"กะลา" เป็นอะไรมากกว่าที่คิด




คนส่วนใหญ่มักเพลิดเพลินกับความหอม หวาน มัน ของเนื้อ และน้ำมะพร้าว ขณะที่ปล่อยให้กะลามะพร้าวกลายเป็นเพียงเศษวัสดุเหลือใช้

แม้ในอดีต กะลามะพร้าว จะถูกนำไปใช้สอยในชีวิตประจำวันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นของใช้ในครัวเรือน อย่าง กระบวยตักน้ำ จอกตักข้าวสาร หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่คนสมัยก่อนได้คิด และแปรรูปเพื่อประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ แต่เมื่อวันเวลาเปลี่ยนไป ภูมิปัญญาไทยเหล่านี้ก็เกือบจะเลือนหายไปตามกาลเวลา

อย่างไรก็ตาม ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่เล็งเห็นประโยชน์ของกะลามะพร้าว โดยได้พยายามฟื้นฟูภูมิปัญญาเหล่านี้ให้คืนกลับมาที่ชุมชนบ้านรักกะลา เกาะช้าง จังหวัดตราด ผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าวได้ถูกแปรรูปขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ด้วยฝีมือของชาวบ้านเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่นำส่วนผสมของความคิดสร้างสรรค์มาบวกกับความตั้งใจ

จากกะลามะพร้าวที่ดูไร้ค่า ก็กลับมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สวยงามเต็มไปด้วยไอเดียแปลกใหม่ มีแนวคิดที่หลากหลาย และสามารถนำไปใช้งานได้จริง จนกลายเป็นที่ยอมรับของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทำให้มีรายได้เพิ่มพูนเข้าสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 10 ปี

น้ำค้าง กุศลจิต ประธานกลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านรักกะลา เล่าถึงแนวคิดริเริ่มในการผลิตวัสดุจากกะลามะพร้าวว่า หมู่บ้านรักกะลาแห่งนี้มีต้นมะพร้าวเยอะมาก และบ่อยครั้งที่ไม่ได้มีการนำมะพร้าวไปใช้ประโยชน์มากมายนัก รวมถึงกะลาก็มักจะถูกเผาทิ้งเสียส่วนใหญ่

"เมื่อมีการประชุมกลุ่มในหมู่บ้านเลยคิดกันว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้กะลามะพร้าวเหล่านี้มีประโยชน์และสามารถที่จะทำรายได้ให้เกิดขึ้นภายในชุมชน จึงเกิดการรวมตัวกันขึ้นของสมาชิกในชุมชนที่มีความสนใจ และต้องการหารายได้พิเศษและอาชีพเสริม ภายใต้โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) โดยได้สร้างผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย และมีความประณีตสวยงาม คงทน จำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวที่แวะมาเพื่อซื้อหาเป็นของฝาก"

จุดเด่น "ขึ้นชื่อ" และเป็นที่ยอมรับของนักท่องเที่ยว ของกะลาที่นี่ก็คงจะเป็นในเรื่องลวดลายไม่เหมือนใคร อุดมไปด้วยไอเดียที่แตกต่าง และความคิดสร้างสรรค์ที่หลากหลาย ซึ่งภายในกลุ่มจะมีการออกแบบกันเอง และผลิตออกมาเรื่อยๆ ทำให้ลวดลายจึงมักมีความแปลกใหม่อยู่เสมอ กลายเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวในที่สุด

"60-70 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นชาวต่างชาติส่วนใหญ่ ที่มักจะแวะเวียนมาเพื่อซื้อหาอยู่เรื่อยๆ ผลตอบรับที่ได้มาถือว่า ดีมาก เพราะสินค้าของเราทุกชิ้นมีมาตรฐาน รวมไปถึงบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานด้วยเช่นกัน เมื่อมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาซื้อกลับไปที่ประเทศ เขาก็จะนำไปบอกต่อเรื่อยๆ จึงมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่มาเกาะช้างแห่งนี้ และมักจะแวะมาซื้อสินค้าจากบ้านรักกะลาติดไม้ติดมือกลับไปเสมอ และที่ชาวต่างชาติชื่นชอบเป็นพิเศษคือ คือกะลามะพร้าวของที่นี่เกิดขึ้นจากธรรมชาติหมด จะไม่มีการย้อมสีหรือลงน้ำมัน" ประธานกลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านรักกะลา กล่าว

สำหรับขั้นตอนในการผลิตนั้น เธออธิบายว่า เริ่มแรกคือต้องคัดเลือกกะลามะพร้าวก่อน ดูจากลักษณะรูปทรงของกะลาว่าสามารถที่จะนำไปทำผลิตภัณฑ์ชนิดใด เพราะกะลาแต่ละลูกจะมีรูปทรงที่ไม่เหมือนกัน โดยจะมีความแตกต่างกันออกไป

"เราก็ต้องดูว่าเหมาะที่จะนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใดได้บ้าง จากนั้นนำมาขัดผิวให้เรียบ ซึ่งขั้นตอนการขัดนี้จะใช้เวลานานกว่าขั้นตอนอื่นๆ เพื่อให้ได้ผิวกะลาที่เงาและเรียบเนียน จึงต้องใช้ความประณีตเป็นพิเศษ โดยในขั้นตอนดังกล่าวเมื่อขัดจนเรียบเนียนแล้วจะปรากฏเส้นลวดลายที่สวยงามขึ้นบนกะลา จะไม่มีการแต่งเติมหรือวาดลวดลายใดๆ ลงไป โดยเป็นลวดลายที่เกิดจากธรรมชาติทั้งสิ้น หากต้องการกะลาที่เป็นสีขาว ก็ต้องเลือกกะลามะพร้าวอ่อน ถ้าต้องการสีดำมาก ต้องนำกะลาไปทอดในน้ำมันที่ใช้ในการประกอบอาหาร หรือในน้ำมันที่ใช้แล้ว ซึ่งบ้านรักกะลาจะไม่มีการลงนำมัน หรือลงสี เพราะนักท่องเที่ยวจะไม่ชอบ จากนั้นก็จะนำไปขึ้นรูปทรงต่างๆ ด้วยฉลุ ตามไอเดียที่ได้ออกแบบไว้ อาทิ โคมไฟต้นมะพร้าว โคมไฟรูปทรงสัตว์ชนิดต่างๆ พวงกุญแจ เป็นต้น"

ด้วยความประณีต และความพิถีพิถัน ที่ต้องการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน และให้กลายเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์จากกะลาทุกชิ้นที่บ้านรักกะลาแห่งนี้ จึงมีความคงทน สวยงาม และไม่หลุดง่าย ด้วยมาตรฐานและคุณภาพที่ได้ถูกการันตี ทำให้เป็นที่สนใจ กลายเป็นที่ยอมรับของนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างชาติ อย่างกว้างขวาง สร้างรายได้ให้เป็นอย่างนี้ให้กับกลุ่มสมาชิกในชุมชนแห่งนี้

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์จากบ้านรักกะลา มีให้เลือกหลากหลายกว่า 20 ชนิด ไม่ว่าจะเป็น โคมไฟรูปทรงต่างๆ สร้อยคอ กำไลข้อมือ เข็มขัด ออมสินรูปช้าง กระเป๋าใส่เหรียญ พวงกุญแจ เรือสำเภาขนาดเล็ก โมบายตกแต่งห้อง หรือแม้แต่ของใช้อื่นๆ ที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง การออกแบบจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อส่งเสริมให้มีผลงานออกมาในรูปแบบต่างๆ และมีความหลากหลาย ให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อ เลือกชมกันได้อย่างเต็มที่ โดย ราคาก็เริ่มจาก 5 บาท ไปจนถึง 1200 บาท เหมาะอย่างยิ่งที่จะซื้อหาเพื่อเป็นของฝากหรือของที่ระลึกได้เป็นอย่างดี

บ้านรักกะลา ถือเป็นชุมชนต้นแบบ ที่ได้มีการนำเอาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ภายในชุมชน ซึ่งเป็นเครื่องช่วยผลักดันและส่งเสริมให้คนในชุมชนมีรายได้และอาชีพเสริมอีกด้วย

...ก็อย่างว่า กะลา เป็นอะไรได้มากกว่าที่คุณคิด



โดย : ศิวนาถ เสนาประทุม
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ Life Style : Life
วันที่ 23 มีนาคม 2553

Views: 3475

Reply to This

Replies to This Discussion

สวยไปเลย...กะลา ^ ^
เยี่ยมมากเลยค่ะ
สวย มาก ครับ
ต่อไปนี้คงว่าใครว่า กะโหลกกะลา ไม่ได้เเล้ว เพราะมันมีค่ามากกว่าจะเอามาด่าหรือว่าใคร ฮาๆๆๆๆ

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service