ผ้าลายตีนจก 'ประนอม ทาแปง' ต้นแบบช่างทอพื้นบ้านนามนแพร่

ในความงามของผ้าทอลายตีนจก ใครได้แลเห็นก็ต้องบอกว่าสวยงามของลายผ้า อันเกิดจากเส้นด้ายใยไหมตัดพุ่งกัน อย่างช่างทอพื้นบ้านนามนจังหวัดแพร่ได้บรรจงรังสรรค์ด้วยสองมือคู่ไปกับอุปกรณ์ขนแม่นหรือไม้แหลมควักเอาเส้นด้าย แต่ละผืนจะได้มาใช้เวลานานเป็นเดือน 

“คนในวัฒนธรรม” ฉบับนี้พาไปรู้จักช่างทอผ้าลายตีนจกจังหวัดแพร่ ช่างทอสตรีพื้นบ้าน ประนอม ทาแปง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ – ศิลปะผ้าทอ) ปี 2553 ซึ่งก็ขอนำเกร็ดประวัติชีวิตและผลงานของท่านจากข้อมูล National Artist ศิลปินแห่งชาติ มาเผยแพร่ 

ช่างทอประนอม อายุ 57 ปี (เกิด 1 ส.ค. 2497) เป็นชาวบ้านนามน ตำบลหัวทุ่ง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เป็นผู้สนใจใฝ่ศึกษาตั้งแต่ยังเยาว์วัย เริ่มเรียนรู้การปั่นเส้นฝ้าย ทอผ้าไว้ใช้ในครัวเรือนโดยรับการถ่ายทอดจากครูคนแรกคือ แม่แก้วมูล ผู้เป็นมารดา ตั้งแต่เธออายุเพียง 12 ปี นอกจากนี้ ยังได้เรียนรู้การทอผ้าตีนจกโบราณเมืองลองจากนางบุญยวง อุปถัมภ์ ผู้เป็นป้า ซึ่งถือเป็นครูคนที่สองผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ เธอเล่า 

“สมัยเด็กๆ เป็นคนชอบทอผ้าอยู่แล้ว ทีนี้เห็นคุณป้า นั่งทอผ้าอยู่ ช่วงที่คุณป้าหยุดพักทานอาหารกลางวัน เราก็ไปขโมยขึ้นกี่แอบทอผ้าจกต่อจากที่ป้าทอไว้ พอป้ากลับมาก็จะถามป้าว่าถูกไหม ป้าก็ดูแล้ว บอกว่าทำถูกแล้ว ทำได้ดีแล้ว ก็เลยหัดทอตั้งแต่นั้นมา ก็เป็นจุดเริ่มแรกของการทอผ้าตีนจกของป้า” 

แม้ชีวิตด้านการศึกษา จบระดับประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านไผ่ล้อม (นามนวิทยาคาร) เนื่องด้วยปัญหาสุขภาพและฐานะทางบ้านที่ยากจน จึงต้องหยุดเรียนหนังสือ แต่เมื่อใดมีโอกาสที่เอื้ออำนวยให้เธอก็พากเพียร ใฝ่เรียนรู้ทั้งในระบบการศึกษานอกโรงเรียน การศึกษาผู้ใหญ่ การศึกษาตามอัธยาศัย 

ด้วยการฝึกฝนการทอผ้าจากผู้เป็นป้า จนมีฝีมือสามารถจำหน่ายได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2522 ได้นำผ้าซิ่นตีนจกลายของอำเภอลอง ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จมาพระราชทานธงประจำรุ่นให้แก่ลูกเสือชาวบ้านจังหวัดแพร่ และต่อมาคณะผู้แทนในพระองค์ได้เดินทางมาที่บ้านเธอ เพื่อแจ้งให้ทราบว่าสมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงสนพระทัยและมีความประสงค์จะส่งเสริมให้ชาวบ้านทอผ้าตีนจกให้มากขึ้น โดยคณะผู้แทนพระองค์ได้กรุณามอบทุนดำเนินการให้ และเธอยังได้รับเลือกให้เป็นนักเรียนศิลปาชีพ ฝึกอบรมเพิ่มเติมที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ถึง 3 ครั้ง (2527, 2529, 2531) จึงทำให้มีความรู้ความสามารถในการทอผ้ามากขึ้น 

ต่อมาพัฒนากรจากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอลอง และคณะกรรมการหมู่บ้านได้จัดตั้งกลุ่มสตรีทอผ้าซิ่นตีนจกขึ้นชื่อ “กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านนามน” (1 พ.ค. 2532 สมาชิก 15 คน) โดยเธอเป็นประธานกลุ่ม ต่อจากนั้นได้มีการอบรมให้ความรู้เพิ่มเติมและได้รับเงินทุนสนับสนุน สมาชิกมีเพิ่มและมีรายได้เพิ่มขึ้นหลังฤดูเก็บเกี่ยว ทำให้กลุ่มสตรีบ้านนามนเป็นที่รู้จักแก่บุคคลทั่วไปอย่างกว้างขวางเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน 

จากการทำงานด้านอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมสิ่งทอเป็นเวลา 30 ปีเศษ ได้รวมตัวจัดตั้งกลุ่มทอผ้าอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปะผ้าทอตีนจก รวมถึงจัดตั้งกลุ่มสตรีสหกรณ์ทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ โดยมีสมาชิก 400 คนและมีเครือข่ายช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 17 จังหวัดภาคเหนือตอนบนตอนล่าง และยังเป็นประธานศูนย์เครือข่ายของจังหวัดแพร่ มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือแนะนำให้ความรู้แก่สมาชิกในเครือข่ายกลุ่มของสหกรณ์ตลอดมา 

ในการสร้างสรรค์ผลงาน อยู่มาวันหนึ่ง เธอได้พบเศษผ้าโบราณชิ้นหนึ่งที่มีลวดลายเพียงครึ่งเดียว จึงเกิดความสนใจ คิดอยากจะทอผ้าลวดลายที่พบเพียงครึ่งเดียวมาทอให้สมบูรณ์ จึงได้พยายามแกะลายผ้าและศึกษาลวดลาย จนความพยายามของเธอประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ชอบศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้านเทคนิค การใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า “เขาฟืม” ในการเก็บลวดลายของผ้าตีนจกที่ต้องการ โดยทอเขาฟืมแต่ละเครือจะมีลวดลายสำเร็จอยู่บนชุดฟืม ช่วยให้การทอลวดลายประสมกันทำได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะลวดลายโบราณที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน เช่น ลายผักแว่น, ลายขอไล่, ลายงวงน้ำคุ, ลายนกกินน้ำร่วมต้น, ลายสำเภาลอยน้ำ, ลายบ่ขนัด, ลายขากำปุ้ง, ลายโก้งเก้งซ้อนนก ลายต่อมเครือ เป็นต้น ถึงตอนนี้เธออธิบาย 

“การทอผ้าเมื่อก่อนก็จะใช้ขนเม่นหรือว่าไม้แหลม ควักเอาทีละเส้น ทีละเส้นซึ่งกว่าจะได้แต่ละผืน ก็ใช้เวลาเป็นเดือนสองเดือน ก็เลยมาคิดว่าจะทำยังไงให้ทอได้ไวขึ้น ชาวบ้านจะได้ทอมาขายให้มีเงินพอใช้ เขาจะได้ยังคงทอผ้าต่อไปไม่ทอดทิ้งงานทอผ้า จึงคิดเอาวิธีการยกเขา เพื่อได้ทอได้ง่าย ไม่เสียเวลา”

ชีวิตกับผ้าทอมิได้หยุดนิ่ง ยังได้เริ่มคิดที่จะอนุรักษ์ลวดลายผ้าโบราณ ที่คิดว่าต่อไปในอนาคตจะสูญหายไป เนื่องจากขาดผู้ที่สนใจหรือเอาใจใส่เท่าที่ควร โดยได้ใช้ความมานะพยายามที่จะศึกษาถึงลวดลาย สีสัน และวิธีการทอแบบเก่าๆ ไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ดังนั้นผลแห่งความพยายามจึงประสบความสำเร็จ มีลวดลายพื้นบ้านโบราณหลายลายรูปแบบ 

“ลวดลายผ้าตีนจกอำเภอลองจะมีหลากหลายลาย ถ้าดูจริงๆ จะมีนับร้อยลาย เช่น ลายหลัก เมื่อคน โบราณ เห็นนกเขาก็จะทอลายนกกินน้ำร่วมต้น เห็นมดแดงหรือมดส้มเขาก็จะทอลายขามดแดง ถ้าเป็นดอกไม้ ก็จะเป็นลายพุ่มดอก ลายผักแว่น ลายดอกมะลิ ส่วนลายใหม่ๆ ที่คิดขึ้นเราก็ประยุกต์ขึ้นมา เช่น ลายหัวใจ ดูลายเหมือนอะไรเราก็เรียกไปตามนั้นตามที่เราประยุกต์ขึ้นมา” 

การผลิตงานส่วนใหญ่จะเน้นเพื่อการอนุรักษ์ผ้าแบบโบราณ โดยศึกษาลวดลายและสีสันจากผ้าโบราณแล้วนำมาทอใหม่เลียนแบบของเดิม ซึ่งมีทั้งลวดลายแท้ๆ ของชาวเมืองลองส่วนหนึ่ง และที่นำเอาลวดลายจากที่อื่นๆ เช่น หาดเสี้ยว หาดสูง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ เข้ามาประยุกต์ดัดแปลงจนเกิดความกลมกลืนแทบแยกกันไม่ออก และเมื่อพิจารณาจากสายตาและภูมิปัญญาอย่างรอบคอบละเอียดถี่ถ้วน จะพบว่าผลงานทอผ้าของเธอ เป็นฝ้ายเส้นเล็กเรียบเสมอกัน สีสันคงที่ไม่เข้มหรือจางเป็นช่วงๆ ลักษณะการทอจะแน่น ทั้งหมดนี้คือลักษณะพิเศษและเอกลักษณ์เฉพาะของผลงานเธอ 

จากผลการสร้างสรรค์ผ้าทอตีนจกอย่างต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป โดยเฉพาะในวงการงานศิลปหัตถกรรม ทำให้เธอและกลุ่มทอผ้าได้รับโอกาสให้นำเสนอเผยแพร่ผลงานผลิตภัณฑ์ต่อสาธารณชนทั้งในประเทศและต่างประเทศอยู่เสมอ ทั้งในรูปแบบของการออกร้าน การสาธิต การแสดงผลงานเชิงนิทรรศการ อาทิ งานศิลปาชีพบางไทร ณ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา งานตรานกยูงพระราชทานสืบสานตำนานไหมไทย นิทรรศการวันนักประดิษฐ์ โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ในต่างประเทศได้รับเกียรติเชิญศึกษาดูงานที่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เป็นต้น 

นอกจากการสร้างสรรค์ผลงานผ้าตีนจกออกสู่ตลาดอย่างมากมายแล้ว เธอยังได้ทำงานเพื่อสังคมส่วนรวมมากมายด้วย รวมทั้งรางวัลที่สร้างความภาคภูมิใจให้เสมอเป็นเครื่องการันตีถึงความงดงามของผ้าลายตีนจก ที่เกิดขึ้นโดยการสร้างสรรค์งานศิลป์จากสองมือของเธอ อาทิ ผ้าซิ่นจกไหมดิ้นทองลายภูพิงค์ ผ้าซิ่นจกเต็มตัวลายโบราณขอครึ่ง ฯลฯ และที่นำมาซึ่งความสำเร็จสูงสุดของชีวิตการทำงาน ในปี พ.ศ. 2551 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ชั้นที่ 7 เหรียญเงินดิเรกคุณาภรณ์ 

ตลอดระยะเวลาชีวิตกับศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ตั้งแต่การปลูกฝ้าย ปลูกคราม ทำเส้นฝ้าย ทอผ้า ย้อมสีธรรมชาติ รวมทั้งการออกแบบตัดเย็บ สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนจนกลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดีสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 

เหนืออื่นใดช่างทอพื้นบ้าน ประนอม ทาแปง ได้เผยแพร่ผลงานผ้าทอตีนจกอันงดงาม ถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาด้านการทอผ้าเชิงอนุรักษ์ลวดลายไทยโบราณและพัฒนาลวดลายผ้าให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมในแต่ละยุค 

จึงนับว่าเป็นต้นแบบของช่างทอฝีมือพื้นบ้านที่ยังคงทำหน้าที่เป็นผู้อนุรักษ์และสืบทอดมรดกภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของไทยสืบต่อไป

 

 

 

โดย : ชมวง พฤกษาถิ่น

ที่มา : สยามรัฐ

Views: 3364

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service