ผู้หญิง 2 โลก “ฉัตรติยา ไทยภิรมย์สามัคคี”

ขาข้างหนึ่งเหยียบอยู่ฟากศิลปวัฒนธรรม อีกข้างหนึ่งอยู่ในโลกธุรกิจการบริหารจัดการ 

ลินาฉัตรติยา ไทยภิรมย์สามัคคี เป็นผู้หญิงคนแรก นิสิตคนแรกที่เรียนในเอกวาทนิเทศน์และการสื่อสารการแสดง ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ 

ความรักและสนใจในงานศิลปะมาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะดนตรี นาฏศิลป์ไทยและตะวันตก ศิลปะการละครและการถ่ายภาพ จากนั้นเธอเลือกเติมเต็มความรู้ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกสาขาวิชาวาทนิเทศน์สื่อสารการแสดง และระหว่างที่ศึกษาอยู่ ซึ่งเธอได้รับเลือกให้เป็นประธานของชมรมศิลปะการแสดงคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และเธอได้มีส่วนร่วมในโครงการศิลปะทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยในฐานะโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ ผู้เขียนบท ผู้กำกับลีลา แอ็กติง โค้ช และนักแสดง 

“ตอนนั้นนิเทศฯ จุฬาฯ มีเพียงวาทนิเทศน์ ความสนใจของเราและรุ่นพี่ที่เรียนจบต่างประเทศกลับมารวมถึงอาจารย์ ทำให้เกิดเป็นเอกวาทนิเทศน์และการสื่อสารการแสดงขึ้นมารุ่นแรก คนแรก เพราะเรามีแพชชันมากทางด้านนี้ ก่อนหน้านี้เคยเรียนพื้นฐานหลายอย่างกับ ครูเล็กภัทราวดี มีชูธน ตั้งแต่ประถม สนใจการถ่ายภาพมาตั้งแต่มัธยมปลาย และมั่นใจว่าวันหนึ่งตัวเองจะเดินในสายศิลปะแน่นอน ระหว่างเรียนก็ขวนขวายเอาทุกอย่าง คนอื่นทำโปรเจกต์กัน 89 โปรเจกต์ เราแตะไปถึง 23 โปรเจกต์ บ้าพลังสุดๆ ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยมีโอกาสตรงไหน ไปทำ ไปโชว์ เพราะใจรักการเรียนรู้มาก เรื่องเรียนพอไหว แต่กิจกรรมสู้ตาย 


ตอนเรียนจบปรึกษาครูเล็กว่า อยากไปเรียนต่อที่อินเดียที่นั่นมีปรัชญาและศิลปะหลายแขนงน่าสนใจ ครูเล็กบอกดิฉันว่า มาอยู่กับครูที่นี่ได้เรียนหลายอย่างสมใจแน่ เราก็ย้ายจากบ้านไปนอนที่โรงละครฝั่งธนตื่นเช้ามาเรียนโขน เรียนการเต้นแบบต่างๆ สายๆ ก็ประชุม จะโปรดิวซ์โปรเจกต์นี้ต้องทำอย่างไร เรียนรู้มิวสิคัล เป็นพิธีกร เขียนสคริปต์เอง วันดีคืนดีก็ไปเรียนปักผ้าโบราณ พากันขึ้นเหนือไปหาพ่อครูที่สอนศิลปะล้านนา มันไม่ใช่การลงเรียนในคอร์สแต่เราเอาตัวไปอยู่ในโลกนั้น เลยได้ซึมซับการใช้ชีวิตแบบศิลปินจริงๆ ตลอด 34 ปี 

ขณะเดียวกันครูเล็กก็มองเห็นทักษะความสามารถบางอย่างในตัวเรา ไม่ใช่แค่อาร์ตแต่เป็นการบริหารจัดการด้วย ซึ่งในมุมของแวดวงศิลปะและวัฒนธรรม คนที่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีสกิลแบบนี้มาพร้อมกัน จะมีคนอีกประเภทหนึ่งที่พอจะคุยกับคนด้านศิลปะได้ และพอที่จะบริหารจัดการได้ ก็จะได้เป็นตำแหน่งอาร์ต เมเนเจอร์ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญมากในแวดวงนี้ในโลก แต่ในเมืองไทยยังไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญ จะเห็นมีเปิดระดับปริญญาโท 2 ที่ คือ จุฬาฯ และธรรมศาสตร์ ซึ่งเราก็ได้ไปเรียนรุ่นแรกเหมือนกัน เพราะตรงกับตัวเราที่สุด” 

ในฐานะศิลปินเธอได้รับรางวัล “ศิลปินด้านศิลปะการแสดง” จากภัทราวดี เธียเตอร์และได้รับเชิญไปร่วมแสดงในเทศกาลศิลปวัฒนธรรมหลายงานและหลายปีก่อน เธอสร้างสรรค์โครงการด้านศิลปวัฒนธรรมแนวคิดใหม่ หลายโครงการในฐานะผู้อำนวยการอาวุโสของ เฮาส์ ออฟ อินดี้ส์ องค์กรเพื่อพัฒนางานศิลปะ ทั้งโรงเรียนสอนศิลปะแหวกแนว การพัฒนาศูนย์สารสนเทศทางด้านศิลปวัฒนธรรมออนไลน์ การจัดงานสัมมนาด้านศิลปะ ตลอดจนการจัดเทศกาลงานศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ตลอดระยะเวลา 7 ปี 

นอกจากงานด้านศิลปะแล้ว ฉัตรติยามีประสบการณ์ที่กว้างขวางทางด้านการสร้างสรรค์งานกิจกรรมเชิงการตลาด โดยตลอดเกือบสิบปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เธอเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท อินดี้ส์ ออร์แกไนเซอร์ ซึ่งทำให้เธอกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดเชิงกิจกรรม อาทิ การจัดคอนเสิร์ตระดับนานาชาติร่วมกับ บัณฑิต อึ้งรังษี และงานการแสดงการขี่ม้า ประกอบแสงสีเสียงระดับโลก “Passionata Horseshow” ฯลฯ 



เธอยังมีบริษัท อาร์ต คอร์ เป็นองค์กรที่เชี่ยวชาญด้านการจัดโครงการด้านศิลปวัฒนธรรมและบันเทิงโดยเฉพาะ โดยมีผลงานที่โดดเด่น อาทิ งานประกาศรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติสุพรรณหงส์ประจำปี 2552 และปี 2553 และในปัจจุบันเธอเป็นที่ปรึกษาและผู้อำนวยการนครินทร์ เธียเตอร์ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการเฟี้ยว Nakarin Theatre Creative Live Performance Fund 

“มันต่างจากตอนที่เราเป็นนิสิต นักศึกษา เพราะตอนเด็กมันมีข้ออ้างได้เยอะ เราอาจทำด้วยใจไม่มีเรื่องของเงิน แต่พอเราบริหารจัดการโปรเจกต์โปรแพชชันแนลจริงๆ มันต้องมีเรื่องของตัวเลข มีเรื่องค่าตัวศิลปิน สปอนเซอร์ คนทำงานศิลปะก็ต้องอยู่รอดได้ด้วย 

พอเราอยู่ในวงการนี้ปุ๊บ เราเห็นเพื่อนพี่น้องศิลปิน แบบทั้งมีอยู่ แบบทั้งหายไป หรือไปเป็นอินเตอร์เนชันแนล อาร์ติสต์ หรือสุดท้ายทำครึ่งตัว หรืออีกครึ่งไปทำอีเวนต์มีหลายแบบ ก็มาคิดว่าถ้าเราสามารถจะทำโปรเจกต์ หรือทำอะไรก็ตามที่พอจะขับเคลื่อนวงการนี้ได้ แม้เป็นแรงเล็กๆ ก็จะยิ่งมีความสุข นี่คือความสุขของเราก็เลยเลือกที่จะทำอาร์ตเมเนจเมนต์ 

นั่นเป็นเหตุให้เกิดนครินทร์ เธียเตอร์ ที่จะมานั่งลงคุยโปรเจกต์กับศิลปินตัวเล็กๆ หรือมือโปรที่จะมาใช้สถานที่ แสง สี เสียง และระบบการจัดการ เพื่อแสดงงานเราร่วมบริหารและทำให้เกิดรายได้ หรือถ้าขาดทุนก็โดนด้วยกัน ส่วนในช่วงที่ว่างจากงานแสดงเราก็เปิดเช่าปกติ” เธอเล่าถึงโรงละครแห่งล่าสุดอายุ 1 ปี บริเวณต้นถนนศรีนครินทร์ที่เชื่อมกับถนนพระราม 9 

“สำหรับดิฉันแล้วคำว่า “ศิลปะ” ไม่ใช่แค่สิ่งที่อยู่ข้างนอกอย่างที่เราแยกประเภทแดนซ์ เธียเตอร์ จิตรกรรม ฯลฯ แต่มันคือความละเมียดละไมของเราอย่าง ตาเรา เรามองของชิ้นเดียวกันอาจจะเห็น สี พื้นผิว รูปทรง ขนาด ฯลฯ อะไรบ้างที่ไม่ใช่ศิลปะ เช้ามาเราต้องแต่งตัวแฟชั่นเท็กซ์ไทล์ จะต้องทำผมเรื่องของแฮร์ สไตล์ลิง ต้องเลือกรองเท้า มันก็คือศิลปะทั้งนั้น มันคือความละเมียดละไมของ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราเองที่ไปสัมผัสกับอะไรก็ตาม แต่ไม่ใช่ว่าจะติสต์แบบที่คุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง ไม่งั้นเราคงทำบริษัทไม่ได้” 

นอกจากบทบาททางการงานที่ว่าแล้ว เธอยังเป็นซิงเกิลมัมคนเก่งที่รักลูกและครอบครัวอย่างยิ่ง “ตอนนี้ไพรออริตีคือ ลูกเลย ใครจะเชื่อว่าเมื่อก่อนเกลียดเด็ก (ฮา) พอมีเองแล้วจะรู้ แม้ว่าจะให้คุณแม่ช่วยดูด้วย แต่สัญญากับตัวเองไว้เลยว่า ขวดนมของลูกทุกขวดเราจะล้างเอง 

เรามองดูเขาแล้วอัศจรรย์ เขาเหมือนศิลปะมีชีวิต เรากับเขาเหมือนใส่นาฬิกาคนละเรือน เดือนๆ หนึ่งของเขาเร็วมาก จากพูดไม่เป็นไปถึงหม่ามี้ถ่ายรูปเหรอ อีกเดือนเดิน กระโดด หยิบของ มันเร็วมาก มีความประหลาดใจให้เราเห็นทุกวัน 

หากถามถึงโลกเทคโนโลยีบ้าง ลินา มองว่า “ออฟฟิศ” ทุกวันนี้อยู่ที่ “โทรศัพท์” กับ “โน้ตบุ๊ก” มี 2 อย่างนี้ กับ “สัญญาณ” ก็ทำงานได้แล้ว โดยไม่ลืมว่ามีมันไว้ใช้งาน อย่าให้มันมาใช้เราคือ ต้องหาเงินเยอะๆ ไปซื้อมันให้ทันเพื่อน จริงๆ เราต้องรู้จักตัวเองก่อนว่า สิ่งที่เราต้องการและได้ใช้จริงๆ มันแค่ไหน มีเยอะเกินก็ใช้ไม่หมดหรอก 

อีกเรื่องที่ต้องขอย้ำเลยว่า ข้อมูลมาเร็วมาก การกลั่นกรองมันน้อย ถ้าผู้ใหญ่จะไปว่าเด็กห้ามใช้โน่น ห้ามดูนี่ เขาไม่เชื่อหรอก แต่ผู้ใหญ่ต้องสอนเด็กให้เขาโตและคิดเป็น มีวิจารณญาณในการใช้เครื่องมือต่างๆ เหล่านี้ต่างหาก เพราะเราไม่มีวันคุมโลกที่ก้าวหน้าและมาพร้อมปัญหาได้ เท่ากับเริ่มที่ความคิดและการตัดสินใจของพวกเขา” 


แกดเจตใช้งานจริง 

1.ไวร์เลส บลูทูธ – “อันนี้ก็เอาไว้กันตำรวจจับเวลาขับรถไง (ฮา) จริงๆ ไม่ชอบคุยผ่านไวร์เลสนะ เพราะมันฟังยาก” 

2.บีบี – “ที่ใช้มากก็คือ พุชเมลใช้แชตบ้าง สั้นๆ คุยธุระมากกว่า ถ้าด่วนก็โทร.ไป แต่หลายครั้งก็จดเอาออริจินัลที่สุด กันพลาดเวลาข้อมูลหายตอนอัพเกรดหรือเปลี่ยนเครื่อง” 

3.กล้องถ่ายรูป – “มันคือแพชชันของเราที่รักถ่ายที่สุดคือ การแสดงละครเวที หรือการโชว์ต่างๆ ถ้ารู้จะยกหูไปขอเจ้าของงานเลยว่า ขอถ่ายรูปได้ไหม คุณจะเอาภาพไปใช้ด้วยก็ได้เลือกเอาตามสบาย ถ่ายแล้วมีความสุขมาก แต่ตอนนี้จะถ่ายลูกซะเยอะค่ะ” 

4.กล้องวิดีโอ – “ในโอกาสพิเศษต่างๆ ของลูก มีคลิปวิดีโอเยอะมาก หรือบ่อยครั้งหยิบมาถ่ายตอนเซอร์ไพรส์ อย่างจู่ๆ เขาก็เดินไปกราบพระท่องนะโมตัสสะได้ อัดไว้เลย” 

5.แมกบุ๊ก – “ทุกอย่างในชีวิตอยู่ในนั้น ช่วงก่อนมีลูกทำงานเยอะมาก เดี๋ยวนี้ก็เปิดแค่ที่บ้าน ที่ทำงานไม่เยอะเหมือนก่อนแล้ว” 

 

 

 

โดย : ณัฐพล ช่วงประยูร

ที่มา : posttoday.com / 08 กันยายน 2554

Views: 469

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service