เทศกาล "ละครกรุงเทพ ครั้งที่ 10 : FAST FORWARD"

“กว่า 100 ชีวิตของศิลปินและคนละครทั่วกรุงเทพ

กว่า 10,000 รอบการแสดงครบรสหลากหลายที่สุด

กับครบรอบ 10 ปีของเทศกาลที่ครึกครื้นที่สุดของบรรดาArtist “ตัวจริง” ของวงการศิลปะการแสดง”


เครือข่ายละครกรุงเทพ ร่วมกับ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ประชาคมบางลำพู และชมรวมวิจารณ์ศิลปะการแสดง ได้ร่วมกันจัดงานเทศกาลละครกรุงเทพ ครั้งที่ 10 ขึ้น ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์จนถึงต้นเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ โดยมีการแสดงที่หลากหลายกว่า 55 เรื่องจาก 45 กลุ่มละคร

เทศกาลละครกรุงเทพ เป็นเทศกาลทางด้านศิลปะการแสดงที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เป็นเวลาร่วม 10 ปีแล้วที่กลุ่มคนทำละครเวทีและศิลปะการแสดง ทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ กว่า 100 คณะมารวมกันอย่างคับคั่ง และนำเสนอผลงานศิลปะการแสดงที่หลากหลาย มีแนวทางตลอดจนรูปแบบเฉพาะของแต่ละกลุ่มแต่ละคนเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนและแบ่งปันความสร้างสรรค์ซึ่งกันและกัน จนเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในเทศกาลทางด้านศิลปะที่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักของผู้ที่ชื่นชอบศิลปะการแสดงมากที่สุดเทศกาลหนึ่งของประเทศไทย ภายในวงล้อมของบรรยากาศที่อบอวลด้วยย่านเมืองเก่า อาคารประวัติศาสตร์ แห่งชุมชนละครที่สืบทอดวิถีชีวิตที่ผูกพันกับศิลปะการแสดงมาอย่างยาวนาน


ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เทศกาลละครกรุงเทพได้เป็นพื้นที่ซึ่งได้ให้กำเนิดศิลปินรางวัลทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติมาแล้วหลายท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรางวัล “ศิลปาธร” อันถือว่าป็นเกียรติประวัติแด่ศิลปินร่วมสมัยและเป็นความภาคภูมิใจแก่ผู้ร่วมวงการ อาทิ ประดิษฐ ประสาททอง (2547) พิเชษฐ์ กลั่นชื่น (2549) นิมิต พิพิธกุล (2550) สินีนาฏ เกษประไพ (2551) ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง (2552) และ นิกร แซ่ตั้ง (2553) พร้อมกันนั้น ในขณะเดียวกันทุกๆ ปีเราจะมีกลุ่มละครและศิลปินหน้าใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย และยังรวมถึง ความร่วมจากสถาบันการศึกษา นิสิต นักศึกษา ตลอดจนกลุ่มเยาวชนหรือชมรมที่ให้ความสนใจในศิลปะแขนงนี้และสร้างสรรค์ผลงานของตนเองเข้าร่วมในเทศกาลเพิ่มมากขึ้น


ในปีพ.ศ. 2555 นี้ จะเป็นการครบรอบหนึ่งทศวรรษของการจัดเทศกาลละครกรุงเทพขึ้น ซึ่งถือเป็นนิมิตรหมายอันดีของการขับเคลื่อนทางศิลปะ เพราะนอกจากเครือข่ายละครกรุงเทพและประชาคมบางลำพูซึ่งเป็นผู้จัดงานหลักของเทศกาลละครกรุงเทพในทุกๆ ปีแล้ว ก็ยังมีแนวร่วมทางด้านศิลปวัฒนธรรม ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการมีบทบาทสำคัญทั้งให้ความร่วมมือ รวมถึงส่งเสริมสนับสนุนให้ศิลปะการแสดงสามารถพัฒนาและก้าวเดินร่วมกันไปพร้อมกับสังคมไทยได้


คุณนาถนิศา สุขจิตต์ ตัวแทนจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ได้ให้ความเห็นไว้ว่า ศิลปะนั้นมีบทบาทที่สำคัญยิ่งต่อสังคม เพราะเป็นศาสตร์สำคัญในการขัดเกลาและยกระดับจิตใจของผู้คนในสังคม ซึ่งทางภาครัฐเองก็ได้เล็งเห็นความสำคัญในศิลปะนี้ จึงได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนวงการศิลปะร่วมสมัยในทุกๆ สาขา ทั้งทางด้านการสร้างสรรค์ผลงาน การเผยแพร่ผลงาน ตลอดจนการเสริมสร้างคุณค่าทางศิลปะ การสนับสนุนเครือข่ายละครกรุงเทพให้จัดเทศกาลละครกรุงเทพขึ้นนั้น จึงเป็นอีกหนึ่งการสนับสนุนที่ภาครัฐหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำให้ศิลปะเข้าถึงชุมชนและคนในสังคมมากขึ้นด้วย


นอกจากนั้นแล้ว เทศกาลละครกรุงเทพครั้งที่ 10 นี้ยังได้รับการสนับสนุนจากหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครอีกด้วย ซึ่งคุณลักขณา คุณาวิชยานนท์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครได้กล่าวอธิบายไว้ว่า การให้พื้นที่หรือเวทีสำหรับศิลปินในการสร้างสรรค์ผลงานนั้นเป็นอีกหนึ่งการสนับสนุนสำคัญให้ศิลปินสามารถทำงานศิลปะได้ อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ศิลปะสามารถออกสู่สาธารณะ ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หอศิลป์วัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครก็ได้เป็นพื้นที่สำหรับศิลปะการแสดงมากมาย โดยได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนและผู้ที่สนใจเป็นจำนวนมาก อันเป็นผลสะท้อนให้เห็นได้ว่าพื้นที่ทางศิลปะนั้นมีความสำคัญของสังคม และเทศกาลละครเวทีกรุงเทพก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมบางลำพูสำคัญที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครจะร่วมสนับสนุนให้เกิดขึ้นโดยมีการเปิดพื้นที่สำหรับการแสดง ตลอดจนการเสวนาทางวิชาการอันจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่สนใจในศิลปะแขนงนี้


ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งสำหรับเทศกาลละครกรุงเทพในปีนี้ คือการร่วมมือกับชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดงที่เปิดตัวพร้อมๆ กันในปีพ.ศ. 2555 โดยอาจารย์ปวิตร มหาสารินันท์ ประธานชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดงได้แนะนำว่า ชมรมฯ เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของนักวิจารณ์และผู้ที่เกี่ยวข้องกับแวดวงการวิจารณ์ทั้งในและนอกวงการศึกษา อีกทั้งยังเป็นชมรมที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับสมาคมนักวิจารณ์ละครเวทีสากล (International Association of Theatre Critics) ซึ่งในเทศกาลละครกรุงเทพปีนี้ ชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดงได้จัดตั้งรางวัล Bangkok Theatre Festival Award ขึ้นเพื่อมอบให้กับศิลปินและกลุ่มละครที่สร้างสรรค์ผลงานได้โดดเด่นและมีคุณค่า โดยรางวัลนี้จะได้รับการรับรองจากชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง ซึ่งเกียรติยศดังกล่าวนั้นสามารถนำไปใช้อ้างอิงกับผลงานของศิลปินไทยได้ในระดับนานาชาติ นอกจากนี้แล้ว ทางชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดงยังมีการจัดประกวดรางวัลบทวิจารณ์ละครเวทีดีเด่นในระดับอุดมศึกษาขึ้นสำหรับเทศกาลละครกรุงเทพนี้ด้วย เพื่อเป็นการสนับสนุนและสร้างบุคลากรด้านการวิจารณ์ศิลปะให้เพิ่มขึ้น

Views: 447

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service