ร้านกาแฟ “ชานชาลา” ร่วมสืบสานตำนานอัมพวา

 

ร้านกาแฟชานชาลา
       ร้านกาแฟ “ชานชาลา” ร้านจำหน่ายเครื่องดื่มซึ่งเปิดให้บริการอยู่ในโครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ ของสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา โดยได้ตกแต่งร้านให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ มีลักษณะเหมือนชานชาลา รถไฟแม่กลอง ก่อนที่จะไปสิ้นสุดทางที่แม่น้ำแม่กลอง “ร้านชานชาลา” จึงมีแนวคิดนี้มาใช้เทียบเคียงว่าร้านแห่งนี้เป็นที่สิ้นสุดทาง ณ คลองอัมพวา

 

       นายกฤตย มีทวี เจ้าหน้าที่โครงการ เล่าถึง ร้านกาแฟชานชาลาว่า สืบเนื่องมาจากนางสาวประยงค์ นาคะวะรังค์ ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินประกอบด้วย สวนผลไม้ เรือนแถวไม้ริมคลองอัมพวาและบ้านพักอาศัย จำนวน 5 แปลง พื้นที่รวม 21 ไร่ 12 ตารางวา ในตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

       เพื่อใช้ประโยชน์ในกิจกรรมของมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา นำที่ดินไปพัฒนาและอนุรักษ์เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน และคำนึงถึงความเหมาะสมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวชุมชนอัมพวา โดยนำหลักการการพัฒนาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ภูมิสังคม” และพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวทางและหลักการดำเนินงานที่สำคัญ

 

       โดยร้านกาแฟดังกล่าวเปิดให้บริการอยู่ด้านหน้าริมคลองอัมพวา พื้นที่ 3 ห้อง ภายในร้านจำหน่ายเครื่องดื่ม อาทิ กาแฟ ชา น้ำผลไม้ปั่น น้ำสมุนไพร น้ำอัดลม น้ำแข็งไส น้ำดื่ม และอาหารว่างประเภท ขนมปังปิ้ง ขนมปังนึ่ง ป๊อปคอร์น ฯลฯ และมีมุมจำหน่ายของที่ระลึกโครงการฯผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิชัยพัฒนา ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่กิจกรรมต่างๆ ภายในโครงการ ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว กิจกรรมของชุมชนอัมพวา

 

ที่มาของชานชาลา ต้องการให้เป็นจุดพัก
       สำหรับจุดประสงค์การเปิดร้านชานชาลา เพื่อต้องการให้จุดแวะพักก่อนจะเปิดประตูหน้าบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวเข้าไปชมพื้นที่ด้านในของโครงการ เพราะร้านเปิดอยู่ด้านหน้าติดกับริมน้ำที่มีนักท่องเที่ยวเดินผ่านไปมา เพราะถ้าไม่มีร้านชานชาลาเป็นประตูเปิดเข้าไปชมโครงการโอกาสที่นักท่องเที่ยวจะเดินเข้าไปด้านในจะมีน้อยมาก

 

ลูกค้าสามารถสั่งอาหารในเรือมากินในร้านได้
       ทั้งนี้ ภายในโครงการประกอบไปด้วย ร้านค้าชุมชน จัดเป็นร้านค้าให้กับชุมชนต่างๆ ในเขตเทศบาลตำบลอัมพวาได้เช่าพื้นที่เพื่อจำหน่ายและจัดแสดงสินค้า รวมถึงชมสวนสาธิตการเกษตรเพื่อการเรียนรู้ และชมลานวัฒนธรรม นาคะวะรังค์ เป็นลานอเนกประสงค์ใช้สำหรับการแสดงและจัดกิจกรรมท้องถิ่น

 

ป้ายรายการเครื่องดื่มภายในร้าน
       นอกจากนี้ ร้านชานชาลายังเป็นอีกช่องทางหนึ่ง ในการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างมูลนิธิกับชุมชน เพราะทางร้านจะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวสามารถซื้ออาหารจากการให้บริการในเรือเข้ามานั่งกินในร้านได้ นอกเหนือจากการจัดพื้นที่ให้ชาวบ้านในชุมชนนำสินค้ามาขาย โดยเสียค่าเช่าในราคาถูก เพียงเดือนละ 400-800 บาท หรือถ้าเป็นร้านริมน้ำเสียค่าเช่าเพียงเดือนละ 1,300 บาท ส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้อยู่อาศัยเดิม ก่อนที่ทางมูลนิธิฯจะเข้ามาทำโครงการ

 

ร้านขายในลานวัฒนธรรม
       “ปัจจุบันพื้นที่ในบริเวณตลาดน้ำอัมพวานั้น จะมีราคาค่าเช่าสูงถึงเป็นหลักหมื่นบาท ซึ่งถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไปในชุมชน หรือ รากหญ้า โอกาสที่จะมาทำมาหากินในพื้นที่ก็คงจะทำได้ยาก ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือ เสน่ห์ของอัมพวา จากวัฒนธรรม และการดำรงชีวิตของคนชุมชนก็จะหายไป เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก ซึ่งการเข้ามาทำโครงการส่วนหนึ่งต้องการจะอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นเดิม และส่งเสริมเศรษฐกิจให้กับชาวบ้านชุมชนที่มีรายได้น้อย ได้มีโอกาสมาทำมาค้าขายมีรายได้ในพื้นที่ที่เข้าอยู่อาศัยมานาน ซึ่งทั้งหมดก็เกิดขึ้นจากแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” นายกฤตย กล่าว

 

บรรยากาศภายในสวนที่เปิดขายอาหาร
       นายกฤตย กล่าวต่อว่า สำหรับในส่วนของรายได้ของร้านชานชาลา มองในแง่ของธุรกิจอาจจะมองว่าน่าจะได้มากกว่านี้ สำหรับการเปิดร้านขนาด 3 คูหา ในพื้นที่ของตลาดน้ำอัมพวา แต่การทำงานของเรา โจทย์ไม่ได้อยู่ที่การแข่งขัน หรือหวังผลกำไรจำนวนมาก แต่เป็นการทำงานเพื่อประโยชน์ของชุมชน ซึ่งจำเป็นจะต้องมีรายได้เพื่อเข้ามูลนิธิฯด้วย ดังนั้นถ้ามองในแง่ของธุรกิจ การที่เราเอื้อให้ลูกค้าจากผู้ค้าในเรือ สามารถมานั่งกินในร้านได้ โดยไม่ได้คิดค่าเช่าแต่อย่างใด อาจจะทำให้เสียประโยชน์ แต่แท้ที่จริงแล้ว ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะถ้าเขาขายอาหารได้มาก เราก็ขายน้ำได้มาก เช่นกัน เพราะเมื่อสั่งอาหารในเรือ และเข้ามานั่งในร้านเราเขาก็ต้องสั่งน้ำดื่มจากร้านของเรา มองในแง่ธุรกิจเป็นการตลาดอีกรูปแบบหนึ่ง

 

ป้ายด้านหน้าโครงการ
       สำหรับร้านอาหารในเรือที่เปิดขายอยู่ด้านหน้าโครงการนั้น ปัจจุบันอยู่ประมาณ 20 ลำเรือ ส่วนร้านภายในโครงการจะมีรวมกันประมาณ 100 ร้านค้า เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่คนในพื้นที่คัดเลือกเข้ามาขายในโครงการ และส่วนหนึ่งเป็นชาวบ้านที่ยากไร้มีรายได้น้อย ผู้เข้ามาขายสินค้าภายในโครงการจะต้องปฏิบัติการตามข้อตกลง คือ อาหารที่ต้องถูกสุขลักษณะ สะอาด มีคุณภาพ และราคายุติธรรม ซึ่งการทำงานร่วมกับชุมชนไม่ใช่เรื่องง่ายต้องทำความเข้าใจ ซึ่งกันและกัน และการเข้ามาทำโครงการของมูลนิธิฯครั้งนี้ จุดประสงค์เพื่อส่งเสริม ไม่ได้หวังผลประโยชน์แต่อย่างใด

 

ป้ายริมน้ำแนะนำภายในโครงการ

 

 

 

 

 

ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์ 3 ธันวาคม 2553

Views: 1315

Reply to This

Replies to This Discussion

เสน่ห์ของอัมพวา จากวัฒนธรรม
และการดำรงชีวิตของชุมชนบ้านสวน
ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
เคยไป2 ครั้งแล้วค่ะ ถ้ามีโอกาสจะไปอีก
น่าไปมากค่ะ : )))

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service