ศิลปินอดข้าวประท้วง 112 ชั่วโมง เรียกร้องให้แก้ ม.112

 

มิตร ใจอินทร์ และศิลปินอีก 6 คน ร่วมกัน “ปฏิบัติการอดอาหารท้วงประเทียด 112 ชั่วโมง” รณรงค์ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 

เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2554เวลา 12.00 น. บริเวณลานลั่นทม หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กลุ่มศิลปินอิสระ นำโดยนายมิตร ใจอินทร์ และศิลปินอีก 6 คน ร่วมกัน “ปฏิบัติการอดอาหารท้วงประเทียด 112 ชั่วโมง” (112 Hunger Strike) เพื่อรณรงค์ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 


กิจกรรมเริ่มขึ้นอย่างไม่มีพิธีรีตองในเวลา 12.00 น. โดยศิลปินที่ร่วมกันอดอาหารจะปักหลัก และหลับนอนอยู่บริเวณที่จัดงานในหอศิลปวัฒนธรรม มิตร ใจอินทร์และศิลปินอีก 2 คนจะกินเพียงน้ำ โดยไม่รับประทานอาหารเป็นเวลา 112 ชั่วโมง ส่วนศิลปินที่เหลือจะร่วมอดอาหารให้กำลังใจในช่วงวันแรกของกิจกรรม 

ในช่วงระหว่าง 4 วันเศษของการอดอาหารนั้น นายมิตรกล่าวว่าจะใช้เป็นช่วงเวลาเรียนรู้ร่วมกันกับกลุ่มศิลปินและผู้คนที่แวะมาเยี่ยมเยียน ทั้งในปัญหาเรื่องมาตรา 112 ปัญหาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปัญหาของการเมืองไทย โดยกิจกรรมอดอาหารจะสิ้นสุดลงในเวลา 4.00 น. ของวันที่ 1 ตุลาคม 2554 และในเวลาสิ้นสุดกิจกรรมดังกล่าว กลุ่มศิลปินผู้จัดกิจกรรมจะร่วมกันออกคำประกาศในเรื่องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย 

นายมิตรกล่าวถึงกิจกรรมของตนเองว่าทำในฐานะของงานศิลปะและการแสดงออกเชิงวัฒนธรรม โดยลักษณะของการจัดกิจกรรมเป็นการเปิดประเด็นทำให้กลุ่มศิลปินและผู้ที่สนใจสามารถมาช่วยกันระดมความเห็น และเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องมาตรา 112 ซึ่งเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน โดยในการอดอาหารไม่ได้มีข้อเรียกร้องซึ่งมีเส้นตายกำหนดไว้หรือมีป้ายรณรงค์ประท้วงในแบบการเรียกร้องทางการเมือง หากกิจกรรมนี้เพียงแต่ต้องการเปิดประเด็น สร้างพื้นที่ที่ทำให้คนมีโอกาสได้นั่งคุยและศึกษาเรียนรู้ร่วมกัน 

มิตรเห็นว่างานศิลปะสำหรับเขาไม่ใช่ก้อนปิดๆ ก้อนหนึ่งซึ่งจัดแสดงอยู่แต่ในพิพิธภัณฑ์ แต่ศิลปะอยู่ในสังคม และประสบการณ์ของสังคม ซึ่งทั้งศิลปะและสังคมควรจะไหลไปด้วยกัน อีกทั้งงานศิลปะร่วมสมัยจำนวนมากในเมืองไทยยังถูกครอบงำอย่างหนัก ทั้งที่ศิลปินถือได้ว่าเป็นเสรีชน และการวิพากษ์วิจารณ์ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของเสรีทางศิลปะด้วย การทดลองอดอาหารซึ่งเป็นประเพณีหนึ่งที่คนรู้อยู่แล้ว จึงเป็นสิ่งที่สามารถสร้างความสนใจและจุดประเด็นทางสังคมขึ้นมาได้ 

นายมิตรกล่าวว่าในส่วนตัวนั้น เขาเห็นด้วยให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสถานะบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นปัญหาที่อิหลักอิเหลื่ออยู่ในการเมืองไทยและประชาชนจำนวนมากเริ่มเห็นปัญหา อีกทั้งกฎหมายมาตรานี้ในทางปฏิบัติก็มีปัญหาเพราะมีถูกใช้ฟ้องร้องกันไปมาไม่จบสิ้นโดยเขายังไม่มีข้อเสนอในทางปฏิบัติหรือในทางวิชาการ แต่เห็นด้วยกับแนวทางข้อเสนอทางวิชาการของนิติราษฎร์ และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล 

กิจกรรมอดอาหาร 112 ชั่วโมงนี้ เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล madiFESTO2011 ซึ่งเป็นนิทรรศการและกิจกรรมเกี่ยวกับสื่อ/ศิลปะ/วัฒนธรรมในมิติที่สัมพันธ์กับประเด็นสาธารณะและเรื่องราวในสังคม จัดโดยสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เทศกาลดังกล่าวจัดติดต่อกันเป็นประจำทุกปีมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2552 โดยในปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อชื่อ“FALL”กิจกรรมในงานมีตั้งแต่การจัดแสดงงานศิลปะ ฉายภาพยนตร์ ศิลปะการแสดงสด และปฏิบัติการทางวัฒนธรรม ทั้งในบริเวณหอศิลปวัฒนธรรม และในพื้นที่สาธารณะต่างๆ หลายแห่งในเมืองเชียงใหม่ 

โดยความตอนหนึ่งในคำประกาศของหัวข้อในปีนี้ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานไว้ว่า “การเปิดโอกาสในการแสดงออกถึงความจริงอันแตกต่างหลากหลายและการแยกแยะให้เห็นถึงความลักลั่นขัดแย้งบิดเบือนในมิติต่างๆ ทะลุกรอบกับดักต่างๆคลี่คลายถอดชั้นถึงสาเหตุและเงื่อนไขของปัญหาจะช่วยเปิดพื้นที่ของการสร้างสรรค์ใหม่ๆซึ่งไม่ใช่เพียงคนกลุ่มเดิมแต่หมายถึงการยอมรับมนุษย์กลุ่มอื่นๆที่ล่องหนเป็นปีศาจหรือถูกกดขี่ให้ได้รับโอกาสมีชีวิตในฐานะมนุษย์ที่มีคุณค่าและศักดิ์ศรีอย่างเท่าเทียมและพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่าร่วมกันได้” 

ทั้งนี้นายมิตร ใจอินทร์ ปัจจุบันอายุ 51 ปี เป็นศิลปินอิสระในสาขาทัศนศิลป์ และเคยศึกษาที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ไม่จบการศึกษามิตรเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกิจกรรมเชียงใหม่จัดวางสังคมมาตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งสนใจศิลปะในมิติที่สัมพันธ์กับปัญหาในสังคม และต่อมาศิลปินในเชียงใหม่ได้พัฒนากิจกรรมมาเป็น madiFESTO ที่จัดต่อเนื่องมาในปัจจุบัน 

-------------------------------


อดข้าว 112 ชั่วโมงวันที่สอง กลุ่มศิลปินออกตระเวนพร้อมทำงานศิลป์ค้าน ม.112

นายมิตร ใจอินทร์นอนอ่านหนังสือที่มีผู้นำมามอบให้ 
-------------------

 

วันที่ 27 กันยายน 2554 บริเวณลานลั่นทม หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “ปฏิบัติการอดอาหารท้วงประเทียด 112 ชั่วโมง” (112 Hunger Strike) ของนายมิตร ใจอินทร์และกลุ่มศิลปินอิสระ ยังดำเนินไปเป็นวันที่สอง 

นายมิตรเล่าว่า วันนี้ในตอนเช้าตนรู้สึกปวดหัวและมีไข้เล็กน้อย เนื่องจากเมื่อคืนฝนตกหนัก และบริเวณที่ดำเนินกิจกรรมมีหลังคารั่ว ทำให้เจออุปสรรคในการหลบน้ำฝน แต่เมื่อทานยาและน้ำเกลือแร่ รวมทั้งได้นอนพักในช่วงบ่ายก็ทำให้รู้สึกดีขึ้น นอกจากนั้นนายมิตรยังเล่าถึงอุปสรรคในระหว่างวันจากเสียงของเครื่องบินที่ขึ้นลงเป็นระยะ เนื่องจากบริเวณหอศิลปวัฒนธรรมอยู่ใกล้ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ทำให้รบกวนการนอนหลับพักผ่อนเป็นช่วงๆ แต่นายมิตรยังคงยืนยันที่จะอดอาหารจนครบ 112 ชั่วโมงต่อไปเพื่อให้สังคมหันมาสนใจถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้มากขึ้น 

อีกทั้ง ในช่วงระหว่างปฏิบัติการในวันนี้ ยังมีประชาชนที่ได้ทราบข่าวการอดอาหาร 112 ชั่วโมงของกลุ่มศิลปินอิสระ แวะเวียนกันมาให้กำลังใจนายมิตรเป็นระยะ พร้อมทั้งนำน้ำดื่ม ดอกกุหลาบ และหนังสือเกี่ยวกับการเมือง มาให้นายมิตรและกลุ่มศิลปินด้วย 

นายนิสิฏฐ์กุล ควรแถลง ศิลปินอิสระจากกรุงเทพฯ อายุ 25 ปี ซึ่งร่วมอดอาหารกับนายมิตรเป็นเวลาหนึ่งวัน เล่าว่าเนื่องจากเขาต้องกลับลงไปธุระที่กรุงเทพฯ ทำให้ไม่สามารถอยู่ร่วมกิจกรรมจนจบได้ โดยในตอนแรกตนตั้งใจจะมาร่วมงาน madiFESTO อยู่แล้ว และเมื่อได้ทราบกิจกรรมของนายมิตร พร้อมทั้งได้รับการชักชวนให้มาร่วมปฏิบัติการ ก็รู้สึกสนใจ แม้เขาจะคิดว่าการอดอาหารอาจจะไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่ก็สามารถเป็นแสดงออกและการสื่อสารว่ากฎหมายมาตรา 112 นี้มีปัญหาและสังคมควรจะคุยกันมากกว่านี้ แล้วการทำกิจกรรมในฐานะงานศิลปะก็สามารถบอกเล่าในเรื่องนี้ได้ 

นิสิฎฐ์กุลเห็นว่าโดยการอดอาหารแบบนายมิตร ต่างจากของจำลอง ศรีเมือง ที่อดพร้อมกับมีข้อเรียกร้อง และจะหยุดก็ต่อเมื่อได้ผลตามข้อเรียกร้องนั้น ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นการอดอาหารแบบบีบบังคับเกินไป แต่การอดอาหาร 112 ชั่วโมงในครั้งนี้เหมือนกับการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ ไม่ได้กำหนดว่าจะอดจนกว่าจะได้ตามข้อตกลง และการกำหนดเวลา 112 ชั่วโมงทำให้เหมือนมีคอนเซปต์ (Concept) อยู่ในงานศิลปะด้วย รวมทั้งช่วยในการบอกให้ผู้คนทราบว่าศิลปินกำลังพูดถึงเรื่องอะไรอยู่ 

นอกจากนั้นเมื่อทดลองอดอาหารมาครบ 1 วัน นายนิสิฎฐ์กุล เล่าว่าตนได้เรียนรู้ว่ากิจกรรมหรือปฏิบัติการที่ทำร่วมกันหลายคน ทำให้ได้มีการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น-ชีวิตอื่น และเกิดความรู้สึกเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน เช่น พอรู้สึกหิว แล้วเห็นนายมิตรหรือเพื่อนๆ ยังอดอาหารร่วมกันอยู่ ก็ทำให้อดทนไปกับกลุ่มก้อนที่อยู่ด้วยกันด้วย 

ขณะเดียวกันกิจกรรมงาน madiFESTO 2011 ในวันนี้ มีการจัดตระเวนชมเทศกาลศิลปะบริเวณจุดต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งระหว่างตระเวนชมงาน กลุ่มศิลปินยังมีการเขียนข้อความศิลปะเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 บริเวณบอร์ดที่จัดให้ผู้ชมงานแสดงความคิดเห็นในจุดที่จัดกิจกรรมอีกด้วย 

ส่วนในวันที่ 28 กันยายนนี้ กลุ่มศิลปินผู้จัดงานยังเชิญชวนร่วมเสวนาในหัวข้อ “สังคม การเมือง วัฒนธรรม ของบ้าน live in บ้านพ่อ” ในเวลา 10.00 -12.00น. บริเวณหอศิลปวัฒนธรรม ซึ่งนำเสวนาโดยภัควดี ไม่มีนามสกุล (นักเขียน) อาจินต์ ทองอยู่คง (นักวิชาการอิสระ) และนายนิสิฏฐ์กุล ควรแถลง (ศิลปินอิสระ) รวมถึงกิจกรรมเสวนาอีกหลายรายการเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม และศิลปะ ตลอดวันอีกด้วย 


------------------------------------- 


‘อดข้าว 112 ชั่วโมง’ วันที่สาม เสื้อแดงเชียงใหม่หลายกลุ่มให้กำลังใจ

กลุ่มคนเสื้อแดงนำช่อดอกไม้เข้าให้กำลังใจนายมิตร ใจอินทร์ 
------------------------------------- 


“ปฏิบัติการอดอาหารท้วงประเทียด 112 ชั่วโมง” (112 Hunger Strike) ของนายมิตร ใจอินทร์ ยังคงดำเนินต่อไปเป็นวันที่สาม โดยในวันนี้กลุ่มคนเสื้อแดงหลายกลุ่มในจังหวัดเชียงใหม่ เดินทางเยี่ยมและมอบดอกไม้ให้กำลังใจนายมิตร 

28 ก.ย. 54 - ในช่วงเช้าบริเวณหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเีชียงใหม่ มีงานเสวนาในหัวข้อ “สังคม การเมือง วัฒนธรรม ของบ้าน live in บ้านพ่อ” โดยก่อนเริ่มงานเสวนา พิธีกรเสวนาได้สัมภาษณ์เปิดใจนายมิตร ใจอินทร์ ถึงกิจกรรมอดอาหารของเขา นายมิตรเล่าว่า ตนรู้สึกว่าศิลปินหรือนักวัฒนธรรมในเมืองไทยค่อนข้างถูกปิดปากและไม่มีเสรีภาพในการแสดงออก แม้ตนจะไม่รู้เรื่องทางนิติศาสตร์ หรือมีความรู้ด้านกฎหมายในระดับชาวบ้าน แต่ในฐานะศิลปิน ก็เห็นปัญหาในเรื่องกฎหมายมาตรา 112 นี้ได้สร้างความไม่เป็นธรรมในสังคม 

นายมิตรกล่าวว่า ตนเคยเข้าไปฟังงานเสวนาเรื่องกฎหมายฉบับนี้โดยนักวิชาการอย่างอาจารย์ David Streckfuss ได้ชี้ให้เห็นว่าในปีเดียวมีคนโดนคดีในมาตรา 112 ถึง 400 กว่าคน ซึ่งมันสะท้อนความเป็นยุคที่บ้านป่าเมืองเถื่อนมาก ในภาวะแบบนี้ศิลปินไม่สามารถจะทำอะไรสร้างสรรค์ได้ภายใต้ร่มเงาของความมืดและการใช้อำนาจแบบนี้ อีกทั้งชาวบ้านจำนวนมากที่ตนได้สัมผัสและได้พูดคุยด้วย ก็เห็นถึงปัญหาของกฎหมายมาตรานี้ และมีอาการที่เรียกว่าตาสว่างกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งศิลปินก็เริ่มตาสว่างตามชาวบ้านไป 

นายมิตรกล่าวว่าเมื่อมีโอกาสจากคณาจารย์และนักศึกษาที่จัดงาน madiFESTO ขึ้นและให้โอกาสได้แสดงออก ตนก็ใช้จังหวะนี้เอามาปฏิบัติการ มาเปิดประเด็น เพราะหน้าที่ของศิลปะสำหรับตนคือต้องช่วยในการเปิด ทั้งในแง่การเปิดประเด็น และในแง่การเปิดหูเปิดตาผู้คน 

สำหรับการอดอาหารในวันที่สาม นายมิตรยังคงปักหลักนั่งอยู่กับที่ ไม่เคลื่อนย้ายไปไหนเพื่อไม่ให้สิ้นเปลืองพลังงาน และในวันนี้ยังมีกลุ่มคนเสื้อแดงจากหลายกลุ่มในจังหวัดเชียงใหม่ เช่น จากอำเภอสันกำแพง และอำเภอดอยสะเก็ด ส่งตัวแทนเข้าเยี่ยมและให้กำลังใจนายมิตร พร้อมนำช่อดอกไม้และน้ำดื่มมามอบให้ หลายคนชื่นชมในความกล้าหาญในการทำกิจกรรมของนายมิตร 

หญิงเสื้อแดงจากอำเภอดอยสะเก็ด เล่าว่าตนรู้สึกเห็นใจนายมิตรที่ออกมาช่วยกันผลักดันในเรื่องกฎหมายมาตรา 112 โดยการอดข้าว และรู้สึกว่านายมิตรคนเดียวหรือศิลปินอีก 4-5 คนทำแบบนี้ก็ยังน้อยไป ทั้งที่มีคนที่โดนคดีจากกฎหมายมาตรา 112 อีกเยอะ จึงอยากให้ทางรัฐบาลใส่ใจกับปัญหาจากกฎหมายฉบับนี้ หรือมีการทบทวนแก้ไขกฎหมาย ไม่ใช่ใครทำหรือพูดอะไรก็สามารถถูกหาว่าละเมิดสถาบันไปหมด ซึ่งแบบนี้ทำให้บ้านเมืองแตกแยกมากกว่า อีกทั้งข่าวสารในเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 ก็ไม่มีการออกในสื่อโทรทัศน์ช่องปกติ คนที่พูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็แทบไม่มีใครรู้ใครเห็น ตนจึงเห็นด้วยว่าควรทำให้เรื่องนี้เป็นที่รับรู้มากขึ้น และอยากให้นักศึกษาหรือใครก็ตามได้ช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ในด้านอื่นๆ ด้วย 

นอกจากนั้นในวันนี้ ผู้มาเยี่ยมให้กำลังใจยังมีการนำข้อความไม่เห็นด้วยกับการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในภาษาต่างๆ รวมทั้งสติ๊กเกอร์ที่มีข้อความ “NO FREEDOM HERE” พร้อมภาพคนถูกจับมัดเชือก มาติดไว้ในบริเวณที่ปฏิบัติการของนายมิตรด้วย ทั้งนี้จนถึงในวันที่สาม ยังมีศิลปินอิสระที่อดอาหารเป็นเพื่อนนายมิตรอีก 1 คน

 

นายมิตรติดข้อความภาษาญี่ปุ่นและภาษาล้านนา 
แสดงความไม่เห็นด้วยกับกฎหมายมาตรา 112 ที่มีผู้นำมามอบให้

 

------------------------------- 

คำประกาศ "112 ในมิติทางวัฒนธรรม"

 

เมื่อเวลา 08.00 น. วันนี้ (1 ต.ค.) ภายหลัง “ปฏิบัติการอดอาหารท้วงประเทียด 112 ชั่วโมง” (112 Hunger Strike) ของนายมิตร ใจอินทร์และกลุ่มเพื่อนศิลปินซึ่งสิ้นสุดในเวลา 04.00 น. นายมิตรและกลุ่มศิลปินได้แถลงคำประกาศ “112 ในมิติทางวัฒนธรรม” โดยผู้อ่านแถลงการณ์คือนายทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ สาขาสื่อศิลปะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

โดยชี้ให้เห็นว่าปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 “เป็นปัญหาที่กินความกว้างขว้างมากในระดับชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะต่อจินตนาการของการดำเนินชีวิต กิจกรรม และนิยามความหมายของวัฒนธรรมไทยที่เป็นปัญหาในมิติที่ซับซ้อน ปัญหามาตรา 112 ในมิติทางวัฒนธรรมนี้ไม่เพียงสร้างความหวาดกลัวต่อเสรีภาพในการแสดงความคิด เห็นสาธารณะที่มักถูกใช้เป็นข้อกล่าวหาในเรื่อง “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” แต่มันได้สร้างความหวาดกลัวต่อการดำรงชีวิตที่เป็นปกติสามัญภายใต้ขนบความ เป็นพลเมืองไทยที่ไม่มีสิทธิเสรีภาพในแทบทุกด้านอีกด้วย” 

“ดังนี้แล้วเมื่อผลกระทบของมาตรา 112 มีใจความที่กว้างขวางในระดับวัฒนธรรม และชีวิตประจำวัน ดังนั้นการรณรงค์เรียกร้องให้เกิดการแก้ไขจนถึงการล้มเลิกกฎหมายมาตรานี้จึง จำเป็นต้องเกิดจากกิจกรรมในพื้นที่ของวัฒนธรรมและพื้นที่ของชีวิตเป็นคู่ ขนานกันไปกับการถกเถียงในมิติทางนิติศาสตร์ จุดประสงค์สำคัญในการอดข้าวของมิตร ใจอินทร์ คือการทำให้พื้นที่ของชีวิตสามัญ ชีวิตที่ทุกคนเดินเหินไปมาในกิจกรรมของชีวิตที่แตกต่างหลากหลายคือเวทีแห่ง การรณรงค์เรียกร้องสิทธิเสรีภาพในรูปแบบต่างๆ และเป็นเวทีที่แท้จริงในการไต่สวนความอยุติธรรมทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ เพศสภาพ และอื่นๆ อย่างกว้างขวาง ด้วยเครื่องมือที่ทุกคนมีเป็นต้นทุนอยู่แล้วในกระเป๋าของตัวเอง”

 

 

ที่มา: prachatai.com / 26 กันยายน 2554

Views: 551

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service