้งนั้นมันเป็นส่วนที่เสริมซึ่งกันและกัน สมมติคนที่อ่านนิตยสารแล้วเปิดมาเจอ feature สเปน อ๊ะ..อยากจะไปสเปน ก็จะไปซื้อ Guidebook ที่จะมีข้อมูลครบครันเป็นเล่มหนามาอ่านในเชิงลึกอีกทีหนึ่ง จะบอกว่ามันต่างกันไหมจริง ๆ มันเป็นส่วนที่เสริมซึ่งกันและกัน 

ตลาดหนังสือท่องเที่ยวในไทยตอนนี้ก็มีไม่น้อย คิดว่า lonely planet ให้อะไรใหม่ๆ กับคนอ่านบ้าง 

เราไปร้านหนังสือจะเห็นว่าเดี๋ยวนี้คนเขียนหนังสือมากมายประเทศนั้นประเทศนี้ ที่เป็นหนังสือเที่ยวด้วยตัวเอง จะเห็นว่าคนเริ่มมีไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป เริ่มมีคนที่เดินทางด้วยตัวเองมากขึ้น ซึ่งสถิติตัวเลขในปีที่ผ่านมาคนไทยเที่ยวในประเทศ 100 กว่าล้านครั้ง แต่ประชากรมีประมาณ 70 ล้าน นั่นหมายถึงว่าคนหนึ่งจะเที่ยวมากกว่าครั้งเดียว แล้วก็เที่ยวต่างประเทศประมาณ 5 ล้านครั้ง จำนวนคนเที่ยวมีอยู่มากทีเดียวทั้งเที่ยวไทยและต่างประเทศต่อจำนวนประชากร 

สิ่งที่ผมจะพูดก็คือ แม้ว่าเราจะมีนิตยสารแนวท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ผมคิดว่าอาจจะยังไม่พอ ไม่ว่าเที่ยวในไทยหรือต่างประเทศ ซึ่งเชื่อว่าจำนวนพิมพ์ของแต่ละเล่มยังไม่สามารถที่จะตอบสนองความต้องการของทุกๆ คนได้ครบ 
การที่คนไทยหันมาสนใจท่องเที่ยวเยอะขึ้น คุณคิดว่าเพราะอะไร 

เทรนด์เดี๋ยวนี้คนหันมาท่องเที่ยวแบบอิสระมากขึ้น หนึ่ง เพราะว่าความจำกัดในเรื่องของภาษาก็น้อยลง เดี๋ยวนี้คนส่วนใหญ่สามารถสื่อสารได้ สามารถที่จะเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเองโดยพึ่งพากรุ๊ปทัวร์น้อยลง สองก็คือการเดินทางทุกอย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้น เดินทางได้มากขึ้นค่าใช้จ่ายก็ต่ำลง สายการบินต้นทุนต่ำก็มีส่วนช่วยกระตุ้นให้คนเราเดินทางได้มากขึ้น เดี๋ยวนี้ใครก็เดินทางไปต่างประเทศได้ คือการเดินทางไปต่างประเทศมันไม่ใช่ความฝันอีกต่อไปแล้ว จอง 0 บาทก็ได้ บางคนจองแม้กระทั่งยังไม่ได้วางแผนด้วยซ้ำ สามคือเรื่องข้อมูลข่าวสารทางการท่องเที่ยวต่างๆ มีมากขึ้น ทั้งหนังสือ นิตยสาร ทั้งโลกดิจิทัล ซึ่งมันสามารถทำให้คนเข้าถึงข้อมูลการท่องเที่ยวได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่เรื่องยากที่จะหาข้อมูลไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ก็เป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้คนหันมาเดินทาง 

ถ้าจะให้นำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวในไทยคุณประทับใจที่ไหนเป็นพิเศษ 

จริงๆ แล้วมีหลายที่มากเลย แต่ละที่ก็จะต่างกัน พยายามนึกก่อน... ชอบหลายที่มาก (นิ่งคิด) ผมชอบที่อุทยานแห่งชาติเขาสก ที่สุราษฎร์ เขาเรียกว่าเขื่อนเชี่ยวหลาน เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีความน่าสนใจหลายอย่าง ได้ไปเดินป่าแล้วรู้สึกว่าป่าที่นั่นอุดมสมบูรณ์มาก ไปอ่านหนังสือของนักวิชาการเขาบอกว่าความหลากหลายเชิงนิเวศมีมากกว่าอเมซอนซะอีก ไปเดินเห็นสัตว์เห็นลิงปีนยอดไม้อยู่ คือมีความสมบูรณ์มาก ได้ยินเสียงชะนีร้อง ไปแล้วรู้สึกว่าธรรมชาติสวย น้ำในเขื่อนก็ใสเหมือนท้องทะเล เป็นสีเทอร์ควอยซ์ 

ให้สองที่แล้วกัน ผมเป็นคนชอบทะเล อีกที่หนึ่งคือจังหวัดกระบี่ ชอบมาก ชอบหาดไร่เล หาดพระนาง น่าจะชอบมากที่สุดเลยตั้งแต่เที่ยวมา ไม่ใช่ว่ามันไร้ผู้คนหรือว่าห่างไกลไม่มีใครไป แต่ผมคิดว่ามันมีความลงตัวในเรื่องภูมิทัศน์ น้ำทะเลใส หาดทรายสวย แล้วชอบถ้ำหาดพระนางที่มีหินงอกหินย้อยลงมาในท้องทะเลซึ่งมันมหัศจรรย์สวยงามมาก สีสันของท้องทะเลก็สวย ไม่ใช่แค่ท้องทะเลยังมีกิจกรรมให้เราทำมากมาย ไปดำน้ำ ว่ายน้ำดูปะการังในเกาะรอบๆ ได้ ไปปีนหน้าผาก็ได้ สามารถที่จะพายเรือคายัคไปตามเกาะแก่งต่างๆ ได้ ที่นี่ก็เลยเป็นที่ๆ ประทับใจแล้วก็พยายามจะหาเวลาไปเสมอ 

แล้วที่ท่องเที่ยวในต่างประเทศที่ประทับใจ 

ประทับใจหลายที่เหมือนกัน แต่ละที่ก็มีเสน่ห์มีคุณค่าต่างๆ กัน แต่ถ้าจะให้เลือกที่ชอบล่าสุดแล้วกัน คือที่ภูฏาน ผมว่าเป็นประเทศที่เป็นดินแดนพิเศษในโลก มีความเป็นเอกลักษณ์ ในเรื่องภูมิประเทศก็สวยงามมาก จนแบบว่าอยากจะอยู่ที่นั่นนานๆ ด้วยภูเขาหิมะ ท้องฟ้า เห็นเมืองที่สิ่งก่อสร้างมีเอกลักษณ์ของตัวเอง ผู้คนเขาก็น่ารักแล้วก็ยังใส่ชุดพื้นเมืองซึ่งแทบจะหาที่ไหนไม่ได้แล้วในโลก ผู้คนก็มีอัธยาศัยไมตรีดีมาก ผมว่ามันเหมือนดินแดนในนิทานซึ่งไปแล้วยังมีอยู่จริงในโลก คนก็อยู่กันอย่างมีความสุขโดยอาจจะเป็นเพราะคอนเซ็ปต์ในเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติ เขาอยู่กันอย่างเพียงพอ ด้วยความสงบสุข ไปแล้วก็สัมผัสได้ตรงนั้น 

คุณมีสถานที่ๆ อยากไปแต่ยังไม่ได้ไปไหม 

สำหรับประเทศที่อยากไปที่สุด ถ้าอยู่ในลิสท์ก็มองโกเลีย ผมชอบแลนสเคปที่มันกว้างๆ แล้วก็แปลกตา มันสวย จากที่เราอ่านหนังสือมามันก็มีวัฒนธรรมที่น่าสนใจ มีเอกลักษณ์ของตัวเองก็อยากจะหาโอกาสไปสักครั้งหนึ่ง 

คิดว่าระหว่าง "นักเดินทาง" กับ "นักท่องเที่ยว" เหมือนหรือต่างกันอย่างไร 

ถ้าพูดถึงไลฟสไตล์ของคนเดินทาง จะเดินทางด้วยสิ่งที่เป็น real journey คือไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องจุดหมายเป็นหลัก แต่ว่าให้ความสำคัญตลอดทั้งการเดินทาง เหมือนกับ "Journey not the destination" ไปซึมซับสัมผัสประสบการณ์ ทั้งสภาพแวดล้อม ผู้คนตลอดทั้งการเดินทาง คือเดินทางในเชิงสัมผัสประสบการณ์ที่มันครบครันจริงๆ แต่ว่าถ้าพูดถึงการเป็นนักท่องเที่ยว ไม่อยากด่วนสรุป มันเอาไปสร้าง stereotype ได้ บางทีการเป็นนักท่องเที่ยวเราอาจจะละเลยเรื่องของ journey ไป เราอาจจะให้ความสำคัญเรื่อง destination มากกว่า คือเราอาจจะอยากไปดูนั่นดูนี่แต่บางทีก็ลืม ด้วยความที่มีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา ทำให้เราอาจจะไม่ได้ประสบการณ์ที่มันครบครันรอบด้านในการเดินทางที่เป็น journey จริงๆ แต่ผมว่าศัพท์มันใกล้เคียงกันนะ 

แล้วระหว่าง journey กับ destination ตรงไหนสำคัญกว่า 

มันทั้งสองอย่างนะ การที่จะทำให้ทริปของเราครั้งหนึ่งเป็นทริปที่ประทับใจได้ ทั้งสองอย่างมันมีความสำคัญทั้งหมด บางทีเราเดินทางด้วยประสบการณ์ที่ดีตลอดการเดินทาง มีเพื่อนร่วมทางที่ดี หรือไปเจอสิ่งที่ดีตลอดการเดินทาง อันนี้คือเรื่องของ journey แล้วใช่ไหม คือการไปเรียนรู้ไปเห็นอะไรที่ใหม่ๆ พบปะผู้คนตลอดการเดินทาง ถ้ามันเป็นประสบการณ์ที่ดีก็ทำให้ทั้งทริปสมบูรณ์ สมมติถ้า destination มันสมบูรณ์ในตัวเองอยู่แล้ว ไปเห็นอะไรที่สวยงาม ธรรมชาติ สิ่งก่อสร้างที่อลังการ โบราณสถาน แล้วมาประกอบกับ journey ที่สมบูรณ์ 

แต่ว่าถ้าเรามีการเดินทางที่มีอุปสรรคก็อาจจะลดทอนความสมบูรณ์ของทริปนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าทริปนั้นเป็นทริปที่ย่ำแย่นะ ผมว่าการเดินทางแต่ละครั้งมีความหมายที่แตกต่างไป แม้กระทั่งการเดินทางไปในจุดหมายที่เดียวกัน ไปแต่ละครั้งแต่ละวันก็ไม่เหมือนกัน สมมติเราไปประเทศใดประเทศหนึ่งต่างวันต่างฤดูกาล เจอคนที่มันต่างกันก็ไม่เหมือนกันแล้ว สิ่งนี้แหละที่เราจะอธิบายได้ว่า journey มันมีความสำคัญไม่แพ้ destination

 

 

 

โดย : วีรภัทร บุญมา

ที่มา : bangkokbiznews.com / 3 กันยายน 2554

Views: 295

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service